“CEA” ผนึก 3 ผู้กำกับดัง ปลุกพลัง 1 วินาทีสร้างสรรค์ กับโครงการ “ONE SECOND THAILAND”

ข่าวบันเทิง Thursday May 28, 2020 10:50 —ThaiPR.net

“CEA” ผนึก 3 ผู้กำกับดัง ปลุกพลัง 1 วินาทีสร้างสรรค์ กับโครงการ “ONE SECOND THAILAND” กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--แบงค์คอก ไรเตอร์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส “CEA” ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์แบบไทย ๆ กับโครงการ “ONE SECOND THAILAND : วินาทีสร้างสรรค์” ชวนร่วมประกวดคลิปวีดีโอความยาว “1 วินาที” นำมาเล่าเรื่องใหม่ในรูปแบบหนังสั้น ผ่าน 3 ผู้กำกับชื่อดังแห่งยุค บาส–ณัฐวุฒิ, เติ้ล-กิตติภัค และไก่-ณฐพล หวังจุดกระแสการขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์ ให้เป็นพลังเดินหน้าประเทศไทยในยุค New Normal นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (สศส.) หรือ CEA เปิดเผยว่า CEA ในฐานะหน่วยงานที่สนับสนุนส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ มีความเชื่อว่า “ความสามารถในการคิดสร้างสรรค์นั้นมีอยู่ในตัวคนทุกคน” และพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์สามารถสร้างแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ได้ โดยเฉพาะในยุคที่หลายคนสามารถสร้างคอนเทนต์ได้เองอย่างง่ายๆ ด้วยเทคโนโลยีในมือ CEA จึงอยากจะชวนคนไทยปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์ จุดประกายไอเดียใหม่ ๆ จากอาหารหนึ่งจาน สถานที่หนึ่งที่ หรือไอเดียการแก้ปัญหาหนึ่งอย่าง เมื่อถ่ายทอดจากมุมมองของแต่ละคน จะเป็น 1 วินาทีที่แตกต่าง และเมื่อนำมาร้อยเรียงใหม่จะเป็นผลงานความคิดสร้างสรรค์ชิ้นใหญ่ที่มีพลังของคนไทย ปลุกแรงบันดาลใจแห่งความสร้างสรรค์ระดับประเทศต่อไป กับโครงการ “One Second Thailand : วินาทีสร้างสรรค์” ซึ่งเป็นครั้งแรกของเมืองไทยที่มีโครงการประกวดคลิปวิดีโอความยาว 1 วินาที โดยแบ่งออกเป็น 3 หมวด ดังนี้ 1. วิเดียวกินแบบไทย : ชวนเล่าเรื่องการกินของคนไทย ที่สามารถสรรสร้างและพลิกแพลงภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ ให้เข้ากับวิถีชีวิตในแต่ละยุคสมัย และยังสามารถต่อยอดเป็นกิจการระดับครัวเรือนหรือธุรกิจขนาดใหญ่ ให้ชาวโลกทึ่งไปกับวิถีการกินของคนไทยที่ไร้ข้อจำกัด 2. วิเดียวเที่ยวไทย : เล่าเรื่องการท่องเที่ยวไทยที่แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ วิถีและประเพณีชุมชน ของที่ระลึกและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น รวมถึงการออกแบบประสบการณ์เพื่อทำธุรกิจท่องเที่ยวที่น่าสนใจ 3. วิเดียวไทยสไตล์ : เล่าการแก้ปัญหาด้วยความคิดสร้างสรรค์ การประดิษฐ์คิดค้น และการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบไทย ๆ ที่ใช้ผ่าทางตันปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างน่าทึ่งและไม่เหมือนใคร ผนวกกับอุปนิสัยของคนไทยที่เป็นคนสบาย ๆ และมีอารมณ์ขัน ทำให้เกิดเป็นงานที่มีลักษณะเฉพาะตัว เป็นที่สนใจทั้งคนในประเทศและนานาชาติ “การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิตแบบใหม่ที่เรียกว่า New Normal หรือความปกติใหม่ ทำให้เราไม่สามารถคิดเหมือนเดิม ใช้ชีวิตเหมือนเดิม ภาคธุรกิจไม่สามารถค้าขายแบบเดิม ๆ ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อมกันด้วยก็คือ ความคิดสร้างสรรค์ หลายคนใช้ความคิดสร้างสรรค์มาปรับธุรกิจของตัวเองในช่วงนี้ เราต้องการทำให้เห็นว่า จิ๊กซอว์ความคิดสร้างสรรค์เล็ก ๆ ของคนแต่ละคนนั้น เมื่อนำมารวมกันจะเห็นเป็นภาพที่ยิ่งใหญ่และมีพลัง เราต้องการต่อยอดให้เกิดเป็นกระแสขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์ (Creative movement) เพราะความคิดสร้างสรรค์คือพลังและความหวังที่จะช่วยเดินหน้าประเทศไทยต่อในยุคหลังโควิด-19 ซึ่งหลาย ๆ สิ่งอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” นายอภิสิทธิ์ กล่าว ทั้งนี้ CEA จะนำคลิปวินาทีสร้างสรรค์ ความยาว 1 วินาที ที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 60 รายต่อหมวด มาร้อยเรียงกันเพื่อเล่าเรื่องใหม่ ผ่านมุมมองของ 3 ผู้กำกับดังแห่งยุค ได้แก่ คุณบาส – ณัฐวุฒิ พูนพิริยะ จากผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่อง “ฉลาด เกมส์ โกง”, คุณเติ้ล - กิตติภัค ทองอ่วม จากผลงานจากผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่อง “ตุ๊ดซี่ส์แอนด์เดอะเฟค” และ คุณไก่ - ณฐพล บุญประกอบ จากผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่อง “2215 เชื่อ กล้า บ้า ก้าว” โดยจะออกมาเป็นรูปแบบของหนังสั้นความยาว 1 นาที ในชื่อว่า “ONE MINUTE THAILAND : สู่นาทีสร้างสรรค์” ผู้ที่สนใจสามารถส่งผลงานประกวดพร้อมคำอธิบายสั้นๆ ด้วยการอัพโหลดคลิปวิดีโอ 1 วินาทีสร้างสรรค์ เข้ามาได้ถึง 4 ช่องทาง ได้แก่ - เว็บไซต์ www.onesecondthailand.com - LINE official : OneSecondThailand - Facebook fanpage : Thailand Creative & Design Center (TCDC) - Instagram ส่วนตัวของคุณ โดยเปิด Public พร้อมใส่ hashtag #OneSecondThailand ตามด้วยหมวดที่ต้องการส่งประกวด เช่น #วิเดียวกินแบบไทย, #วิเดียวเที่ยวไทย, #วิเดียวไทยสไตล์ เริ่มส่งผลงานได้ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม – 4 กรกฎาคม 2563 โดยจะประกาศรายชื่อเจ้าของผลงานและคลิปวิดีโอที่ได้รับเลือกในวันที่ 11 สิงหาคม 2563 ซึ่งคลิปวีดีโอที่โดนใจคณะกรรมการมากที่สุด จำนวน 60 คลิปต่อหมวด จะได้รับรางวัลเงินสด รางวัลละ 3,000 บาท รวมมูลค่ารางวัลทั้งหมด 540,000 บาท โดยทาง CEA จะนำคอนเทนต์ไปต่อยอดร่วมกับโครงการอื่น ๆ ในอนาคตต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ