สนพ. สรุปสถานการณ์พลังงาน 6 เดือนแรกของปี 2563 และเผยทิศทางพลังงานปี 63”

ข่าวทั่วไป Tuesday August 11, 2020 16:27 —ThaiPR.net

สนพ. สรุปสถานการณ์พลังงาน 6 เดือนแรกของปี 2563 และเผยทิศทางพลังงานปี 63” กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยสถานการณ์พลังงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 พบว่า ภาพรวมการใช้พลังงานขั้นต้นลดลงร้อยละ 10.1 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง เนื่องจาก ผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศหยุดชะงัก นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์พลังงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 พบว่า การใช้พลังงานขั้นต้นลดลงร้อยละ 10.1 จากการใช้น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติที่ลดลง เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ห่วงโซ่การดำเนินธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศหยุดชะงัก ในขณะที่ไฟฟ้านำเข้ามีการใช้เพิ่มขึ้นและพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สำหรับสถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิงในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 สรุปได้ดังนี้ การใช้น้ำมันสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 12.6 โดยการใช้น้ำมันดีเซลลดลงร้อยละ 4.3 เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันในช่วงเวลาดังกล่าวลดลง อีกทั้ง การลดลงของผลผลิตสินค้าเกษตรเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง จึงทำให้การขนส่งสินค้าลดลง การใช้น้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอล ลดลงร้อยละ 7.1 ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยต้องประกาศ พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด โดยภาครัฐได้ออกมาตรการที่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม การทำงานที่บ้าน (Work From Home) และลดการเดินทางข้ามจังหวัด ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินลดลง การใช้น้ำมันเครื่องบิน ลดลงร้อยละ 48.6 เนื่องจากข้อจำกัดของการอนุญาตให้ทำการบินในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเครื่องบินลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ การใช้ LPG ลดลงเกือบทุกสาขา โดยเฉพาะการใช้ในภาคขนส่ง ลดลงร้อยละ 30.2 จากการปรับลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันส่งผลให้ผู้ใช้รถยนต์ LPG บางส่วนหันมาใช้น้ำมันทดแทน ประกอบกับปริมาณรถยนต์ LPG ที่มีแนวโน้มลดลง การใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งมีสัดส่วนการใช้สูงสุดคิดเป็นร้อยละ 39 มีการใช้ลดลงร้อยละ 18.8 ส่วนภาคอุตสาหกรรม มีการใช้ลดลงร้อยละ 9.9 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และภาคครัวเรือนมีการใช้ลดลงร้อยละ 5.9การใช้ก๊าซธรรมชาติ ลดลงร้อยละ 8.5 โดยลดลงทุกสาขาเศรษฐกิจ ทั้งการใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี การใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า การใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ด้านการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) ลดลงร้อยละ 28.8 จากผู้ใช้รถยนต์ NGV บางส่วนเปลี่ยนมาใช้น้ำมัน เนื่องจากราคาอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก อีกทั้งผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การใช้ NGV ในการเดินทางลดลงการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ ลดลงร้อยละ 0.3 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวด้านการใช้ไฟฟ้า ลดลงร้อยละ 3.9 โดยลดลงในเกือบทุกสาขา โดยเฉพาะสาขาอุตสาหกรรมและธุรกิจ จากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ และภาคการท่องเที่ยว โดยกลุ่มธุรกิจหลักที่มีการใช้ไฟฟ้าลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งมีผลมาจากมาตรการ Lock Down ได้แก่ โรงแรม และห้างสรรพสินค้า อย่างไรก็ตาม ภาคครัวเรือนมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง และอุณหภูมิที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ประกอบกับมาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ และมาตรการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ยังกล่าวถึงแนวโน้มการใช้พลังงานปี 2563 ซึ่ง สนพ. ได้มีการพยากรณ์โดยอ้างอิงสมมุติฐานด้านเศรษฐกิจ และนโยบายที่เกี่ยวข้องมาเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้พลังงาน โดยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 สภาพัฒน์ฯ คาดว่าในปี 2563 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะมีการปรับตัวลดลงในช่วงร้อยละ (-5.0) – (-6.0) เนื่องจาก (1) การปรับตัวลดลงรุนแรงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก (2) การลดลงรุนแรงของจำนวน และรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ (3) เงื่อนไขข้อจำกัดที่เกิดจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้ง (4) ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจากสมมุติฐานดังกล่าว จะส่งผลให้การใช้พลังงานขั้นต้นในปี 2563 ลดลงร้อยละ 5.3 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยคาดการณ์ว่าการใช้พลังงานจะลดลงเกือบทุกประเภท โดยการใช้น้ำมันลดลงร้อยละ 14.2 การใช้ก๊าซธรรมชาติ ลดลงร้อยละ 5.4 การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ลดลงร้อยละ 1.0 ขณะที่การใช้พลังงานไฟฟ้า ในปี 2563 คาดว่าจะลดลงร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน ในกรณีที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ปรับตัวลดลงรุนแรงถึงร้อยละ (-9.0) - (-10.0) คาดว่าจะส่งผลให้การใช้พลังงานของประเทศลดลงร้อยละ 7.9 โดยการใช้น้ำมันเบนซินลดลงร้อยละ 6.3 การใช้น้ำมันดีเซล ลดลงร้อยละ 4.0 การใช้น้ำมันเครื่องบิน ลดลงร้อยละ 43.5 การใช้ LPG ลดลงร้อยละ 10.9 การใช้น้ำมันเตาลดลงร้อยละ 10.0 และการใช้ไฟฟ้าลดลงร้อยละ 3.0 อย่างไรก็ตาม สนพ. ยังคงจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และปัจจัยอื่นๆ ที่จะส่งผลต่อการใช้พลังงานของประเทศอย่างใกล้ชิด อาทิ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก มาตรการในการป้องกัน โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท กล่าวปิดท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ