วธ. ออกประกาศแนวทางปฏิบัติฯ เทศกาล-ประเพณี-พิธีทางศาสนา งานบุญ-งานแต่ง-งานศพ ป้องกันโควิด-๑๙

ข่าวทั่วไป Friday April 3, 2020 11:20 —ThaiPR.net

วธ. ออกประกาศแนวทางปฏิบัติฯ เทศกาล-ประเพณี-พิธีทางศาสนา งานบุญ-งานแต่ง-งานศพ ป้องกันโควิด-๑๙ กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ออกข้อควรปฏิบัติในการจัดงานบรรพชาอุปสมบท งานมงคลสมรส และงานฌาปนกิจศพ ในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) นั้น ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ในปัจจุบัน กระทรวงวัฒนธรรมจึงออกประกาศ เรื่อง แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับเทศกาล ประเพณี พิธีทางศาสนา และพิธีการต่างๆ กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยง รวมทั้ง ควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวในกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนหมู่มาก โดยมีเนื้อหาประกอบด้วย ๑. งดหรือเลื่อนการจัดงานเทศกาล ประเพณี พิธีทางศาสนา และพิธีการต่างๆ ที่เป็นการรวมตัวของคนจำนวนมาก ๒. กรณีที่มีความจำเป็นไม่สามารถงดหรือเลื่อนการจัดงานนั้นๆ ได้ ให้ปฏิบัติตามแนวทาง ดังนี้ ๒.๑ ให้ปฏิบัติโดยไม่ขัดต่อประกาศ คำสั่ง และข้อกำหนด ได้แก่ ประกาศ คำสั่ง และข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ พร้อมทั้งมาตรการที่รัฐบาล และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กำหนด รวมทั้งประกาศ หรือคำสั่งที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และประกาศ หรือคำสั่งที่ออกโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด อีกทั้งประกาศขององค์การทางศาสนาที่ทางราชการให้การรับรอง หรือหน่วยงานของรัฐที่กำกับ ๒.๒ แนวทางการปฏิบัติทั่วไป สำหรับผู้จัดงาน ๑) ต้องแจ้งเจ้าพนักงานหรือหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคระดับหมู่บ้านหรือชุมชนที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายให้กำกับดูแลในพื้นที่ ๒) ต้องระบุข้อความบัตรเชิญร่วมงานว่า “ให้สวมใส่หน้ากากอนามัย รวมทั้งให้นำบัตรประชาชนหรือบัตรที่ทางราชการออกให้มาด้วย และหากมีอาการป่วย เป็นไข้ ไอ ให้งดการมาร่วมงานโดยเด็ดขาด”๓) ต้องจัดให้มีจุดคัดกรองและตรวจวัดไข้ผู้เข้าร่วมงาน หากตรวจพบผู้มีอุณหภูมิเกิน ๓๗.๕ องศา แนะนำให้ไปพบแพทย์โดยทันที ๔) ต้องจัดให้มีการลงทะเบียน หรือบันทึกชื่อ นามสกุล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ พร้อมทั้งบันทึกภาพผู้เข้าร่วมงาน ๕) ต้องจัดให้มีแอลกอฮอล์เจลบริเวณจุดทางเข้างาน ตลอดจนตามจุดต่างๆ รอบบริเวณงาน และสำรองหน้ากากอนามัยไว้ให้บริการ ๖) ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ และพื้นที่ในบริเวณการจัดงาน ที่ผู้เข้าร่วมงานต้องสัมผัสบ่อยๆ หรือใช้ร่วมกันเป็นจำนวนมาก รวมทั้งพื้นที่โดยรอบการจัดงาน ๗) ต้องใช้ระยะเวลาในการจัดงานให้สั้นที่สุด ๘) ต้องรีบแจ้งและจัดส่งรายชื่อผู้เข้าร่วมงานทั้งหมดต่อกระทรวงสาธารณสุขในทันที หากทราบภายหลังว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เข้าร่วมงาน ๙) งดจัดงานเลี้ยงทุกประเภท ๑๐) งดจัดให้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และ ๑๑) งดการแสดง ดนตรี มหรสพ หรือเต้นรำทุกชนิด นายอิทธิพล กล่าวว่า สำหรับแนวทางปฏิบัติผู้ร่วมงาน ๑) ต้องแต่งกายให้มิดชิดเตรียมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจล โดยต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในงาน ๒) ต้องเว้นระยะห่างการนั่งหรือยืนระหว่างบุคคล ไม่น้อยกว่า ๒ เมตร ๓) ต้องปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ด้วยแอลกอฮอล์เจล หรือด้วยน้ำสะอาดและสบู่เหลว ๔) ต้องทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจล หรือล้างน้ำและสบู่ทันทีหลังออกจากงาน รวมทั้งทำความสะอาดอุปกรณ์สื่อสารและของใช้ส่วนตัวที่พกติดตัวมาในงาน เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต ๕) ต้องอาบน้ำชำระล้างร่างกายและเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย โดยทันที เมื่อกลับถึงที่พัก ๖) งดเข้าร่วมงานหากมีอาการป่วย และให้รีบไปพบแพทย์ ๗) งดเข้าร่วมงาน หากตนเองเดินทางกลับจากต่างประเทศยังไม่ครบ ๑๔ วัน และ/หรือ สัมผัสกับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และ๘) งดคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ร่วมงานอื่นๆ ที่ไม่มีการป้องกันตนเอง หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ในขณะร่วมงาน ๒.๓ แนวทางการปฏิบัติเป็นการเฉพาะ ได้แก่ งานมงคลสมรส ต้องปฏิบัติตาม ข้อ ๒.๑ และ ๒.๒ ต้องจำกัดจำนวนคนรดน้ำสังข์ ให้น้อยที่สุด เช่น บิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ หรือแขกผู้ใหญ่เท่านั้น และต้องจัดแถวเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลไม่น้อยกว่า ๒ เมตร งดพิธีแห่ขันหมาก งดหรือเลื่อนจัดงานเลี้ยงฉลองทุกประเภท สำหรับงานพิธีการศพ ต้องปฏิบัติตาม ข้อ ๒.๑ และ ๒.๒ โดยลดจำนวนวันสวดพระอภิธรรมศพให้น้อยที่สุด และใช้เวลาสวดให้น้อยที่สุด ต้องจัดอาสนะสงฆ์ ให้มีระยะห่างระหว่างกันไม่น้อยกว่า ๑ – ๒ เมตร ต้องจัดเก้าอี้นั่งสำหรับแขกที่มาร่วมฟังสวดอภิธรรม หรือร่วมฌาปนกิจศพให้มีระยะห่างระหว่างกันไม่น้อยกว่า ๒ เมตร ต้องจำกัดจำนวนคนร่วมพิธีแห่ศพเวียนเมรุให้น้อยที่สุด และให้ตั้งแถวตอนลึก ต้องเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลไม่น้อยกว่า ๒ เมตร ต้องจัดแถวระยะห่างระหว่างผู้ขึ้นวางดอกไม้จันทน์ ไม่น้อยกว่า ๒ เมตร ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข หากเป็นกรณีผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และต้องปฏิบัติตามประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี หากเป็นกรณีศาสนาอิสลาม ส่วนศาสนาอื่นให้ปฏิบัติตามประกาศหรือคำแนะนำขององค์การทางศาสนานั้นๆ นอกจากนี้ วันสำคัญทางศาสนาหรืองานบุญ ควรงดการเข้าร่วมกิจกรรม ณ ศาสนสถาน โดยให้ใช้ช่องทางสื่อสารออนไลน์แทน เช่น การฟังธรรมะออนไลน์ งดการใช้มือหยิบข้าวใส่บาตรพระภิกษุ สำหรับเทศกาลไหว้บรรพบุรุษ (เช็งเม้ง) ให้งดการเดินทางไปกราบไหว้บรรพบุรุษ ณ สุสาน (ฮวงซุ้ย) โดยให้จัดพิธีกราบไหว้บรรพบุรุษ ที่บ้านแทน และงดการรวมญาติ นอกจากนี้เทศกาลประเพณีสงกรานต์ ๑) งดเว้นการจัดงานสงกรานต์ในทุกระดับ ๒)งดเว้นการเดินทางกลับภูมิลำเนา หากต้องการรดน้ำขอพรญาติผู้ใหญ่ หรือแสดงความกตัญญูกตเวที หรือแสดงความปรารถนาดีต่อกัน ควรใช้การสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์ หรือช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ๓) งดการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค โดยเด็ดขาด และ๔) เพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ ให้ปฏิบัติเฉพาะภายในครอบครัวเท่านั้น อาทิ สรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน รดน้ำขอพรญาติผู้ใหญ่ที่บ้านโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของญาติผู้ใหญ่ที่สูงอายุ และปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ประกาศฉบับดังกล่าวมีผลตั้งแต่ ๑ เมษายน ๒๕๖๓ เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง สอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ สายด่วนวัฒนธรรม ๑๗๖๕

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ