วว.แนะวิธีปลูกผักกูดขาย..เพิ่มรายได้ สู้วิกฤตโควิด-19

ข่าวทั่วไป Tuesday April 21, 2020 10:12 —ThaiPR.net

วว.แนะวิธีปลูกผักกูดขาย..เพิ่มรายได้ สู้วิกฤตโควิด-19 กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยสถานีวิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา ประสบความสำเร็จพัฒนาระบบการปลูกผักกูดในพื้นที่ร้อน/แล้ง แนะหากจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตสามารถปลูกได้ทุกภูมิภาคของประเทศไทย โชว์เคสตัวอย่างเกษตรกรสามารถปลูกผักกูดในพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา สร้างรายได้ ช่วยลดผลกระทบ สู้วิกฤตโควิด- 19 นายมนตรี แก้วดวง ผู้อำนวยการสถานีวิจัยลำตะคอง วว. เปิดเผยความสำเร็จในการพัฒนาระบบการปลูกผักกูดของสถานีวิจัยลำตะคอง วว. ว่า ผักกูด [Diplazium esculentum (Retz.) Swartz] เป็นพืชตระกูลเดียวกับเฟิร์น ลักษณะของต้นผักกูดจะขึ้นเป็นกอ สูงประมาณ 50-100 เซนติเมตร รากแตกฝอยเป็นกระจุกใหญ่ ก้านใบแตกจากเหง้าใต้ดิน ใบยาว 50-100 เซนติเมตร ส่วนของยอดอ่อนปลายยอดม้วนงอแบบก้อนหอยและมีขน การขยายพันธุ์โดยใช้สปอร์ที่สร้างขึ้นบริเวณด้านหลังใบ เมื่อสปอร์ปลิวไปตกบริเวณที่มีความชื้นก็จะแตกเป็นต้นใหม่ และขยายพันธุ์โดยใช้ต้นใหม่ที่เกิดจากส่วนเหง้าหรือรากฝอยของต้นแม่ เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่เป็นดินร่วนปนทราย ในสภาพมีความชื้นสูง แสงแดดไม่ร้อนจัดเกินไป คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าผักกูดจะต้องปลูกในพื้นที่มีฝนตกชุกและความชื้นค่อนข้างสูง อย่างภาคใต้และภาคตะวันออก แต่จากการศึกษาเพื่อพัฒนาระบบการปลูกผักกูดในพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พิสูจน์ให้เห็นว่า การปลูกผักกูดให้ได้ผลผลิตที่ดีต้องปลูกในสภาพแสงแดดรำไรและมีความชื้นสูง หากเราจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตก็สามารถปลูกได้ทุกภูมิภาคของประเทศไทย “สำหรับรูปแบบของการปลูกผักกูดสามารถทำได้ 2 วิธี คือการปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่น เพื่อช่วยในการพรางแสง เช่น การปลูกร่วมกับกล้วย หรือปลูกร่วมกับไม้ผลยืนต้น วิธีที่สองปลูกภายใต้ร่มเงาตาข่ายพรางแสงหรือสแลนที่สามารถพรางแสงได้ตั้งแต่ 50-60 เปอร์เซ็นต์ ระยะปลูกที่ใช้ระหว่างแถวและระหว่างต้น 50 เซนติเมตร การดูแลรักษาเน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นหลัก โดยใส่ประมาณ 1-2 กิโลกรัม/ต้น ใส่ทุกๆ 3 เดือน/ครั้ง ร่วมกับการพ่นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดน้ำ 1-2 ครั้ง/เดือน ในช่วงที่เริ่มเก็บผลผลิตแล้ว จะช่วยให้ได้ต้นมีการเจริญเติบโตและผลผลิตดีขึ้น หลังปลูกผักกูดประมาณ 6-8 เดือน จึงเริ่มเก็บผลผลิตได้ โดยเก็บส่วนยอดความยาว 25-30 เซนติเมตร ผลผลิตที่ได้เฉลี่ยประมาณ 200 กิโลกรัม/ไร่/เดือน นอกจากนี้ผักกูดไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน การปลูกจึงไม่มีการใช้สารเคมีเพื่อป้องกันกำจัดโรคและแมลง จึงเหมาะอย่างยิ่งในการผลิตเป็นพืชผักปลอดสารพิษ…” ผอ.สถานีวิจัยลำตะคองกล่าวเพิ่มเติม นายอาคม ทัศนะนาคะจิตต์ เกษตรกรในพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ตัวอย่างของเกษตรกรที่มีประสบการณ์ในการปลูกผักกูด กล่าวว่า สนใจและอยากที่จะปลูกผักกูดมานานแล้ว เพราะเป็นผักที่มีรสชาติอร่อย แต่หาซื้อรับประทานยาก หากไม่ใช่ช่วงฤดูกาลที่มีผลผลิตออกตามธรรมชาติ หรือพื้นที่ที่มีการปลูก จากการพูดคุยกับคนรู้จักและผู้ที่ชื่นชอบรับประทานผักเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักปลอดสารพิษ และจากการสืบค้นจากอินเตอร์เน็ต พบว่ามีงานวิจัยเกี่ยวกับการปลูกผักกูดที่สถานีวิจัยลำตะคอง วว. ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอปากช่อง เช่นกัน จึงได้ติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอคำแนะนำวิธีการปลูก จากนั้นจึงเริ่มต้นหาแหล่งต้นพันธุ์จากคนที่รู้จักซึ่งปลูกอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี นำมาปลูกในพื้นที่ข้างบ้านประมาณ 3 ไร่ โดยปลูกร่วมกับต้นมะเขือพวง ช่วงเดือนแรกที่ปลูกสังเกตว่าต้นกล้ามีอาการเหลือง ไม่เป็นสีเขียว จึงได้ปรึกษากับทางนักวิจัยของสถานีวิจัยลำตะคอง เพื่อเข้าไปดูแปลง ได้รับคำแนะนำว่าแปลงปลูกแสงแดดจัดเกินไป ควรที่จะมีการพลางแสงด้วยสแลนและรดน้ำให้ต้นได้รับความชื้นที่เหมาะสมจะทำให้ต้นโตดี จึงตัดสินใจซื้อวัสดุมาบางส่วนร่วมวัสดุที่มีอยู่แล้วทำเป็นโครงเพื่อขึงสแลน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าหลังจากการพลางแสงและให้น้ำอย่างเหมาะสม ต้นผักกูดเจริญเติบโตดีมาก ตอนนี้ปลูกมาได้ประมาณ 8 เดือน เริ่มเก็บผลผลิตได้แล้ว แต่ละวันจะเก็บยอดผักกูดได้ประมาณ 10-15 กิโลกรัม มีคนมารับซื้อถึงหน้าสวน ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม มีรายได้เข้ามาวันละประมาณ 600-1,000 บาท ถือว่าช่วยลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด- 19 ได้บ้าง และในอนาคตหากช่องทางการตลาดไปได้ดีก็จะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น และผลิตต้นพันธุ์จำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจอยากจะทดลองปลูกผักกูด อนึ่ง “ผักกูด” เป็นผักพื้นบ้านที่มีคุณค่าทางด้านอาหาร โดยเฉพาะเบต้าแคโรทีนและธาตุเหล็กพบว่ามีปริมาณสูง ซึ่งหากรับประทานผักกูดจะช่วยบรรเทาโรคโลหิตจางและบำรุงเลือดได้เป็นอย่างดี เป็นผักที่มีเส้นใยสูงเมื่อรับประทานแล้วจึงช่วยในการระบาย รับประทานได้ทั้งสดและปรุงเป็นอาหาร เช่น ลวกหรือต้มจิ้มกับน้ำพริก ผักกูดต้มกับกะทิ ยำผักกูด ผัดผักกูดไฟแดง แกงส้ม และแกงเลียง เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ