รถติดต้องแก้ได้! จุฬาฯ-เอไอที ใช้ AI ออกแบบ “พระราม 4 โมเดล” หวังแก้ปัญหารถติดใน กทม.

ข่าวทั่วไป Tuesday July 7, 2020 10:41 —ThaiPR.net

รถติดต้องแก้ได้! จุฬาฯ-เอไอที ใช้ AI ออกแบบ “พระราม 4 โมเดล” หวังแก้ปัญหารถติดใน กทม. กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ผุดไอเดียสร้าง “พระราม 4 โมเดล” โปรเจ็กแก้ปัญหารถติดในกรุงเทพฯ โครงการล่าสุด โดยนำ AI (Artificial Intelligence) มาใช้เก็บข้อมูลการจราจรทุกรูปแบบ ประมวลผลเป็นฐานข้อมูล ส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และกรุงเทพมหานคร เป็นแนวทางจัดการจราจรอย่างเหมาะสม หวังช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วน ระยะเวลาดำเนินการ 18 เดือน เห็นผลภายในปี 2564 รศ.ดร. มงคล เอกปัญญาพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการ ศูนย์เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI Center) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) กล่าวว่า โครงการ “พระราม 4 โมเดล” เป็นความร่วมมือกันระหว่าง สถาบันการศึกษา ภาครัฐและเอกชน มาร่วมกันแก้ปัญหารถติดในย่านธุรกิจ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของคนเมือง ด้วยการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการเก็บข้อมูลการจราจรทุกรูปแบบ เช่น ข้อมูล GPS จากรถของแกร็บ (Grab) และรถขนส่งสาธารณะ, ภาพจากกล้อง CCTV ตามจุดต่างๆ มาวิเคราะห์ประมวลผล และจัดทำเป็นฐานข้อมูลดิจิทัล เพื่อให้เห็นสภาพการจราจนบนถนนทั้งเส้นในแต่ละช่วงเวลา โดยข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเห็นภาพปัญหารถติดชัดเจนขึ้น และแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น โดย สถาบัน AIT เข้ามาร่วมในส่วนของการเก็บข้อมูลจาก กล้อง CCTV ตามจุดต่างๆรอบถนนพระราม 4 โดยจะนำคอมพิวเตอร์ไปติดตั้งเพื่อเก็บข้อมูลการจราจรต่างๆจากภาพในกล้องวงจรปิด ตลอด 24 ชั่วโมง เช่น ปริมาณรถในแต่ละช่วงเวลา, ความเร็วในการเคลื่อนที่ของรถแต่ละคัน, ช่องจราจรที่มีรถยนต์แออัด, ประเภทของรถ, จำนวนรถบนถนนทั้งเส้น ฯลฯ โดยใช้เวลาเก็บข้อมูลจากภาพของกล้อง CCTV นานกว่า 6 เดือน แล้วนำมาประมวลผล ส่งข้อมูลทั้งหมดไปให้ทีมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำไปวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลดิจิทัลชุดอื่นๆ เช่น ข้อมูลจากจีพีเอสของแกร็บ, ข้อมูลจากรถโดยสารสาธารณะ เป็นต้น ข้อมูลจากโครงการ “พระราม 4 โมเดล” จะเป็นประโยชน์ในการช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจวิเคราะห์ระยะเวลาการปล่อยสัญญาณไฟจราจร, พัฒนาและปรับปรุงระบบสัญญาณไฟจราจร รวมถึงการเพิ่ม-ลด ตำแหน่งทางข้าม “ในชั่วโมงเร่งด่วน ตำรวจจะเปิดปิดสัญญาณไฟจาราจร โดยการใช้ภาพที่เห็น ซึ่งเป็นภาพบริเวณนั้น แต่ไม่ใช่ภาพของถนนทั้งเส้น เพราะฉะนั้นหากมีข้อมูลที่สามารถบอกกับตำรวจได้ว่าตรงนี้ควรเปิดเท่าไหร่ ตรงนั้นควรเปิดเท่าไหร่ ด้วยการวิเคราะห์จากภาพรวม ไม่ใช่เฉพาะจุด ก็เชื่อว่าจะทำให้สภาพการจราจรดีขึ้นได้” รศ.ดร.มงคล กล่าว โครงการ “พระราม 4 โมเดล” นำทีมโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT), กระทรวงคมนาคม, กรุงเทพมหานคร และเอกชน โดยได้ทุนสนับสนุนจากมูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี้ จำนวน 50 ล้านบาท ใช้ระยะเวลา 18 เดือน ทั้งนี้ “พระราม 4 โมเดล” เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจาก “สาทรโมเดล” ที่ริเริ่มเมื่อปี 2557 และมีข้อมูลว่าสามารถบรรเทาปัญหาการจราจรได้ราว 12%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ