อพวช. ร่วมกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์จัดเสวนาออนไลน์ “พิพิธภัณฑ์ไทยกับการแพร่ระบาดของโควิด-19” ร่วมหาแนวทางการจัดการพิพิธภัณฑ์ในยุค New Normal

ข่าวทั่วไป Wednesday May 20, 2020 14:45 —ThaiPR.net

อพวช. ร่วมกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์จัดเสวนาออนไลน์ “พิพิธภัณฑ์ไทยกับการแพร่ระบาดของโควิด-19” ร่วมหาแนวทางการจัดการพิพิธภัณฑ์ในยุค New Normal กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันพิพิธภัณฑ์สากล (หรือ International Museum Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 18 พฤษภาคมของทุกปี องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และภาคีเครือข่ายพิพิธภัณฑ์จึงได้จัดการเสวนาออนไลน์ “พิพิธภัณฑ์ไทยกับการแพร่ระบาดของโควิด-19” ผ่านทาง Facebook NSM Thailand เมื่อวันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), คุณราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ, คุณจารุณี อินเฉิดฉาย นายกสมาคมพิพิธภัณฑ์ไทย ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, คุณนิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ดร.พธู คูศรีพิทักษ์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล, คุณพัฒนพงศ์ มณเฑียร ที่ปรึกษาด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์ มิวเซียม มายส์ มาร่วมกันเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการบริหารจัดการกิจกรรมในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และร่วมหาแนวทางการจัดการพิพิธภัณฑ์ในยุค New Normal ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า “จากสถานการณ์ COVID-19 อพวช. ปรับวิกฤติเป็นโอกาสนำคลังความรู้ที่มีอยู่แล้วออกมาบริการประชาชนในระยะเวลาอันรวดเร็วในรูปแบบออนไลน์กับโครงการ Science Delivery By NSM อาทิ การเรียนรู้ผ่านพิพิธภัณฑ์เสมือน VIRTUAL MUSEM กิจกรรม Hands On และกิจกรรมเพิ่มทักษะ Reskill/Upskill/New skill เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนได้มีอาชีพหลังวิกฤติโควิด อาทิ การทำสตัฟฟ์สัตว์ นักพัฒนาของเล่นวิทยาศาสตร์ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานสร้างอาชีพให้กับประชาชนในสังคมได้อีกด้วย” ด้านสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ โดยคุณราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ได้กล่าวว่า “มิวเซียมสยาม” ถือ เป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ที่พยายามปรับเปลี่ยนการนำเสนอรูปแบบใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อเข้ากับสภาพแวดล้อมในปัจจุบันมิวเซียมสยามได้จัดทำแคมเปญที่ชื่อว่า "Museum Siam from home" ซึ่งจะ “ทำให้ทุกการเรียนรู้ ไม่ห่างอย่างที่คิด” นอกจากนั้นได้เสริมทัพด้วยการนำเทคโนโลยีที่หลากหลายมาสร้างการเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยชวนทุกคนเรียนรู้นิทรรศการผ่าน VIRTUAL EXHIBITION พิพิธภัณฑ์เสมือนจริงแบบ 360 องศา” สำหรับพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ต้องมีการปรับตัวเช่นกัน โดยคุณจารุณี อินเฉิดฉาย นายกสมาคมพิพิธภัณฑ์ไทย ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้กล่าวว่า “ทางพิพิธภัณฑ์ได้รับสัญญาณของผลกระทบมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ซึ่งมีการยกเลิกการเข้าชมไปเป็นจำนวนมาก เพราะเนื่องจากส่วนใหญ่จะผู้เข้าชมเราจะเป็นนักเรียน โรงเรียน และเยาวชน และกิจกรรมส่วนใหญ่ของเราเป็นการลงมือ และการเข้ามาใช้พื้นที่จากคนภายนอก จึงต้องงดกิจกรรมเหล่านั้นทั้งหมด และทำให้เราได้คำนึงถึงการเตรียมปรับตัวไปสู่การทำกิจกรรมเชิงรุกแบบออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้การเกษตร การอบรม และสินค้าเกษตรออนไลน์กับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ และในส่วนของเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ที่ต้องเดินทางจากที่ไกล ๆ ก็สามารถเข้าพักในพื้นที่ได้ แต่มีเพียงบางส่วนที่ Work from home และสำหรับการทำงานภายในพิพิธภัณฑ์ของเจ้าหน้าที่ เราได้จัดระยะห่างในการทำงาน พร้อมทั้งตรวจสอบสุขภาพของเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวดตามมาตรการของรัฐบาลอีกด้วย” คุณนิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ทางกรมศิลปากรได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการปิดพื้นที่แหล่งเรียนรู้ทั้งหมด เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้เราได้หันมาทบทวนบทบาทการทำงานของเรามากยิ่งขึ้นว่า เมื่อเราได้รับผลกระทบด้านการเข้าชมของประชาชนทำให้เราหันมาให้ความสำคัญกับสื่อออนไลน์มากขึ้น ถึงแม้เราจะปิดบริการพิพิธภัณฑ์ แต่เจ้าหน้าที่มุ่งมั่นตั้งใจทำงานตามปกติ ทำให้เรามีโอกาสในการปรับปรุงชิ้นงานและสถานที่ จัดการดำเนินงานด้านการซ่อมบำรุงต่างๆ พร้อมทำความสะอาดอย่างเข้มงวด เพื่อเตรียมพร้อมในการเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างสมบูรณ์อีกครั้ง” ดร.พธู คูศรีพิทักษ์ จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “จากสถานการณ์ COVID-19 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้มหาวิทยาลัยปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนการสอน งานวิจัย และการบริการวิชาการต่างๆ และในส่วนของพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กเราก็ได้รับผลกระทบในการปรับตัวการให้บริการ จำนวนผู้เข้าชม รวมไปถึงปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม ส่วนทิศทางของพิพิธภัณฑ์ที่จะปรับเปลี่ยนไปในโลก หลัง COVID-19 เรื่องของดิจิทัลต่างๆ เข้ามามีบทบาทสำคัญ การทำงานของพิพิธภัณฑ์จะเน้นให้ความสำคัญกับสังคมและชุมชนมากขึ้น และพิพิธภัณฑ์ยังเป็นพื้นที่สำคัญในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมและชุมชนแน่นอน และถ้าเกิดสถานการณ์ในอนาคตยังไม่คลี่คลายหรือแย่ลง ในอนาคตเราอาจจะต้องออกแบบวางแผนธุรกิจใหม่ เนื่องจากเราไม่สามารถออกไปหาลูกค้าได้ แต่เราก็ยังเป็นชานชลาของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เป็นพื้นที่ในการส่งเสริมกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเราสามารถปรับบทบาท เพราะถ้าชุมชนอยู่ได้ เราถึงจะอยู่ได้” ส่วน คุณพัฒนพงศ์ มณเฑียร ที่ปรึกษาด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์ มิวเซียม มายส์ กล่าวว่า "ตอนนี้เรามีการทำวิจัยในเรื่องของพิพิธภัณฑ์ที่ไหนที่ได้รับผลกระทบในวิกฤตครั้งนี้บ้าง ซึ่งหลาย ๆ พิพิธภัณฑ์ได้พยายามทำงานที่จะก้าวข้ามกำแพงไปสู่ผู้ชมซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่แน่นอนว่าการเกิด COVID-19 เป็นตัวกระตุ้นในการเร่งเครื่องการทำงานแบบ 4.0 อย่างแท้จริง แต่แก่นแท้จริง ๆ แล้วพิพิธภัณฑ์ไม่ควรมองถึงสิ่งที่ตัวเองมีแค่อย่างเดียว แต่ต้องมองให้ลึกไปถึงผู้เข้าชมว่าเขาต้องการอะไร? โดยวิกฤตครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ จะออกมาบอกโลกให้ได้รับรู้ถึงบทบาทของตัวเอง และการเป็นผู้นำในชุมชมที่จะกระจายองค์ความรู้ เพื่อเป็นตัวอย่างให้สังคมเดินไปในทิศทางใด ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้ทำให้เราไม่สามารถรองรับผู้คนจำนวนมากในการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ได้ ซึ่ง ดิจิทัลออนไลน์ ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้ามามีบทบาท แต่ถ้าเราลองเริ่มหันมามองความต้องการของผู้ชมเป็นหลัก อาทิเช่น คุณครู ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง ถ้าทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการได้โดยเข้าไปร่วมมือในการจัดทำการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งถือว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจ ในฐานะคนดูและสื่อก็อยากเห็นทุกภาคส่วนร่วมมือและฝ่าวิกฤตเหล่านี้ไปด้วยกัน" สำหรับแนวคิดการปรับเปลี่ยนพิพิธภัณฑ์ในยุคการใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่ปกติ หรือ New Normal จากการเสวนาในครั้งหรือคงหนีไม่พ้น Digital Transformation แต่ความท้าทายของการจัดการก็คือการประยุกต์ใช้สื่อดิจิทัลในการนำเสนอ และต้องคงเสน่ห์ของการเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์คือการได้สัมผัสจับต้อง โดยต้องทำให้ทั้งสองสิ่งกลมกลืนไปด้วยกัน พร้อมสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยกับผู้เข้าชม และการเข้าไปช่วยเสริมสร้างทักษะเพิ่มความสามารถให้กับประชาชน ซึ่งในขณะนี้หลาย ๆ พิพิธภัณฑ์เตรียมพร้อมเปิดให้บริการเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยาจิตใจให้กับประชาชนแล้วในวันนี้ สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/NSMthailand/videos/173615447362802/

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ