ไททาชี้ 'เกษตรกรรม’ หนทางรอดวิกฤตเศรษฐกิจ COVD-19 สู่การพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Monday March 30, 2020 15:34 —ThaiPR.net

ไททาชี้ 'เกษตรกรรม’ หนทางรอดวิกฤตเศรษฐกิจ COVD-19 สู่การพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--มีเดีย พลัส คอนเนคชั่น การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่กำลังขยายวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม มาตรการยับยั้งการระบาดของโรคโดยการปิดสถานที่ที่มีประชากรหนาแน่น เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด รวมไปถึงสถานบริการต่างๆทั่วทั้งกรุงเทพและปริมณฑล ส่งผลให้ลูกจ้าง-แรงงานจำนวนมากต้องเผชิญสถานการณ์การว่างงาน หลายคนตัดสินใจเดินทางกลับภูมิลำเนา ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่คนพากันกักตุนอาหารจนอาจนำไปสู่ภาวะขาดแคลนอาหารขึ้นได้ 'เกษตรกรรม’ ต้นสายแห่งการผลิต 'อาหาร’ อันเป็นปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ กลายเป็นหนทางรอดของกลุ่มแรงงานกลับภูมิลำเนาที่จะช่วยให้ผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ไปได้ ดร.วรณิกา นาควัชระ บีดิงเฮาส์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมฯ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย หรือ ไททา (TAITA) กล่าวว่า “อยากให้มองวิกฤติการระบาดของไวรัสโคโรน่าอีกมุมมองหนึ่งว่านี่เป็นโอกาส สำหรับแรงงานที่มีความจำเป็นต้องกลับภูมิลำเนา ดิฉันเชื่อว่าชีวิตคนต่างจังหวัดมีโอกาสมากกว่าคนในเมืองทั้งในแง่ของพื้นที่ ซึ่งที่อยู่อาศัยคนในกรุงเทพฯเป็นคอนโดเสียส่วนใหญ่ ที่ดินเหลือเปล่ามีจำกัด ในขณะที่คนในต่างจังหวัดจะมีพื้นที่ในบ้านเพียงพอที่จะเพาะปลูกพืชผักเพื่อบริโภคในครัวเรือนได้ หรืออาจมีเพียงพอที่จะเจียดผลผลิตส่วนหนึ่งออกขาย สร้างรายได้เพื่อนำมาใช้จ่ายจิปาถะในครัวเรือนได้ด้วย นอกจากนี้การเข้าถึงปัจจัยการผลิตทางการเกษตรในต่างจังหวัดก็ง่ายกว่าในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และปัจจัยการผลิตอื่นๆ สำหรับแรงงานที่มีความจำเป็นต้องกลับภูมิลำเนาที่อาจไม่ได้มีพื้นที่ หรือทรัพยากรในการลงทุนมากนัก การทำ 'เกษตรผสมผสาน’ เป็นตัวเลือกที่จะทำให้ได้ผลผลิตที่หลากหลาย จึงสามารถลดความเสี่ยงให้มีผลผลิตบริโภคและเหลือขาย นอกจากนี้การคิดและวางแผนให้กิจกรรมทางการเกษตรต่างๆเกื้อกูลประโยชน์ต่อกัน ยังสามารถลดค่าใช้จ่าย และลดการใช้ปัจจัยการผลิตภายนอก ทำให้เราสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริงวิกฤตครั้งทำให้เราต้องหันกลับมามองตัวเองว่า เราควรมีแผนสองในการดำรงชีวิตเสมอ และควรยึดหลักการอยู่อย่างพอเพียงตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จะช่วยให้เราสามารถผ่านวิกฤตไปได้อย่างดีมีสุข ดังนั้นการเริ่มต้นจากการหันมาปลูกพืชผักในยามนี้ จะเป็นทางออกที่ทำได้โดยง่ายและยั่งยืน” องค์ความรู้และนวัตกรรมการเกษตร ตัวช่วยเกษตรกรยุคใหม่ การทำการเกษตรให้ประสบความสำเร็จ ได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพนั้นเกษตรกรในยุคก่อนอาจต้องใช้เวลาและประสบการณ์มากในการลองผิดลองถูก เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ และหาทางแก้ปัญหาต่างๆไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งหรือโรคระบาด แต่ในปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาวิจัยและพัฒนาตัวช่วยที่จะทำให้เกษตรกรสามารถผลิตผลิตผลทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น “องค์ความรู้และนวัตกรรมทางการเกษตรจะเข้ามาช่วยลดต้นทุนการผลิตและอำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรในขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การปรับปรุงพันธุ์พืช คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ ไปจนถึงการพัฒนาสารอารักขาพืช เพื่อลดความสูญเสียทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ คุ้มค่าการลงทุน ไม่ว่าจะเป็น นวัตกรรมสารเคลือบเมล็ดพันธุ์ที่ช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์การงอก ทั้งยังช่วยให้พืชมีความแข็งแรงทนทานต่อโรคและศัตรูพืช สามารถลดการใช้สารเคมีและลดการใช้แรงงาน จึงช่วยเกษตรกรลดค่าใช้จ่ายในการดูแลได้มาก หรือการพัฒนาสารอารักขาพืชให้ตอบสนองเรื่องความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม เกษตรกรจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการใช้สารอารักขาพืชอย่างถูกต้อง ในปริมาณที่เหมาะสม” การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เพิ่มมูลค่า สร้างความยั่งยืน แต่เดิมเกษตรกรไทยเน้นปลูกให้ได้ปริมาณเยอะ แต่กลับได้รายได้น้อยในขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับคุณภาพมากขึ้น เกษตรกรยุคใหม่ต้องเปลี่ยนความคิดมาเน้นที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ และคำนึงถึงความปลอดภัยในการบริโภค กรมวิชาการเกษตรจึงได้มีการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ จี เอ พี (GAP) ซึ่งเป็นโมเดลที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรไทย ด้วยการกำหนดแนวทางในการทำการเกษตรที่ทุกกระบวนการผลิตจะต้องปลอดภัยต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผลิตผลทางการเกษตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าเป็นสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและ ปลอดภัย จึงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต ในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความยั่งยืนทางการเกษตร สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมไทยด้วย แนะนำเกษตรกรมือใหม่ ศึกษา-วางแผนให้ดีก่อนลงมือ ดร.วรณิกา แนะนำว่า ให้ศึกษาหาข้อมูลและวางแผนให้ดีก่อนลงมือทำ ต้องทำความรู้จักพื้นที่ของตนทั้งดิน น้ำ และสภาพภูมิอากาศ เพื่อจะสามารถเลือกพันธุ์พืชที่เหมาะสมได้ ควรเริ่มต้นจากการปลูกพืชระยะสั้น เน้นไว้ทำครัวในบ้าน เหลือจึงนำออกขายสร้างรายได้ เช่น ผักกาดหอม ต้นอ่อนทานตะวัน กวางตุ้ง เป็นต้น แล้วจึงค่อยเลือกปลูกพืชที่ใช้ระยะเวลายาวนานขึ้นควบคู่ไปด้วย เน้นให้ผลผลิตออกในช่วงที่ราคาสูง เช่น ขายมะนาวช่วงหน้าแล้ง การปลูกพืชผักจำเป็นต้องมีการเตรียมดินให้อุดมสมบูรณ์ มีสารอาหารครบตามที่พืชต้องการ จึงควรบำรุงดินด้วยปุ๋ยวิทยาศาสตร์ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ อีกขั้นตอนที่ต้องใส่ใจมากคือการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณภาพและปริมาณผลผลิต ควรเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ตระกูลดี ทนทานต่อโรคและศัตรูพืชและควรทดสอบเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูก เพื่อดูปริมาณความงอก จะได้ไม่ต้องเสี่ยงลงทุนลงแรง และเสียเวลาไปโดยได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า “เกษตรกรรมเป็นรากฐานของสังคมไทยมาช้านาน หากเราหันกลับมาพัฒนาการเกษตรไทยให้ก้าวหน้า โดยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วย จะทำให้เกษตรกรไทยสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน สมาคมฯนวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย (TAITA) พร้อมที่จะนำองค์ความรู้และนวัตกรรมทางการเกษตรจากการศึกษาค้นคว้าและงานวิจัยต่างๆ มาเผยแพร่ รวมไปถึงจัดอบรมถ่ายทอดให้กับเกษตรกร และผู้ที่สนใจหันมาทำการเกษตร เพื่อสร้างรายได้ ให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจนี้ไปได้ พัฒนาสู่การเป็นอาชีพที่มั่นคงในระยะยาว โดยมีเป้าหมายในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและยกระดับเกษตรกรรมไทย ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล” ดร.วรณิกา กล่าว สามารถติดตามข่าวสารความรู้การเกษตรเพิ่มเติมจากสมาคมฯนวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย (TAITA) ได้ทาง Facebook Fanpage : สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย - TAITA
แท็ก เกษตรกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ