รู้ก่อน ปรับตัวก่อน!! เอ็นไอเอเปิดคัมภีร์ 10 New Normal เทคฯ ดิจิทัล เครื่องมือสำคัญเพื่อการอยู่รอดจากภาวะวิกฤติ

ข่าวเทคโนโลยี Monday June 15, 2020 13:52 —ThaiPR.net

รู้ก่อน ปรับตัวก่อน!! เอ็นไอเอเปิดคัมภีร์ 10 New Normal เทคฯ ดิจิทัล เครื่องมือสำคัญเพื่อการอยู่รอดจากภาวะวิกฤติ กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ การอุบัติขึ้นและการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เป็นตัวแปรที่ทำให้หลายภาคส่วนเกิดการหยุดชะงัก เนื่องด้วยมาตรการล็อกดาวน์และการเว้นระยะห่างทางสังคม ทั้งยังทำให้เกิดข้อจำกัดในกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การดำเนินชีวิต ความเสียหายในภาคแรงงาน ตลอดจนการชะลอการพัฒนาเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่เกิดขึ้นยังทำให้เกิดแนวทางที่หลายคนอาจไม่คุ้นเคย หรือที่เรียกว่า “New Normal” ที่กำลังจะก้าวเป็นสิ่งปกติที่เริ่มคุ้นชินตา ไม่ว่าจะในแง่ของวัฒนธรรม วิถีชีวิต พฤติกรรมของคนในสังคม รวมทั้งระบบเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องที่ในระดับปัจเจกบุคคลจำเป็นต้องก้าวให้ทัน สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA โดยสถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม (Innovation Foresight Institute: IFI) ได้ทำการวิเคราะห์ถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด – 19 และพบว่า New Normal หนึ่งที่กำลังทวีบทบาทและกำลังเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมชีวิตประจำวันคือ “ระบบดิจิทัล (Digital) ที่ได้ช่วยสร้างทั้งปฏิสัมพันธ์ การทำธุรกรรม การเชื่อมต่อทุกภาคส่วนให้เข้าถึงกัน โดยประกอบด้วย 10 เครื่องมือที่น่าสนใจและสามารถช่วยมนุษยชาติให้อยู่รอดภายใต้การระบาดของไวรัสดังกล่าวได้ ดังนี้ Blockchain Technology ซึ่งจะถูกนำมาใช้ในการบริหารจัดการระบบข้อมูล โดยเฉพาะในทางการแพทย์ ตลอดจนการติดตามอุปกรณ์ หรือสิ่งของสำหรับป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส เช่น น้ำยาฆ่าเชื้อ เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย ฯลฯ ให้กับหน่วยบริการทางการแพทย์และสาธารณชนโซเชียลมีเดีย (Social Media) หรือโลกสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะเฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์ ที่จะมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข่าวสาร การเป็นพื้นที่ค้าขาย การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ตลอดจนเป็นสังคมแห่งการรวมตัวเพื่อแลกเปลี่ยนความคิด รวมทั้งเป็นพื้นที่ของข้อมูลที่สามารถศึกษาและแบ่งปันระหว่างกันได้ทั้งในเชิงอรรถประโยชน์และความบันเทิงเทคโนโลยีเอไอ (AI Platform) เป็นเทคโนโลยีที่ทั่วโลกกล่าวถึงบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดดิจิทัลดิสรัปชัน ซึ่ง AI เปรียบเสมือนหัวใจและสมองที่ประกอบอยู่กับนวัตกรรมต่าง ๆ ที่มีความแม่นยำ รวดเร็ว ทั้งนี้ ในช่วงการระบาดและหลังการเกิดโควิด – 19 นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์สามารถใช้สิ่งนี้ในการประมวลผล พร้อมกับค้นหางานวิจัยหรือบทความทางวิทยาศาสตร์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การค้นพบและวิธีการรับมือกับการแพร่ระบาด หรือการเกิดขึ้นใหม่ของเชื้อโรคบางชนิดแชทบอท (Chatbot) ซึ่งเป็นระบบการตอบคำถามอัตโนมัติที่ใช้สำหรับองค์กร โดยจะเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยในการให้ข้อมูลสำหรับผู้ที่ต้องการสอบถามเกี่ยวกับรายละเอียดสิ่งต่าง ๆ เช่น การให้บริการขององค์กร ราคาสินค้า พร้อมทั้งยังสามารถนำไปใช้ในทางการแพทย์ ที่ทำได้ทั้งการวินัยโรคเบื้องต้นให้กับผู้ป่วย การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลตนเอง นอกจากนี้ ยังช่วยในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและองค์กร และประหยัดเงินที่จะต้องใช้จ่ายกับแรงงานที่ทำงานด้านการให้ข้อมูลได้อีกด้วยหุ่นยนต์ (Robots) เป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีบทบาทในแทบทุกกิจกรรมของมนุษย์ โดยหลังจากนี้จะถูกนำไปใช้ในทางอุตสาหกรรม การเป็นแรงงานในภาคบริการ เป็นผู้ช่วยด้านการแพทย์ทั้งการตรวจสอบ การช่วยรักษา และยังมีโอกาสที่จะแทนที่ในบางอาชีพอีกด้วย5G เป็นเจเนอเรชั่นใหม่ของการสื่อสาร ที่จะช่วยเชื่อมต่อผู้คนทั่วโลกให้เข้าถึงกันไวขึ้น รวมทั้งทำให้การเว้นระยะห่างทางสังคมมีประสิทธิภาพ เนื่องด้วยคุณภาพของสัญญาณจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่มีความรวดเร็วกว่าที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังจะช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับอุตสาหกรรมบันเทิง ระบบสุขภาพทางไกล (Telehealth) รวมทั้งในภาคการศึกษา ที่ขณะนี้สังคมกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมากการประชุมทางไกล (Video Conference) การประชุมออนไลน์เป็นทางเลือกที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจ เนื่องด้วยมาตรการล็อกดาวน์และการเว้นระยะห่างทางสังคมที่ทำให้แต่ละองค์กรยังไม่สามารถพบเจอกันได้ ซึ่งในอนาคตเทคโนโลยีนี้จะยิ่งทวีความสำคัญทั้งการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมรูปแบบใหม่จากสตาร์ทอัพ ทำให้แต่ละองค์กรมีทางเลือกมากขึ้น ช่วยประหยัดเวลา และลดความเสี่ยงของโรคต่างที่เกิดจากการพบปะให้น้อยลงเทคโนโลยีเสมือนจริง (AR/VR Technology) เป็นนวัตกรรมที่ทำให้หลายธุรกิจสามารถสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสามารถทดลอง - เห็นสินค้าหรือบริการได้ก่อนตัดสินใจซื้อ นอกจากนี้ ยังช่วยฝึกทักษะให้กับพนักงานในธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องใช้ฝีมือในการปฏิบัติงาน มีความเชี่ยวชาญในการทำงานมากขึ้นอีกด้วยระบบการพิมพ์สามมิติ (3D Printing) เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถช่วยผลิตอุปกรณ์หรือเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ในโรงพยาบาลได้ รวมทั้งช่วยในการผลิตชิ้นส่วนทางอุตสาหกรรม การออกแบบอวัยวะเทียม และชิ้นส่วนอากาศยาน ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนการออกแบบได้อย่างมีนัยสำคัญอากาศยานไร้คนขับ (Drones) เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่จะช่วยลดภาระในการขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งอุปกรณ์การแพทย์ในยามฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในด้านการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ การป้องกันความมั่นคง ตลอดจนการช่วยดูแลไร่นาของเกษตรกร ลดปัญหาการดูแลไม่ทั่วถึงได้เป็นอย่างดี วิกฤตการณ์ในครั้งนี้ทำให้เห็นชัดเจนว่า การสร้างระบบดิจิทัลของตัวเองสามารถที่จะขับเคลื่อนภาคส่วนต่าง ๆ ให้เติบโตได้แม้ว่าจะมีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสิ่งเหล่านี้ จะกลายเป็น New Normal ของสังคมและเศรษฐกิจในระดับโลกที่ควรต้องศึกษาและใช้ให้เป็น เพราะทุกอย่างมักเกิดขึ้นเร็วโดยที่ไม่ทันตั้งตัว สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-017-5555 เว็บไซต์ www.nia.or.th และ facebook.com/NIAThailand

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ