กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 31.00-31.40 มองบาทผันผวนต่อเนื่อง จับตาเจรจาการค้าสหรัฐ-จีน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 10, 2020 16:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.00-31.40 ต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 31.16 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วโดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือน ขณะที่ราคาทองคำในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นทำสถิติใหม่อย่างต่อเนื่อง ส่วนคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ตามคาด ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 4.4 พันล้านบาท และ 3.3 พันล้านบาท ตามลำดับ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะติดตามท่าทีของสหรัฐฯ กับจีนก่อนการเจรจาการค้าวันที่ 15 ส.ค. รวมถึงประเด็นข้อกฎหมายของคำสั่งฝ่ายบริหารซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ ลงนามเพื่อให้จ่ายสวัสดิการว่างงาน 400 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์แก่ชาวอเมริกันที่ตกงานเพราะ COVID-19 หลังจากที่สมาชิกพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันไม่สามารถตกลงกันเรื่องมาตรการกระตุ้นทางการคลัง หลังจากสัปดาห์ที่แล้วอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 5 ปี แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของโรคระบาดต่อภาวะเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงิน นอกจากนี้ ตลาดจะให้ความสนใจกับดัชนีราคาผู้บริโภคและยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ขณะที่แรงหนุนจากตัวเลขการจ้างงานอาจส่งผลให้ในภาพรวมตลาดเข้าสู่ภาวะพักฐานในช่วงสั้นๆ สำหรับปัจจัยในประเทศ เงินเฟ้อทั่วไปเดือนกรกฎาคมลดลง 0.98% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยติดลบเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อติดลบน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้และเพิ่มสูงขึ้นจากเดือนมิถุนายนตามราคาพลังงานและราคาอาหารสดที่ฟื้นตัว ขณะที่กนง.ระบุว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากตั้งแต่ต้นปีนี้รวมถึงมาตรการด้านการคลังและสินเชื่อจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวและจีดีพีไตรมาส 2/2563 อาจจะออกมาดีกว่าที่เคยประเมินไว้ แต่คาดว่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปีที่กิจกรรมโดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 นอกจากนี้ ทางการมองว่าค่าเงินบาทผันผวนสูงขึ้นตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ แต่หากเงินบาทแข็งค่าเร็วอาจพิจารณาความจำเป็นของมาตรการอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม เรามองว่ากนง.จะคงดอกเบี้ยนโยบายต่อไปและเร่งกระจายสภาพคล่องสู่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดมากขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ