'สนธยา’เปิดวิสัยทัศน์แผนแม่บทดิจิทัล ๕ ปี ดัน 'เมืองพัทยา’ ทะยานสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจ EEC

ข่าวทั่วไป Thursday June 25, 2020 16:38 —ThaiPR.net

'สนธยา’เปิดวิสัยทัศน์แผนแม่บทดิจิทัล ๕ ปี ดัน 'เมืองพัทยา’ ทะยานสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจ EEC กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--คณะที่ปรึกษาโครงการจัดทาแผนแม่บทดิจิทัลฯ “สนธยา” ผนึกทุกภาคส่วนเดินหน้าแผนแม่บทดิจิทัลพัทยา ยกระดับเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจใน EEC ชูยุทธศาสตร์ NEO Pattaya รองรับวิถีชีวิตยุคใหม่หลังโควิด-๑๙ เน้นความเป็นสมาร์ทซิตี้ที่ประชาชนได้รับประโยชน์ นำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนธุรกิจ ท่องเที่ยวและการใช้ชีวิต คาดปริมาณคนเข้ามาถึง ๗๐ ล้านคน ด้าน ม.บูรพาวางพิมพ์เขียว ๘ กลยุทธ์ สร้างแพลตฟอร์มบริการภาครัฐรวดเร็วโปร่งใส การศึกษาสมัยใหม่ เพิ่มความปลอดภัยในชีวิต การจราจรและขนส่งอัจฉริยะ ฯลฯ เมืองพัทยาและมหาวิทยาลัยบูรพา จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำเสนอแผนแม่บทดิจิทัล เทคโนโลยีสารสนเทศ-การสื่อสารเมืองพัทยา และปรับปรุงข้อมูลทรัพยากรภูมิสารสนเทศขนาดใหญ่ของเมืองพัทยา (ระยะเวลา ๕ ปี) (พ.ศ.๒๕๖๔-๒๕๖๘) โดยมี นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้บริหารภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนเข้าร่วม ๔๐๐ คน ณ สวนนงนุชเทรดดิชั่นเซ็นเตอร์ ฮอลล์ ๑ ชลบุรี นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เปิดเผยว่า เมืองพัทยากำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าในทุกมิติ เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การลงทุน การคมนาคมขนส่งแห่งภาคตะวันออก ตามยุทธศาสตร์ “NEO Pattaya” โดยขณะนี้เราพร้อมแล้วที่จะนำโรดแมปตาม “แผนแม่บทเมืองดิจิทัลพัทยา” สร้างความเปลี่ยนแปลงในระยะ ๕ ปีข้างหน้า มีเป้าหมายไปสู่ Smart City ที่ทันสมัยใช้เทคโนโลยีตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคใหม่ทั้งด้านการท่องเที่ยว การทำธุรกิจ และการพักอาศัย ผสมผสานอย่างลงตัว เช่นเดียวกับเมืองนานาชาติระดับโลก นายสนธยา กล่าวว่า โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ซึ่งจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานถึง ๑.๕ ล้านล้านบาท โดยเฉพาะสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาและรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบินนั้น เมื่อแล้วเสร็จในช่วง ๕ ปีข้างหน้าจะทำให้มีคนไทยและทั่วโลกเข้ามาพัทยาถึง ๗๐ ล้านคน ไม่เพียงนักท่องที่ยว นักธุรกิจ นักลงทุน แต่ทุกระดับ พนักงาน ลูกจ้าง ก็จะเข้ามาพักอาศัย จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องวางโรดแมป เมืองพัทยายุคใหม่จะยกระดับเทคโนโลยี (Digital Transformation) สร้างความความสะดวกสบายให้ประชาชนผ่าน แพลตฟอร์มดิจิทัล อาทิ บริการภาครัฐที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การเรียนรู้ตลอดชีวิต เพิ่มโอกาสทำธุรกิจคนรุ่นใหม่ นำระบบดิจิทัลพัฒนาการขนส่ง จราจร ท่องเที่ยว การแพทย์ การวางผังเมือง สิ่งแวดล้อม รวมถึงความสามารถในการแข่งขันทำให้พัทยาโดดเด่นเป็นศูนย์กลาง EEC “แผนแม่บทดิจิทัลพัทยาที่ประกาศวิสัยทัศน์วันนี้มีความสำคัญมาก เป็นการพลิกโฉมเมืองพัทยาหลังผ่านวิกฤตโควิด-๑๙ ไปสู่การเป็นเมืองนานาชาติที่สมบูรณ์ ด้วยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาบริหารจัดการและให้บริการประชาชน ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันเดินสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ NEO Pattaya เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ดึงดูดการท่องเที่ยวและนักธุรกิจ เป็นเมืองศูนย์กลางแห่ง EEC ได้อย่างแท้จริง” แผนแม่บทดิจิทัลฯเป็นความร่วมมือระหว่างเมืองพัทยาและมหาวิทยาลัยบูรพา โดยคณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ เน้นการวางแผนดำเนินการใน ๘ กลยุทธ์ ๑. พัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยดิจิทัล ๒. พัฒนาบุคลากรเมืองพัทยา ครู และนักเรียนสังกัดเมืองพัทยา ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ๓.พัฒนาบริการด้วยนวัตกรรมดิจิทัล ๔. พัฒนาแพลตฟอร์มกลาง เมืองพัทยา ๕. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ๖. จัดทำนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ ๗. พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารตามกรอบ “เมืองอัจฉริยะ” และ ๘. พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารตามกรอบความพร้อมเป็น “รัฐบาลดิจิทัล” ทั้งนี้ แผนแม่บทดิจิทัลพัทยาช่วง ๕ ปีข้างหน้า จะนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขนาดใหญ่หรือ Big Data มาเชื่อมต่อกับทุกระบบการทำงาน พัฒนาแอปพลิเคชันเข้าถึงประชาชนในทุกระดับ สัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย ๓ ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ใช้ระบบ ๓ มิติพลิกโฉมการท่องเที่ยวเพิ่มรายได้สู่ท้องถิ่น การติดต่อราชการรวดเร็วโปร่งใส ด้านการอยู่อาศัย มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินตลอด ๒๔ ชั่วโมง ด้วยระบบกล้องวงจรปิดเชื่อมต่อห้องสั่งการเมืองพัทยา ระบบสาธารณสุขนำนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น การจองคิวรับบริการไม่ต้องรอนานหรือมีบริการให้คำปรึกษาแบบทางไกล (Telemedicine) ฯลฯ ส่วน ด้านการศึกษา ยกระดับเด็กและเยาวชนด้วยเรียนการสอนโดยใช้สื่อดิจิทัล ความรู้จากนวัตกรรมอากาศยานไร้คนขับ และสร้างคนรุ่นใหม่ ฯลฯ ด้าน นายกฤษนัยน์ เจริญจิตร คณบดีคณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ พร้อมคณะ ได้นำเสนอแผนปฏิบัติงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแม่บทดิจิทัลฯ ที่มุ่งเน้นความยั่งยืนในทุกๆ มิติ แก้ไขปัญหาในภาพรวมของเมืองพัทยาและเกิดประโยชน์ต่อประชาชน ได้แก่ ๑. แผนงานจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยดิจิทัลเพื่อพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ ๒. แผนงานพัฒนาศักยภาพบริการภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมด้วยนวัตกรรมดิจิทัล ๓. แผนงานพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อรองรับวิถีชีวิตประชาชน ๔. แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และ ๕. แผนงานส่งเสริมเมืองพัทยาเป็นองค์กรดิจิทัลสมรรถนะสูงมุ่งสู่เมืองอัจฉริยะและเป็นรัฐบาลดิจิทัล “เมืองพัทยาในอนาคตจะเป็นดิจิทัลออฟฟิส ลดสำเนา ลดความยุ่งยากต่างๆ สำหรับประชาชน ไม่ต้องมารอคิวนานๆ พัฒนาเทคโนโลยีที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย มีไลน์พัทยาเพื่อสนับสนุนการให้บริการ เช่น จองคิวโรงพยาบาล บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน ปัญหาน้ำไฟฟ้า ความปลอดภัย มีตัวกลางช่วยประสานให้ได้รับความสะดวก” นายกฤษนัยน์กล่าว นอกจากนั้น เมื่อประชาชนมีปัญหาโทรแจ้งขอความช่วยเหลือ เช่น น้ำท่วม อุบัติเหตุ อาชญากรรม ฯลฯ จะส่งโดรนออกไปล่วงหน้าและรายงานกลับมาแบบเรียลไทม์ ก่อนส่งเจ้าหน้าที่ไปจุดเกิดเหตุ จะทำให้นักท่องเที่ยวมีความปลอดภัยในที่สาธารณะ และแก้ปัญหาเรื่องการจราจร เพิ่มความมั่นใจเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองพัทยามากขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ