'รมช.ประภัตร’ ลุยอีสาน มอบพันธุ์สัตว์ปีกและปัจจัยการผลิต ฟื้นฟูอาชีพหลังประสบอุทกภัย พร้อมเดินหน้าโครงการโคขุนกู้วิกฤติ Covid 19

ข่าวทั่วไป Monday June 29, 2020 09:49 —ThaiPR.net

'รมช.ประภัตร’ ลุยอีสาน มอบพันธุ์สัตว์ปีกและปัจจัยการผลิต ฟื้นฟูอาชีพหลังประสบอุทกภัย พร้อมเดินหน้าโครงการโคขุนกู้วิกฤติ Covid 19 กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.ศรีสะเกษ จ.อุบลราชธานี จ.ยโสธร จ.อำนาจเจริญ จ.กาฬสินธุ์ จ.มหาสารคาม และ จ.นครราชสีมาระหว่างวันที่ 26-28 มิ.ย. 63 เพื่อส่งมอบพันธุ์สัตว์ปีกและปัจจัยการผลิต ภายใต้โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีกเพื่อฟื้นฟูเกษตรกรที่ประสบปัญหาอุทกภัยตามแผนปฏิบัติการฟื้นฟูเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัยปี พ.ศ.2562 พร้อมด้วย นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และหัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วม นายประภัตร กล่าวว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 หลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับผลกระทบจากพายุโพดุล และพายุคาจิกิ ทำให้เกิดอุทกภัย พื้นที่ทำการเกษตรของได้รับความเสียหาย ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมงเป็นจำนวนมาก กรมปศุสัตว์จึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีกเพื่อฟื้นฟูเกษตรกรที่ประสบปัญหาอุทกภัย โดยเกษตรกรแจ้งความจำนงเพื่อเลือกสัตว์ปีก 1 ชนิด จาก 3 ชนิด ดังนี้ 1. ไก่ไข่เพศเมีย 10 ตัว พร้อมปัจจัยการผลิต 2. เป็ดไข่เพศเมีย 10 ตัวพร้อมปัจจัยการผลิต และ 3. ไก่พื้นเมืองคละเพศ 10 ตัว พร้อมปัจจัยการผลิต ซึ่งภารกิจในครั้งนี้ ได้เดินทางมอบพันธุ์สัตว์ปีกพร้อมปัจจัยการผลิต ได้แก่ มุ้งตาข่าย อาหารสัตว์และอุปกรณ์ให้แก่เกษตรกร โดยกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการจัดซื้อและมอบปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในมิถุนายน 2563 นี้ นายประภัตร กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์การเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทย ปี 2563 โดยช่วงปลายเดือนมิ.ย.-ก.ค. จะมีปริมาณฝนตกน้อย ซึ่งอาจส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรที่อาจได้รับผลกระทบ จึงได้อนุมัติเงินจำนวน 50,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ และกิจการที่เกี่ยวเนื่องภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กรมปศุสัตว์ กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคปศุสัตว์ไทย โดยสนับสนุนการจัดการตลาดผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์สร้างอาชีพทางเลือกใหม่ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมมาเลี้ยงสัตว์ จำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ ฟื้นฟูอาชีพแก่เกษตรกร บรรเทาความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ และผลกระทบจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ โดยส่งเสริมอาชีพทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ ให้เกษตรกรมีอาชีพเสริม สามารถจำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ มีตลาดรองรับ รวมกลุ่มวิสาหกิจอย่างน้อย 7 คน มีอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อไม่เกินกลุ่มละ10 ล้านบาท หรือดอกเบี้ยล้านละ 100 บาท/ปี ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 62 - 30 พ.ย. 65 “ปัจจุบันความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากความต้องการของคนในประเทศ นักท่องเที่ยว และต่างประเทศ โดยความต้องการโคเนื้อของต่างประเทศมีมากถึง 500,000 - 1,000,000 ตัวต่อปี ส่วนไก่พื้นเมือง โดยเฉพาะตลาดประเทศกัมพูชาต้องการไม่น้อยกว่า 50,000 ตัวต่อวัน และแพะมีความต้องการ 200,000 - 300,000 ตัวต่อปี รัฐบาลจึงหวังให้อาชีพการเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพเสริมเพื่อลดพื้นที่ปลูกข้าว ทดแทนการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ที่มีปัญหาด้านการตลาด” นายประภัตร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ