สถาบันเอ็นอีเอ เปิดภาพ “ดีไซน์ทิงค์กิ้ง” คิดเชิงออกแบบ อย่างไร?? ให้สินค้าขายได้ ธุรกิจสำเร็จ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 23, 2020 13:24 —ThaiPR.net

สถาบันเอ็นอีเอ เปิดภาพ “ดีไซน์ทิงค์กิ้ง” คิดเชิงออกแบบ อย่างไร?? ให้สินค้าขายได้ ธุรกิจสำเร็จ กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ ใครว่าการออกแบบ (Design) เป็นเรื่องของศิลปะ ไม่จริง!! เพราะการออกแบบที่แท้จริงนั้นไม่ได้อยู่แค่เรื่องข้าวของสวยงามอย่างเสื้อผ้า แฟชั่น เครื่องประดับ ฯลฯ ซึ่งต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่าสิ่งนี้คือการสร้างเค้าโครงการวางแผน เพื่อให้เป้าหมายเป็นไปตามขั้นตอนหรือพูดง่าย ๆ ก็คือ “จะทำอย่างไรให้งานนั้นมีคุณค่าและประสบความสำเร็จ” และแน่นอนว่าใครที่มีทักษะในด้านดังกล่าวยิ่งจะทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างง่ายขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของธุรกิจการทำงาน ไลฟ์สไตล์ ฯลฯ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การจะออกแบบสิ่งต่าง ๆ นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกเรื่องล้วนต้องผ่าน การฝึกฝนและมีระบบวิธีการ รวมทั้งต้องมีขั้นตอน 1 2 3 4 ซึ่งหากวางไว้ดี การออกแบบนั้นก็จะนำพาการตอบรับที่ดีกลับมาเช่นกัน การออกแบบประเภทหนึ่งที่ถูกพูดถึงและได้ยินกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้คือ “Design Thinking” หรือ กระบวนการคิดเชิงออกแบบ / การออกแบบความคิด แต่อาจจะยังไม่เข้าใจกันว่าคืออะไร ซึ่งในบริบทของกระบวนการคิดเชิงออกแบบเป็นกระบวนการวางแผนให้ได้มาซึ่งทางออกและการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ต่อเนื่องถึงการนำไปปรับปรุงการทำงานในบริษัทหรือภายในองค์กรให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ในทางธุรกิจยังสามารถช่วยสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ ซึ่งในส่วนหลังนี้ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือ NEA จะมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ กระบวนการคิดของคนที่เป็น Design Thinker ผ่านหลักสูตรกระบวนคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) โดย ผศ.ดร.พนิตา ผู้ช่วยอธิการบดี และอาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยจะประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอนด้วยกันคือ Empathize : เห็นใจลูกค้า การเห็นใจลูกค้าในบริบทนี้ คือการพูดคุยสัมภาษณ์และสังเกตพฤติกรรมลูกค้า เพื่อรับทราบและทำความเข้าใจกับความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง ซึ่งจะเห็นปัญหาจากลูกค้าที่ไม่ใช่มุมมองฝ่ายเดียว แต่เป็นการเก็บข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจกับจุดอ่อนได้อย่างตรงจุด ด้วยการสัมภาษณ์ในเชิงคุณภาพและการสังเกตมากกว่าการทำแบบสอบถามที่เน้นเชิงปริมาณ ด้วยการเก็บข้อมูลจากลูกค้ากลับมาเพื่อมายืนยันความคิดว่าเข้าใจถูกหรือไม่ โดยลักษณะดังกล่าว จะมีข้อจำกัดในการเก็บและเข้าถึงข้อมูลเชิงลึก ดังนั้นเวลาสัมภาษณ์ลูกค้าควรถามเพื่อให้ แสดงความคิดเห็น โดยเป็นการตั้งคำถามแบบปลายเปิด ที่ไม่ได้ต้องการคำตอบเพียงใช่หรือไม่ใช่ การสัมภาษณ์ในแต่ละครั้งควรจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20-30 นาที เพื่อเป็นการละลายพฤติกรรม และทำความรู้จักกันให้มากขึ้น อีกหนึ่งอย่างที่สำคัญ คือการสังเกตพฤติกรรมว่าลูกค้าเต็มใจที่จะแชร์ข้อมูลให้เราหรือไม่ Define : ชำแหละปัญหา หลังจากที่เราทำความเข้าใจกับปัญหาของลูกค้า ที่เราได้ทำการสอบถามตรงจากลูกค้าแล้วนั้น ขั้นตอนนี้คือการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าสาเหตุของปัญหาคืออะไร ขั้นตอนนี้จึงจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญว่าที่มาที่ไปของปัญหาคืออะไร แล้วจึงค่อยสรุปว่าช่องทางในการแก้ปัญหาคืออะไร Ideate : หาไอเดีย ในช่วงขั้นตอนนี้ จะเป็นการระดมไอเดียและความคิดร่วมกันระหว่างทีม เพื่อการนำเสนอไอเดีย ที่ใหม่และแปลก เน้นในเรื่องของความสร้างสรรค์ เพื่อเป็นการค้นหาสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะสามารถพัฒนารูปแบบ และตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าให้ได้ตรงจุด และสามารถกลบปัญหาที่เกิดขึ้นกับสินค้าและผลิตภัณฑ์เดิมให้มีการพัฒนาไปสู่สิ่งใหม่มากขึ้น Prototype : ทำให้เห็นตัวอย่าง ถือเป็นขั้นตอนที่สนุกที่สุด เพราเมื่อได้รวบรวมข้อมูลมาจนถึงขั้นตอนนี้ จะสามารถนำความเข้าใจที่บันทึกได้จากการสัมภาษณ์ความต้องการของลูกค้า รวมถึงได้มองเห็นปัญหา และรวมรวมไอเดียและความคิดสร้างสรรค์มาแล้วทั้งหมดนั้น ขั้นตอนนี้จึงเป็นการเริ่มผลิตและสร้างรูปแบบสินค้าและผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ ให้เห็นอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน และมองเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น เป็นสิ่งที่จับต้องได้ จึงจะมองเห็นได้ชัดขึ้นและสามารถพัฒนาสินค้าขึ้นได้อีกเรื่อย ๆ ต่อไป Test : ทดสอบขั้นตอนสุดท้ายนี้ คือการทดสอบฟีดแบคของลูกค้าต่อสินค้าและผลิตภัณฑ์ เพื่อหาจุดบกพร่อง และจุดเด่นของสินค้ามากขึ้น เพื่อที่จะนำกลับมาพัฒนาและปรับปรุงให้ดีกว่าเดิม แต่อย่างไรก็ตาม การทำกระบวนการคิดแบบ Design Thinking 5 ขั้นตอนที่ผ่านมา ไม่ได้มีรูปแบบที่ตายตัว เมื่อทำทั้งหมดเสร็จแล้ว 1 รอบ สามารถย้อนกลับไปกลับมา เพื่อการพัฒนาสินค้าที่ดีขึ้นให้มากกว่าเดิมต่อไป “คุณสมบัติของการเป็น Design Thinker นั้น คือ จะต้องมี Mindset ในการออกแบบด้วยกัน 3 ข้อ ได้แก่ 1.Human Values ให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้าในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับใจ 2.Technology ต้องคำนึงถึง ความเป็นไปได้ในเชิงเทคโนโลยีที่เพียงพอหรือไม่ รวมถึงทรัพยากร เรามีคนที่มีความสามารถที่ตรงกับการออกแบบหรือเปล่า 3.Enterprise ความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ ว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นจำเป็นจะต้องนึกถึงต้นทุน ความเสี่ยง ผลกำไร ที่จะได้รับว่าคุ้มค่าหรือไม่” ผู้ประกอบการท่านใดสนใจจะเข้าเรียนหลักสูตรดังกล่าวสามารถเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์ได้ที่ https://e-academy.ditp.go.th/ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของโครงการหรือกิจกรรมอื่นๆ ของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ได้ที่ nea.ditp.go.th หรือ www.facebook.com/nea.ditp หรือ สายตรงการค้าระหว่างประเทศ 1169 กด 1

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ