“สมศ.” เปิดเวทีฟังข้อเสนอพัฒนากรอบการประเมินฯ รอบห้า ต่อยอด “กัลยาณมิตรประเมิน” เพื่อสะท้อนผลสู่การพัฒนาสถานศึกษาต่อไป

ข่าวทั่วไป Friday March 20, 2020 12:49 —ThaiPR.net

“สมศ.” เปิดเวทีฟังข้อเสนอพัฒนากรอบการประเมินฯ รอบห้า  ต่อยอด “กัลยาณมิตรประเมิน” เพื่อสะท้อนผลสู่การพัฒนาสถานศึกษาต่อไป กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาหรือ สมศ. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อพัฒนากรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอก รอบห้า โดยมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งการศึกษาปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน และการอาชีวศึกษา โดยความคิดเห็นส่วนใหญ่ต้องการให้การประเมินคุณภาพภายนอกมีความยืดหยุ่น เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของการศึกษา สถานศึกษาทุกแห่งควรได้รับการประเมินคุณภาพภายนอก 1 ครั้งในทุก 5 ปี นอกจากนี้เสนอแนวคิดให้คงความเป็น “กัลยาณมิตร” ที่เน้นการพัฒนาสถานศึกษาและผู้เรียนเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม สมศ.จะสรุปผลการรับฟังที่ได้รับ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะกรรมการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาด้านการอาชีวศึกษา เพื่อการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพภายนอกรอบห้าต่อไป โดยสมศ.จะจัดให้มีประชาพิจารณ์อีกครั้งภายหลังจากได้กรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกรอบห้าแล้ว นางสาวขนิษฐา ตั้งวรสิทธิชัย รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. กล่าวว่า สมศ.ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วประเทศทั้ง 4 ภูมิภาค ได้แก่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง เพื่อพัฒนากรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกรอบห้า ทั้งการศึกษาปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน และการอาชีวศึกษา ทั้งนี้จากการสรุปความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย กับการพัฒนากรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกรอบห้า พบว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการประเมินคุณภาพภายนอกว่าควรสอดคล้องกับมาตรฐานการประกันคุณภาพภายใน โดยเน้นการประเมินเพื่อพัฒนาและรักษาคุณภาพการจัดการศึกษา และประเมินจากหลักฐานเชิงประจักษ์ ผ่านสมรรถนะของผู้เรียนเป็นหลักมากกว่าการประเมินผ่านเอกสาร โดยแนวทางดังกล่าวถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของระบบการประเมินภายนอก ซึ่งเป็นแนวทางที่ สมศ. ได้ดำเนินการมาตั้งแต่การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (พ.ศ.2559 – พ.ศ.2563) นอกจากนี้ความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาควรเน้นการพัฒนาการศึกษาเป็นหลัก และสถานศึกษาทุกแห่งต้องได้รับการประเมิน รวมถึงคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และบริบทของสถานศึกษา อีกทั้งจะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด หลักการ กรอบแนวทาง วิธีการประเมิน หลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้การตัดสินผลการประเมินชัดเจน ลดความสับสน และลดข้อขัดแย้งต่างๆ อย่างไรก็ตามการประเมินคุณภาพภายนอกจำเป็นที่จะต้องอ้างอิงมาตรฐานสากล เพื่อให้ระบบการศึกษาของไทยมีมาตรฐานทัดเทียมกับต่างประเทศ ด้านการประเมินระดับนานาชาติเห็นว่าควรจะไปไปตามความพร้อมและความสมัครใจของสถานศึกษาแต่ละแห่ง ซึ่งการประเมินในระดับนานาชาติไม่ควรจะบังคับให้สถานศึกษาทุกแห่งเข้ารับการประเมิน นางสาวขนิษฐา กล่าวต่อว่าอย่างไรก็ตามแนวการประเมินโดยภาพรวมต้องประเมินแบบกัลยาณมิตร เพื่อการพัฒนา โดยไม่มีการตัดสินผลว่าสถานศึกษาจะการประเมินผ่านเกณฑ์หรือไม่ผ่านเกณฑ์ แต่จุดเด่นคือการให้คำแนะนำและชี้ให้เห็นว่าสถานศึกษาควรจะพัฒนาไปในทิศทางใด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสถานศึกษาและผู้เรียนเป็นหลัก รวมทั้งจะมีการติดตามผลการดำเนินงานของสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สมศ. มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนการประเมินคุณภาพภายนอก โดยให้สถานศึกษาสามารถเลือกระดับการประเมินตามศักยภาพของสถานศึกษาแต่ละแห่ง โดยเฉพาะการประเมินในระดับนานาชาติ อย่างไรก็ตามการประชุมรับฟังความเห็นในครั้งนี้เป็นเพียงหลักการและแนวคิดแบบกว้างๆ เท่านั้น ทั้งนี้สมศ. จะสรุปข้อคิดเห็นเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะกรรมการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาด้านการอาชีวศึกษา เพื่อการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพภายนอกรอบห้าต่อไป ซึ่งเมื่อได้กรอบแนวทางแล้ว จะมีการจัดประชุมประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกครั้ง สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 0-2216-3955 หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ