กทม.พร้อมบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว - รฟม.เตรียมติดตั้งสะพานเหล็ก 2 จุด ตามที่ กทม.กำหนด

ข่าวทั่วไป Monday May 18, 2020 09:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--กรุงเทพมหานคร นายพานุรักษ์ กลั่นนุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวกรณีปลัดกระทรวงคมนาคม (คค.) ประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงาน เพื่อดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) มอบหมายให้ กทม. เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเงื่อนไขของ กทม. ที่อนุญาตให้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เข้าพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ โดยแลกกับการที่ รฟม. ต้องก่อสร้างและติดตั้งสะพานทดแทนสะพานเหล็กข้ามแยกรัชโยธิน (เดิม) และสะพานเหล็กข้ามแยกเกษตรศาสตร์ (เดิม) ส่วนโครงสร้างสะพานเหล็กทั้ง 2 แห่ง ที่ รฟม. รื้อออก ให้นำไปก่อสร้างให้ กทม. ในสถานที่แห่งใหม่ นั้น กทม. ได้เตรียมการและเร่งรัดการรับโอนหนี้สินและทรัพย์สินโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ร่วมกับ รฟม. มาโดยตลอด พร้อมทั้งเร่งเตรียมความพร้อมแผนบริหารจัดการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของ กทม. เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสที่มีอยู่เดิมให้ได้รับความสะดวกในการเดินทาง ตลอดจนเพื่อสามารถเปิดให้บริการประชาชนเพิ่มเติมตามแผนที่กำหนด นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวว่า ในส่วนของการเจรจาหาข้อสรุปแนวทาง การดำเนินการกับสะพานเหล็กที่รื้อย้ายมาจากแยกรัชโยธิน (เดิม) และแยกเกษตรศาสตร์ (เดิม) เพื่อนำไปติดตั้งบริเวณแยกหทัยมิตร ถนนหทัยราษฎร์ และถนนพุทธมณฑล สาย 2 บริเวณแยกตัดถนนบางแวก สำนักการโยธา ตรวจสอบแล้ว เนื่องจาก รฟม. เป็นผู้รับเงื่อนไขในการเข้าพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ตามที่ กทม. กำหนด โดยได้เข้าพื้นที่ก่อสร้างและได้รื้อถอนสะพานเหล็กรัชโยธิน ในแนวถนนรัชดาภิเษก และสะพานเหล็กเกษตรศาสตร์ แนวถนนพหลโยธิน ซึ่งเป็นทรัพย์สินของ กทม. เพื่อการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 ด้วยเหตุดังกล่าว รฟม. จึงต้องรับผิดชอบดำเนินการตามเงื่อนไขในการเข้าพื้นที่ก่อสร้างและส่งมอบพื้นที่คืนให้ กทม. โดยการนำชิ้นส่วนสะพานเหล็กที่ได้รื้อถอนออก ไปสร้างใหม่ในสถานที่ที่ กทม. กำหนด คือ พื้นที่การก่อสร้างที่ถนนพุทธมณฑลสาย 2 จุดตัดถนนบางแวก และบริเวณถนนหทัยราษฎร์ แยกถนนหทัยมิตรบรรจบกับถนนหทัยราษฎร์ต่อเนื่องถนนคู้บอน ซึ่งทั้ง 2 จุด เป็นตำแหน่งที่มีความเหมาะสมในการใช้ชิ้นส่วนของสะพานเหล็กเดิม เพื่อก่อสร้างใหม่ได้อย่างสมประโยชน์ คุ้มค่า สามารถแก้ไขปัญหาการจราจรให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสำนักการโยธาได้ติดตามให้ รฟม. เร่งรัดติดตั้งสะพานทั้ง 2 แห่งดังกล่าวมาโดยลำดับ ทั้งนี้ จะได้เร่งประสานงาน รฟม. เพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ