วว. จับมือ 4 หน่วยงานเครือข่ายภาครัฐ-เอกชน ยกระดับมาตรฐานเกษตรปลอดภัยของไทยก้าวสู่ระดับสากล เพิ่มมูลค่าสินค้าในตลาด สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค

ข่าวทั่วไป Friday July 10, 2020 16:13 —ThaiPR.net

วว. จับมือ  4  หน่วยงานเครือข่ายภาครัฐ-เอกชน  ยกระดับมาตรฐานเกษตรปลอดภัยของไทยก้าวสู่ระดับสากล  เพิ่มมูลค่าสินค้าในตลาด สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จับมือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ บริษัทโนบิทเทอร์ จำกัด (ฟาร์มผักปลอดภัยใจกลางเมือง) ร่วมยกระดับมาตรฐานเกษตรปลอดภัยของประเทศไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล ด้วยการรับรองระบบงาน ISO/IEC 17065 จาก สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. โดย สำนักรับรองระบบคุณภาพ (สรร.) ได้ดำเนินการเพิ่มศักยภาพงานบริการด้านการตรวจประเมินรับรองสินค้าเกษตร สาขาเกษตรอินทรีย์ (Organic) และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) โดยได้ขอการรับรองระบบงาน ISO/IEC 17065 กับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และได้รับการอนุมัติให้การรับรองจากคณะทบทวนการรับรองของ มกอช. แล้ว ซึ่งจะมีส่วนช่วยทำให้สินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรอง จาก สรร.วว. ในมาตรฐานการปฎิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) และเกษตรอินทรีย์ด้านพืชอาหาร สำหรับเกษตรกรของประเทศไทย ให้มีความน่าเชื่อถือในระดับสากล ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าในตลาดและสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปทั้งภายในและภายนอกประเทศ มีความตระหนักถึงความปลอดภัยและคุณภาพของสินค้าเกษตรมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรในประเทศเริ่มมีการปรับตัวและปรับเปลี่ยนสู่การผลิตเพื่อรับรองมาตรฐานเกษตรปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็น เกษตรอินทรีย์ (Organic) และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร เมื่อมีความต้องการในด้านการรับรองมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น เครื่องหมายการรับรองจึงมีความจำเป็นที่ต้องสร้างความน่าเชื่อถือ จึงเป็นที่มาในการขอการรับรองระบบงานดังกล่าว อีกทั้งอนาคตอันใกล้นี้ สรร.วว.มีแผนขยายการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ สู่การรับรองมาตรฐาน IFOAM และมาตรฐานสากลอื่นๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้ผลิตที่ส่งออกสินค้าสู่ตลาดโลก เป็นการขับเคลื่อนภาคการเกษตรของประเทศให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล “…ในการยกระดับมาตรฐานเกษตรปลอดภัยของประเทศไทยให้ก้าวสู่ระดับสากลนั้น วว. มีพันธมิตรที่ดีในการขับเคลื่อนให้การดำเนินงานบริการด้านนี้ประสบผลสำเร็จ ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ และบริษัทโนบิทเทอร์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจฟาร์มผักปลอดภัยใจกลางเมือง และเป็น 1 ในจำนวน 68 ผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรปลอดภัยจาก วว. ทั้งนี้ในอนาคตหากผู้ประกอบการ เกษตรกรของไทย ได้รับการรับรองมาตรฐานนี้มากขึ้น จะทำให้ขีดความสามารถการแข่งขันของไทยเข้มแข็งและมีความยั่งยืนยิ่งขึ้น…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว นายวิรัช จันทรา รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า วว. โดย สำนักรับรองระบบคุณภาพ ได้ขยายขอบข่ายการดำเนินงานจากการรับรองระบบการจัดการ สู่การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการ โดยมีขอบข่ายการรับรอง ทั้งสิ้น 6 ขอบข่าย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์พลาสติกสลายตัวทางชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ระบบขนส่งทางราง มาตรฐานท่องเที่ยว มาตรฐานการปฎิบติทางการเกษตรที่ดี (GAP) และเกษตรอินทรีย์ โดยทั้ง 6 ขอบข่าย วว. ได้ยื่นขอการรับรองระบบงาน ISO/IEC 17065 จากหน่วยรับรองระบบงานแห่งชาติ ได้แก่ 1.สำนักงานคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ ในขอบข่าย ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์พลาสติกสลายตัวทางชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ระบบขนส่งทางราง มาตรฐานท่องเที่ยว 2.สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ในขอบข่าย มาตรฐานการปฎิบติทางการเกษตรที่ดี (GAP) และเกษตรอินทรีย์ ซึ่งในวันนี้ วว. โดย สำนักรับรองระบบคุณภาพ ได้รับมอบใบรับรองระบบงาน ISO/IEC 17065 ขอบข่ายมาตรฐานการปฎิบติทางการเกษตรที่ดี(GAP) ด้านพืชอาหาร และเกษตรอินทรีย์ ด้านพืชอินทรีย์ จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ พร้อมนี้ วว.ได้มอบใบรับรอง GAP ให้กับ บริษัทโนบิทเทอร์ จำกัด ซึ่งเป็น 1 ใน 68 ผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองฯ จาก วว. ด้วย วว. โดย สำนักรับรองระบบคุณภาพ พร้อมให้บริการด้านตรวจประเมินและให้การรับรองแก่ผู้ประกอบการ เกษตรกร ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป เพื่อสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระดับสากล สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ โทร. 0 2577 9371 , 0 2577 9373 - 4 , 089 900 5308 โทรสาร 0 2577 9372 www.tistr.or.th E-mail : tocb@tistr.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ