กทม.บูรณาการความร่วมมือแก้ไขพื้นที่เสี่ยงอาชญากรรมของเด็กและเยาวชน

ข่าวทั่วไป Thursday March 12, 2020 13:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์ นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. กรณีสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เสนอแนะ กทม. ควรจัดทำนโยบายบูรณาการแก้ไขและปรับภูมิทัศน์ในแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสม พร้อมกำหนดนโยบายตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการทุกประเภทที่อาจมีส่วนสนับสนุนการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนว่า ที่ผ่านมา สำนักเทศกิจ ร่วมกับสำนักงานเขตจัดทำโครงการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของ ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยตรวจสอบ เฝ้าระวัง และเสริมสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ประชาชน รวมทั้งเด็กและเยาวชน ซึ่งในพื้นที่ 50 เขต มีจุดตรวจพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม ที่รกร้างว่างเปล่า และจุดเปลี่ยว จำนวน 614 จุด โดยบูรณาการร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร (กอ.รมน.กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนลงพื้นที่ตรวจกล้องวงจรปิด (CCTV) ที่ติดตั้งในพื้นที่เสี่ยงภัยให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตามปกติ หากพบกล้องชำรุดหรือใช้งานไม่ได้ จะประสานแจ้งสำนักการจราจรและขนส่งหรือผู้ดูแลรับผิดชอบเข้าซ่อมแซมทันที ขณะเดียวกันได้จัดชุดสายตรวจเทศกิจลงพื้นที่ตรวจตราในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดกับกลุ่มเด็กและเยาวชนในชุมชนและในสถานศึกษาอย่างสม่ำเสมอ ด้าน นายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า สำนักอนามัยได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรมการปกครอง กรมสรรพสามิต กองบัญชาการตำรวจนครบาล กรมกิจการเด็กและเยาวชน และกรมควบคุมโรค ร่วมตรวจสอบสถานที่ต่าง ๆ ได้แก่ สถานบันเทิง ร้านอินเตอร์เน็ต ร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากพบการกระทำความผิด แต่ละหน่วยงานจะดำเนินการตามกฎหมาย รวมทั้งติดตามควบคุมพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนไม่ให้กระทำผิดซ้ำ ขณะเดียวกัน กทม. ได้จัดทำแนวเขตพื้นที่ (Zoning) บริเวณใกล้เคียงสถานศึกษาหรือหอพักบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา ให้เป็นสถานที่ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเด็กและเยาวชน จำนวน 1,026 โซน นอกจากนั้น ยังได้เฝ้าระวังภัยยาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน ร่วมกันระหว่างกองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และภาคประชาชน ได้แก่ อาสาสมัครกรุงเทพมหานครเฝ้าระวังภัยและยาเสพติด อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร อาสาสมัครในสถานศึกษา จักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะในโครงการนักสืบตาสับปะรด คณะกรรมการชุมชน แกนนำเด็กและเยาวชนในโรงเรียน เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ตระหนักถึงโทษและพิษภัยของยาเสพติดด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ