วว.พัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อการจำหน่าย ผัก/ผลไม้ ออนไลน์ นำร่องขนส่ง “มะม่วง” ช่วยลดความเสียหาย เพิ่มช่องทางจำหน่ายผลผลิตการเกษตร

ข่าวทั่วไป Friday June 5, 2020 09:05 —ThaiPR.net

วว.พัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อการจำหน่าย ผัก/ผลไม้ ออนไลน์               นำร่องขนส่ง “มะม่วง” ช่วยลดความเสียหาย เพิ่มช่องทางจำหน่ายผลผลิตการเกษตร กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โชว์นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อการจำหน่ายผักและผลไม้ออนไลน์ ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ นำร่องขนส่ง “มะม่วง” รองรับปริมาณผลผลิตล้นตลาดกว่า 20,000 ตัน ระบุจุดเด่นช่วยลดความเสียหาย บรรจุภัณฑ์แข็งแรง รองรับน้ำหนักผลผลิตได้ 5 กิโลกรัมต่อกล่อง สามารถเรียงซ้อนได้ถึง 14 ชั้น ผลิตจากกระดาษลูกฟูก 5 ชั้นที่มีการดูดซึมน้ำต่ำ เก็บในห้องเย็นที่มีความชื้นสูงได้ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. โดย ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย (ศบท.) นำร่องในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อการจำหน่ายผักและผลไม้สดออนไลน์ เพื่อช่วยลดความเสียหายของผลิตผลสดในระหว่างการขนส่งขนถ่าย และสืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะภาคการส่งออกและขนส่ง ทั้งยังส่งผลต่อการบริโภคภายในประเทศ ทำให้มีผลผลิตทางเกษตรที่มีคุณภาพสูงในประเทศจำนวนมากที่ไม่ได้เก็บเกี่ยวทันเวลา ส่งผลให้เกิดความสูญเสียเป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่มีตลาดรองรับ จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการจัดหาหรือเพิ่มช่องทางจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร “…การตลาดออนไลน์เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เกษตรกรหรือผู้ผลิต พยายามจะขายสินค้าด้วยตนเอง อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาและข้อจำกัดหลายประการ เช่น ยังไม่มีบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานในการป้องกันความเสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพ บรรจุภัณฑ์มีขนาดบรรจุที่มากเกินไป ทำให้สิ้นเปลืองค่าขนส่ง บริษัทขนส่งบางรายปฏิเสธการขนส่งผักและผลไม้สดที่เป็นสินค้าที่เน่าเสียได้ง่าย วว. โดยศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย (ศบท.) ในฐานะหน่วยงานกลางรับผิดชอบการบรรจุหีบห่อของชาติ เล็งเห็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์มาตรฐาน เพื่อใช้ในการบรรจุผลิตผลสดสำหรับการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ เพื่อช่วยลดความเสียหายในระหว่างขนส่งขนถ่ายจากเกษตรกรจนถึงมือผู้บริโภค โดยมีการนำร่องออกแบบโครงสร้างกล่องบรรจุมะม่วง ที่คาดว่าในปีนี้จะมีมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองล้นตลาดในปริมาณมากถึง 20,000 ตัน เนื่องจากไม่สามารถส่งออกไปตลาดหลัก เช่น เกาหลีและญี่ปุ่นได้ ในขณะที่ตลาดในประเทศก็มีจำกัด…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว ดร.พัชทรา มณีสินธุ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า บรรจุภัณฑ์เพื่อการจำหน่ายผลมะม่วงสดออนไลน์ที่ วว. ได้พัฒนาขึ้น มีจุดเด่นหลายประการที่ช่วยส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ผู้บริโภค ได้แก่ มีความแข็งแรง สามารถรองรับน้ำหนักผลผลิตได้ 5 กิโลกรัมต่อกล่อง รับน้ำหนักการเรียงซ้อนได้ถึง 14 ชั้น เพื่อช่วยป้องกันความเสียหายและรักษาคุณภาพของผลิตผล หากกล่องเกิดการยุบตัวในระหว่างการขนส่งและเก็บรักษา ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายได้ มีการเจาะช่องระบายอากาศอย่างเหมาะสม เพียงพอต่อการหายใจและคายน้ำของผลมะม่วง จึงช่วยลดการสะสมความร้อนและความชื้นภายในกล่อง ช่วยให้ยืดอายุการเก็บได้ นอกจากนี้บรรจุภัณฑ์ยังผลิตจากกระดาษลูกฟูก 5 ชั้น ที่มีการดูดซึมน้ำต่ำ ทำให้รักษาความแข็งแรงของกล่องไว้ได้อย่างเหมาะสม แม้ว่าจะเก็บในห้องเย็นที่มีความชื้นสูง อีกทั้งรูปแบบและขนาดของกล่อง (50x30 เซ็นติเมตร) ยังมีความเหมาะสม ช่วยประหยัดพื้นที่ ทั้งเพื่อเก็บรักษา ขนส่งและขนถ่าย มีขนาดบรรจุที่เหมาะสม สอดคล้องกับระบบลำเลียงขนส่ง ในส่วนกราฟิกของกล่องออกแบบพิมพ์สีเดียว เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ให้ข้อมูลรายละเอียดที่จำเป็นของสินค้า เช่น ชื่อสินค้า น้ำหนักบรรจุ เกรด แหล่งผลิตหรือที่มา เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ออกแบบให้ใช้กล่องที่มีขนาดมาตรฐานเพียงขนาดเดียว เพื่อให้สามารถบรรจุมะม่วงทุกเกรดที่มีขนาดผลแตกต่างกันได้ เพียงแต่ใช้แผ่นกั้น เพื่อลดการเคลื่อนที่ของผลมะม่วงภายหลังการบรรจุ ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย (ศบท.) วว. เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีด้านบรรจุภัณฑ์แห่งชาติ มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีด้านบรรจุภัณฑ์ และงานบริการวิเคราะห์ทดสอบด้านบรรจุภัณฑ์อย่างครบวงจร เพื่อรองรับความต้องการของทุกภาคส่วน สนใจขอรับบริการโปรดติดต่อได้ที่ ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย วว. (บางเขน) เลขที่ 196 ถ.พหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร 2579 1121 ต่อ 3101, 3208, 081 702 8377 E-mail : TPC-tistr@tistr.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ