“บิ๊กป้อม” ประชุมเทเลคอนเฟอเรนซ์บอร์ดดีอี เร่งมาตรการฝ่าวิกฤติโควิด-19

ข่าวเทคโนโลยี Friday April 10, 2020 14:13 —ThaiPR.net

“บิ๊กป้อม” ประชุมเทเลคอนเฟอเรนซ์บอร์ดดีอี เร่งมาตรการฝ่าวิกฤติโควิด-19 กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บิ๊กป้อม ถกบอร์ดดีอี ผ่านเทเลคอนเฟอเรนซ์ วาระเร่งด่วนร่วมฟื้นฟูและเยียวยา เศรษฐกิจและสังคม จากสถานการณ์ระบาดไวรัสโควิด-19 พร้อมไฟเขียวจัดสรรเงินกองทุนดีอี หนุนภาครัฐและสาธารณสุข จัดหาเทคโนโลยีดิจิทัลสนับสนุนการทำงาน และจัดทำโครงการช่วยเหลือ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ วันนี้ (10 เมษายน 2563) พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเทเลคอนเฟอเรนซ์คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 2/2563 ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยมีวาระเร่งด่วนที่ต้องพิจารณาเพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ให้เร็วที่สุด พลเอกประวิตร เน้นย้ำว่า ภาครัฐกำลังเร่งพัฒนาทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และด้านการส่งเสริมและพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม และส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างแท้จริง เพื่อฝ่าฟันสถานการณ์ยากลำบากนี้ให้ได้เร็วที่สุด โดยจะมีการจัดทำนโยบายและแผนเฉพาะด้านให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และสามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาดิจิทัลของประเทศต่อไป นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ในวันนี้ได้นำเสนอรายงานต่อที่ประชุมเพื่อรับทราบเกี่ยวกับมาตรการสนับสนุนการใช้บริการด้านโทรคมนาคมเพื่อลดผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำเสนอต่อที่ประชุมครั้งที่ผ่านตามอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ที่จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน ตลอดจนส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นเครื่องมือ ทั้งนี้ มติ ครม. วันที่ 3 มีนาคม 2563 นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เร่งดำเนินการป้องกัน ควบคุม แก้ไขปัญหา และบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์นี้ กระทรวงดิจิทัลฯ โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของบอร์ดดีอี จึงได้จัดทำแนวทางการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) เพื่อสนับสนุนการดำเนินการเรื่องหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของกองทุนฯ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กำหนดผู้มีคุณสมบัติยื่นข้อเสนอโครงการต้องเป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ โรงพยาบาลรัฐ สถานพยาบาลภาครัฐ โรงพยาบาลในมหาวิทยาลัย และ โรงเรียนแพทย์ สภากาชาดไทยที่ได้รับผลกระทบหรือต้องการช่วยเหลือ สนับสนุน หรือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคนี้ สำหรับวงเงินกองทุนดีอี เพื่อช่วยเหลือ เยียวยาหรือฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในสถานการณ์ไวรัสโคโรน่าแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. สำหรับจัดหาเทคโนโลยี หรืออุปกรณ์ด้านดิจิทัลที่สนับสนุน ช่วยเหลืองานด้านสาธารณสุขและการรักษาสุขภาพของประชาชน เช่น เครื่องช่วยหายใจ หุ่นยนต์ทำความสะอาด หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรค กล้องวงจรปิด เครื่องรับส่งวิทยุมือถือ โดยให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ 2. สำหรับโครงการที่ช่วยเหลือ ฟื้นฟู หรือเยียวยาจากผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ “ไวรัสโคโรนา” ซึ่งโครงการที่ขอรับทุนจะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนดีอี ซึ่งมุ่งเน้นการป้องกัน ฟื้นฟู ช่วยเหลือ สนับสนุน หรือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล นางสาวอัจฉรินทร์ กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ยังรับทราบการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทดแทนที่ลาออก จำนวน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านสังคมศาสตร์ ด้านการศึกษาและพัฒนาการลังคน และด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อนำเสนอ ครม. พิจารณาแต่งตั้งต่อไป ขณะที่ วันนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบการแต่งตั้งกรรมการผู้คุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ พลเอกประวิตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การบริหารจัดการกองทุนดีอี ขอให้พิจารณาโครงการที่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างแท้จริง โดยเฉพาะโครงการที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการของภาครัฐ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล อีกทั้งกล่าวฝากให้นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดีอีเอส ช่วยเป็นหลักในการกำหนดทิศทางและผลักดันการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ