รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2563

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 27, 2020 16:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--กระทรวงการคลัง “เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2563 มีสัญญาณที่ดีขึ้นจากภาคการส่งออกสินค้า และการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน โดยเฉพาะปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่และรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวต่อเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัว ในด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมมีสัญญาณชะลอตัว ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ควรต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019 : COVID-19) ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม 2563” นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2563 พบว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2563 มีสัญญาณที่ดีขึ้นจากภาคการส่งออกสินค้า การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน โดยเฉพาะปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์ จดทะเบียนใหม่และรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวต่อเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัว ในด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมมีสัญญาณชะลอตัว ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ควรต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019 : COVID-19) ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม 2563” โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนในภาพรวมยังคงขยายตัว โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งกลับมาขยายตัวเป็นบวกในรอบ 6 เดือนที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี หรือขยายตัวร้อยละ 37.1 จากเดือนก่อนหน้าเมื่อขจัดผลทางฤดูลกาลแล้ว สอดคล้องกับปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ -2.0 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -17.3 ต่อปี อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่จัดเก็บบนฐานการใช้จ่ายในประเทศขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 54.9 เป็นผลมาจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019 : COVID-19) จากประเทศจีนที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลกระทบการส่งออก เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ชะลอตัวร้อยละ -13.6 ต่อปี และการลงทุนในหมวดก่อสร้างที่สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ชะลอตัวร้อยละ -5.0 ต่อปี เช่นเดียวกันกับยอดการจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวร้อยละ -17.4 ต่อปี สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างชะลอตัวที่ร้อยละ -1.7 ต่อปี โดยมีสาเหตุมาจากราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กปรับตัวลดลง เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศขยายตัว สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ กลับมาขยายตัวร้อยละ 3.4 ต่อปี ตามการขยายตัวของการส่งออกสินค้าในหมวดแร่และเชื้อเพลิง เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเกษตร ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าในหมวดเกษตรกรรม และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ชะลอลงจากเดือนก่อน นอกจากนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทย อาทิ ตลาดสหรัฐฯและจีนยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 9.9 และ 5.2 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการส่งออกไปอาเซียน 5 ประเทศที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 3.8 ต่อปี อย่างไรก็ดี การส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย ฮ่องกง และแอฟริกายังคงชะลอตัว ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้า ในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวที่ร้อยละ -7.9 ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้า ในเดือนมกราคม 2563 ขาดดุล 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน พบว่า ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัว อย่างไรก็ดี ภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมส่งสัญญาณชะลอตัว โดยภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวน 3.81 ล้านคน หรือขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อปี ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนเทศกาลตรุษจีนในช่วงเดือนมกราคม 2563 ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย ไต้หวัน และฮ่องกง อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวเริ่มได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019 : COVID-19) ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวจีนหดตัวลง -3.7 ต่อปี ในขณะที่ภาคการเกษตรสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรชะลอตัวร้อยละ -2.2 ต่อปี จากการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลเป็นสำคัญ สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมที่สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัวร้อยละ -4.6 ต่อปี จากการลดลงของการผลิตในหมวดยานยนต์ และเฟอร์นิเจอร์ ส่วน ผลผลิตอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัว ได้แก่ แอร์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่รดับ 92.2 ตามการเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมที่ผลิตเกี่ยวกับสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องมือแพทย์ ยา และเคมีเพื่อการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ เป็นต้น เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 41.2 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2563 อยู่ในระดับสูงที่ 230.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ