คณะแพทย์ฯ มข. สุดเจ๋ง คิดค้นนวัตกรรมตรวจโรคพยาธิใบไม้ในตับ – พยาธิเส้นด้าย แบบรวดเร็วชุดแรกของโลก ง่าย เร็ว เหมือนชุดตรวจครรภ์

ข่าวทั่วไป Tuesday March 3, 2020 11:41 —ThaiPR.net

คณะแพทย์ฯ มข. สุดเจ๋ง คิดค้นนวัตกรรมตรวจโรคพยาธิใบไม้ในตับ – พยาธิเส้นด้าย แบบรวดเร็วชุดแรกของโลก ง่าย เร็ว เหมือนชุดตรวจครรภ์ กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--สกสว. มข. จับมือ สกสว. ร่วมยินดีนักวิจัยคณะแพทย์ฯ มข. คิดค้นชุดตรวจโรคพยาธิใบไม้ในตับ - พยาธิเส้นด้ายแบบรวดเร็วชุดแรกของโลก ง่าย เร็ว เหมือนชุดตรวจครรภ์ ประหยัดงบ ประหยัดเวลา ไม่ต้องรอผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัขอนแก่น และ ศาสตราจารย์นายแพทย์ สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นประธานการประชุมวิชาการเชิงปฏิบัติการ สร้างนวัตกรรมอุทิศต่อสังคม : “ชุดทดสอบโรคพยาธิใบไม้ตับและโรคพยาธิเส้นด้ายในคนแบบรวดเร็ว ช่วยผู้ป่วยให้รอดชีวิต” ณห้องประชุมสารสิน ตึกสิริคุณากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดนวัตกรรม “ชุดทดสอบโรคพยาธิใบไม้ตับและชุดทดสอบโรคพยาธิเส้นด้ายแบบรวดเร็ว” ให้กับบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะนักเทคนิคการแพทย์ ที่จะนำชุดทดสอบโรคฯ ดังกล่าวไปใช้ใน รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจน นักศึกษา อาจารย์ นักวิจัย นำไปใช้ประโยชน์ ศาสตราจารย์ ดร.วันชัย มาลีวงษ์ นักวิจัยจากภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น เมธีวิจัยอาวุโส สกว. เปิดเผยข้อมูลว่า ชุดทดสอบโรคพยาธิใบไม้ตับและโรคพยาธิเส้นด้ายแบบรวดเร็ว เป็นนวัตกรรมจากโครงการวิจัย “เครือข่ายบูรณาการองค์ความรู้พื้นฐานและประยุกต์ใช้ของปรสิตและเวกเตอร์ สำหรับผลิตนวัตกรรมต้นแบบที่นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการใช้ประโยชน์ทางสังคม” ซึ่งได้รับการสนับสนุนภายใต้ทุน “ทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สกสว.” จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่นและ สกสว. การคิดค้นครั้งนี้ มีที่มาจากในแต่ละปีโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เป็นปัญหาคร่าชีวิตคนไทยโดยเฉพาะชาวอีสานอัตราสูงสุดของโลก มีประชากรอีสานที่เสียชีวิตจากมะเร็งท่อน้ำดี ปีละกว่าสองหมื่นคน จำนวนกว่า 6 ล้านคน ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ จากการบริโภคอาหารโดยเฉพาะก้อยปลาที่มีระยะติดต่อของพยาธิใบไม้ การติดพยาธิซ้ำหลายครั้งร่วมกับปัจจัยก่อมะเร็งอื่น ทำให้เกิดการอักเสบของท่อน้ำดีจนเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี ที่ผ่านมารัฐต้องสูญเสียงบประมาณไปกับการรักษาพยาบาลจำนวนมาก ในขั้นตอนการตรวจคัดกรองเพื่อติดตามหาผู้ติดเชื้อพยาธิ โดยการตรวจอุจจาระ ต้องใช้บุคลากรนักปรสิตที่น่าเชื่อถือและใช้เวลานานต้องการ และในรายที่ติดเชื้อเรื้อรังไม่สามารถตรวจพบไข่พยาธิในอุจจาระได้ นอกจากนี้การตรวจคัดกรองด้วยอัลตร้าซาวน์ตับในบุคคลกลุ่มเสี่ยงก็มีค่าใช้จ่ายสูง ชุดทดสอบโรคพยาธิใบไม้ตับในคนนี้ ผลิตด้วยมาตรฐาน ISO 13485 ถือเป็น นวัตกรรมชุดทดสอบแบบรวดเร็วที่ทันสมัยชุดแรกของโลก ใช้วินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ตับทั้งชนิดโอพิสทอร์คิส วิเวอรินี่ ที่พบในคนไทย และชนิดคลอนอร์คิส ไซเนนสิส ที่พบในจีน เกาหลี และเวียดนาม ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า “แลทเทอรัลโฟลว์” (Lateral flow) คล้ายชุดตรวจการตั้งครรภ์ ที่ใช้ตรวจหาแอนติบอดีในน้ำเลือด (ซีรั่ม) ของคน ซึ่งใช้งานง่าย สะดวก อ่านผลด้วยตาเปล่า ณ จุดทดสอบ ไม่ต้องอาศัยเครื่องมือราคาแพง บุคลากรในห้องปฏิบัติการทั่วไปสามารถใช้ชุดทดสอบได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ในส่วนของการคิดค้นชุดทดสอบโรคพยาธิเส้นด้าย เกิดจากในประเทศไทยพบผู้ป่วย “โรคพยาธิเส้นด้าย” หรือ “โรคพยาธิสตรองจิลอยด์ในคน” (พยาธิตัวกลมขนาดเล็กในลำไส้คน) จำนวนมากในทุกภาคของไทย บางพื้นที่พบความชุกสูงถึง 60% โดยผู้ป่วยจะมีอาการท้องร่วงเรื้อรัง ดูดซึมสารอาหารผิดปกติ ร่างกาย ขาดสารอาหารที่จำเป็น เกิดภาวะทุโภชนาการ ข้อควรระวังของโรคพยาธิเส้นด้ายคือ ในรายที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ เช่นเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เป็นโรคทางภูมิคุ้มกันหรือกินยาชุดแก้ปวดเมื่อยที่มีสเตียรอยด์เป็นประจำ หากวินิจฉัยไม่ได้ จะทำให้ติดเชื้อรุนแรงนอกลำไส้ เกิดภาวะแทรกซ้อนจนเสียชีวิตได้ กรณีผู้ป่วยได้รับยาฆ่าพยาธิแต่ ไม่หายขาดหรือตรวจอุจจาระไม่พบ แพทย์สามารถใช้ชุดทดสอบนี้เพื่อเพิ่มความมั่นใจ ก่อนรักษาด้วยยากลุ่มสเตียรอยด์ได้ชุดทดสอบนี้ผลิตด้วยมาตรฐาน ISO 9001 (2015) และ ISO 13485 ในประเทศไทย ด้วยเทคนิคที่ “แลทเทอรัลโฟลว์” คล้ายชุดตรวจการตั้งครรภ์ อ่านผลด้วยตาเปล่า ได้ภายใน 15 นาที ปัจจุบันถือเป็นชุดทดสอบรวดเร็วโรคพยาธิเส้นด้ายชุดแรกของโลก เช่นเดียวกับชุดทดสอบโรคพยาธิใบไม้ตับทั้ง 2 ผลงานนี้ ถือเป็นความสำเร็จในการผลิตนวัตกรรมชุดทดสอบ เพื่อวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ตับและโรคพยาธิเส้นด้าย ที่สามารถนำไปใช้ช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องแม่นยำ มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ ในวารสารระดับนานาชาติรับรอง ที่ผ่านมาได้มีการนำไปใช้ในห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลในชนบทของประเทศไทยและประเทศภูมิภาคลุ่มน้ำโขงแล้ว โดยปัจจุบันบริษัทเคสเทรล ไบโอไซเอ็นซ์ (ประเทศไทย) ได้รับสิทธิ์จาก สกสว. และมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ