รมว.กษ. มอบนโยบาย กำหนดวิสัยทัศน์ กยท. เน้นผลักดันนวัตกรรม เร่งแปรรูปสร้างมูลค่า ใช้ตลาดนำการผลิต

ข่าวทั่วไป Friday July 24, 2020 15:05 —ThaiPR.net

รมว.กษ. มอบนโยบาย กำหนดวิสัยทัศน์ กยท. เน้นผลักดันนวัตกรรม เร่งแปรรูปสร้างมูลค่า ใช้ตลาดนำการผลิต กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--การยางแห่งประเทศไทย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบาย กยท. ผลักดันนวัตกรรมยางพารา เพื่อแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม ควบคู่ตลาดนำการผลิต ในการประชุมกำหนดวิสัยทัศน์คณะกรรมการผู้บริหารระดับสูงของ กยท. ประจำปี 2563 ณ โรงแรมบัดดี้ โอเรียนทอล ริเวอร์ไซด์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า แม้ว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของโลก รวมถึงประเทศไทยจะไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเท่าที่ควร รวมไปถึงผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID - 19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่ได้แก่ จีน สหรัฐ ยุโรป แม้สถานการณ์การระบาดในไทยและหลายประเทศจะเริ่มคลี่คลายและมีสัญญาณที่ดีต่อการทดลองใช้วัคซีนในมนุษย์ แต่คาดว่าหลายประเทศคงต้องใช้เวลาในการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งอาจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งรัฐบาลไทยยังคงเดินหน้าหามาตรการช่วยเหลือประชาชน รวมไปถึงกลุ่มของเกษตรกรชาวสวนยาง เช่น โครงการประกันรายได้เกษตรกรระยะที่ 1 มาตรการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัส COVID - 19 และการประกันรายได้ระยะที่ 2 ที่กำลังจะนำเข้าเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเร็ววันนี้ นายเฉลิมชัย กล่าวถึงนโยบายการดำเนินงานของ กยท. ว่า ยางพารามีข้อได้เปรียบ คือ ไม่มีวันหมด สามารถเพิ่มปริมาณได้ภายในระยะเวลาไม่กี่ปี ในขณะที่อนาคตภาวการณ์ใช้น้ำมันมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีมาทดแทน แต่ยางพาราจะคงอยู่รอบตัวเราในชีวิตประจำวัน เพราะมีโอกาสนำยางพาราไปพัฒนาเป็นวัสดุอุปกรณ์ ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ แต่ตอนนี้ กษ. และ กยท. รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องช่วยเหลือกัน คือ การดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรให้ดีขึ้นและสามารถเดินต่อไปได้ ดังนั้น ควรเร่งสร้างความเชื่อมั่นในอาชีพการทำสวนยาง ผลักดันราคายางให้อยู่ในระดับที่คุ้มค่ากับการลงทุน กำหนดทิศทางการพัฒนายางทั้งระบบให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เกิดการวางแผนการผลิต การแปรรูป การค้า และการลงทุน ร่วมเป็นเป็นพันธมิตรกับ กยท. บูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานภายใต้กระทรวงฯ นำนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่ม มุ่งเน้นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เจาะตลาดผลิตภัณฑ์ยางเฉพาะกลุ่มหรือ Niche Market หลีกเลี่ยงตลาด Mass Product ให้เป็นไปตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้านระบบตลาดนำการผลิต เพิ่มช่องทางการขาย ลดต้นทุนการผลิต รวมถึงนำเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวช่วยยกระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมนำการผลิตเพื่อสร้างห่วงโซ่แห่งคุณค่าและมูลค่าเพิ่มมากขึ้น บรรลุวิสัยทัศน์ "ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กยท. มีบทบาทชัดเจนในเรื่องการส่งเสริมอาชีพเสริมและยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยาง การสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบกิจการยาง ตลอดจนรักษาเสถียรภาพราคายางรวมทั้งสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางพาราของโลก แม้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากวิกฤตการณ์ผลกระทบการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ซึ่งทำให้เกิดบรรทัดฐานทางสังคมใหม่หรือ new normal กยท.จำเป็นต้องเรียนรู้ เข้าใจและปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยผนวกเอานโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติยุทธศาสตร์ยาง 20 ปี และนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาผสานกับยุทธศาสตร์ของ กยท.อย่างกลมกลืน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม ด้าน นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กยท. จะพัฒนายางพาราของประเทศให้บรรลุวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ชาติ และขับเคลื่อนให้ประเทศเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา ควบคู่กันไป โดยกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นกรอบในการพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว กยท. จึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ขององค์กร โดยมี ทิศทางการพัฒนายางพาราผ่าน 5 แนวทางสำคัญ ได้แก่ การเพิ่มผลิตภาพการผลิตตลอดห่วงโซ่มูลค่า สร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันเกษตรกร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยาง ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานด้านยางพาราตลอดห่วงโซ่อุปทาน และ การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การประชุม “กำหนดวิสัยทัศน์ คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย” ในครั้งนี้ มีคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย และผู้บริหารร่วมนำเสนอข้อมูลการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ อุปสรรคปัญหา และร่วมกันพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรค การกำหนดทิศทางและนโยบายของ กยท. เพื่อการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพขององค์กรนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับราคายางที่เสถียรภาพรวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ว่าการ กยท. กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ