วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม พัฒนานวัตกรรมระบบฆ่าเชื้อในรถยนต์ “STC O3G” เพื่อลดการระบาดของไวรัสฯ

ข่าวทั่วไป Monday March 9, 2020 15:31 —ThaiPR.net

วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม พัฒนานวัตกรรมระบบฆ่าเชื้อในรถยนต์ “STC O3G” เพื่อลดการระบาดของไวรัสฯ กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19 มีการแพร่ระบาดไปทั่วโลกสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนและส่งผลเสียต่อสภาวะเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามมีความตระหนักถึงผลกระทบของเหตุการณ์ดังกล่าวและมีการวางระบบมาตรการต่างๆเพื่อสุขอนามัยของบุคลากร นักศึกษา ตลอดจนประชาชนในพื้นที่เขตบางกอกใหญ่ โดย ผศ.พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช อธิการบดี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ได้มอบหมายให้คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี เร่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยรับมือกับปัญหาและสถานการณ์การระบาดของไวรัสดังกล่าว ซึ่งทางคณาจารย์และนักวิจัยของสถาบันจึงได้พัฒนาเครื่องกำเนิดโอโซนสำหรับการฆ่าเชื้อในรถยนต์ STC O3G ขึ้น โดยได้ศึกษาคุณสมบัติในการกำจัดเชื้อโรคต่างๆของโอโซนและปริมาณที่เหมาะสมในการฆ่าเชื้อ โดยได้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโอโซนให้มีความเข้มข้นสูงขึ้น ทั้งนี้เพื่อใช้ในการฆ่าเชื้อในรถยนต์ โดยใช้เวลาในการทำงานเพียง 10 นาทีต่อคัน (ขึ้นอยู่กับขนาดของรถยนต์) สำหรับต้นแบบจะมีการให้บริการกับบุคลากรและนักศึกษาในวิทยาลัยรวมถึงประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง และในขณะนี้กำลังมีการพัฒนาต่อยอดเพื่อเป็นจุดให้บริการสำหรับรถยนต์สาธารณะในพื้นที่เขตบางกอกใหญ่ต่อไป ในเร็วๆนี้ โอโซน (Ozone, O3) เป็นแก๊สที่เกิดจากการจับตัวกันของออกซิเจนจำนวน 3 อะตอม มีคุณลักษณะที่ไม่เสถียรและมีปฏิกริยาออกซิไดซ์รุนแรงมาก โดยผลกระทบจากปฏิกิริยาดังกล่าวสามารถทำลายเซลล์ของเชื้อและจุลชีพอย่างไวรัส และ/หรือ แบคทีเรียได้อย่างเฉียบพลัน จึงมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อ และกำจัดกลิ่น โดยมีผลงานวิจัยรองรับถึงประสิทธิภาพของโอโซนที่ความเข้มข้น 2.5 ppm สามารถฆ่าเชื้อได้ถึง 93.1% [1] เครื่องกำเนิดโอโซนสำหรับการฆ่าเชื้อในรถยนต์ STC O3G ใช้แหล่งพลังงาน 12V จากรถยนต์ โดยมีความต้องการกำลังไฟฟ้าประมาณ 100W เพื่อแปลงเป็นไฟฟ้าที่ศักย์ไฟฟ้าสูงและบังคับให้เกิดปรากฏการณ์โคโรนา (Corona Discharge) ที่ความถี่ 16kHz ซึ่งสามารถกำเนิดโอโซนได้ในปริมาณ 160 มิลลิกรัมต่อนาที อย่างไรก็ตามสำหรับการทดสอบทางคลินิกสำหรับระยะเวลาในการทำลายเชื้อ COVID-19 จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต อ้างอิงKenneth K. K. LAM, 2005, “Ozone Disinfection of SARS-Contaiminated Areas” [Online]. available: https://www.ozonetech.com/sites/default/files2/pdf/Ozone_disinfection_of_SARS_Contaminated_Areas.pdf

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ