โครงการฟาร์มตัวอย่าง บ้านบ่อหวี ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัด ราชบุรี ช่วยราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ข่าวทั่วไป Wednesday August 19, 2020 08:43 —ThaiPR.net

โครงการฟาร์มตัวอย่าง บ้านบ่อหวี ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัด ราชบุรี ช่วยราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--กรมส่งเสริมการเกษตร โครงการฟาร์มตัวอย่าง บ้านบ่อหวี ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัด ราชบุรี ช่วยราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานโครงการฯ แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพให้มีรายได้และพึ่งพาตนเอง รวมทั้งมีความรู้จากการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ มีแหล่งอาหารให้กับตนเอง ครอบครัว และชุมชนอย่างยั่งยืน โดยทรงพระราชทานให้โครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ณ บ้านบ่อหวี ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัด ราชบุรี เป็นสถานที่ดำเนินการเพื่อเป็นแหล่งศึกษาดูงานของเกษตรกรและประชาชนโดยทั่วไป สำหรับโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ บ้านบ่อหวี สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหนึ่งในหน่วยงานภาครัฐ ที่ได้ร่วมสนองพระราชดำริ ด้วยการจัดทำแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่บนพื้นที่ 30 ไร่ ด้วยการปรับระบบการบริหารจัดการน้ำทั้งอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรของพื้นที่แบบลงตัว มีการวางระบบพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่เพื่อลดต้นทุนในการปรับสภาพพื้นที่เช่น ที่ดอนมีการปรับใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชยืนต้นหรือพืชไร่ ที่ราบลุ่มปลูกพืชผัก และพืชที่ต้องการน้ำมากในการเจริญเติบโต และที่ลุ่มต่ำปลูกพืชที่ใช้น้ำมาก เช่น นาข้าว และพืชผัก พร้อมวางพื้นที่สูงใช้เป็นที่อยู่อาศัย มีการปรับปรุงบำรุงดินที่อิงธรรมชาติ เป็นหลักด้วยการใช้วัสดุที่มีอยู่ในพื้นที่มาใช้ เช่น วัสดุทางการเกษตรประเภทกิ่งไม้ ต้นไม้ ที่เกิดจากการตัดแต่งกิ่งมาผสมกับน้ำหมักชีวภาพ ตลอดทั้งการจัดทำกองปุ๋ยหมักจากใบไม้ ไม่มีการนำสารเคมีเข้ามาเป็นตัวช่วยเพื่อปรับปรุงดินและบำรุงต้นพืช มีการปลูกพืชผักด้วยการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้ เช่น ปลูกพืชผักตามฤดูกาลที่เหมาะสม มีการปลูกเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์สำหรับใช้ปลูกในรุ่นต่อไปเพื่อลดต้นทุนการผลิต ผักที่ปลูกเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของพื้นที่เพื่อลดการระบาดของแมลงศัตรูพืช และคำนึงถึงความต้องการของตลาดในละแวกใกล้เคียงเพื่อลดต้นทุนด้านการขนส่ง พร้อมส่งเสริมสนับสนุนวิทยากรพัฒนาการทำการเกษตร อาทิ การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามความเหมาะสมของพื้นที่ การรวมกลุ่มทำการผลิต วิธีการปลูกผัก จัดทำแปลงเพาะปลูกฟ้าทะลายโจร ไม้ผล ไม้ยืนต้น การเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เลี้ยงหมูหลุม การเลี้ยงใส้เดือน ให้กับราษฎรที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 50 ราย ภายใต้การประยุกต์ใช้ทฤษฎีใหม่กับภูมิปัญญาท้องถิ่น แบบเกษตรอินทรีย์สอดคล้องกับธรรมชาติของพื้นที่นั้นๆ รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่เนื้อ ไก่ไข่อารมณ์ดี เพื่อบริโภคในครัวเรือนเหลือนำไปขายด้วยการสร้างกรงเลี้ยงล้อมแปลงปลูกพืชยืนต้นเพื่อให้ไก่กินแมลงและหญ้าในแปลงเพาะปลูก พร้อมแพะ และ หมูหลุม โดยใช้พืชและเศษผักที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือนเป็นอาหารแพะและหมู คอกหมูใส่แกลบดิบรองพื้นเมื่อครบรอบเลี้ยงนำมูลหมูผสมแกลบมาเป็นปุ๋ยใส่แปลงเพาะปลูกเพื่อบำรุงต้นพืช โดยมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 50 คน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นราษฎรผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเป็นผู้ที่ถูกเลิกจ้างงานเนื่องจากธุรกิจหยุดกิจการแล้วเดินทางกลับจากกรุงเทพมหานคร และมีภูมิลำเนาในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ทั้งนี้ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน มีความประสงค์ที่จะให้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 และมีแรงบันดาลใจที่จะปรับเปลี่ยนอาชีพมาทำการเกษตรมากขึ้น หลังจากเข้าร่วมโครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัยโควิด-19 ซึ่งจะส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ พร้อมกันนี้ทางโครงการฯ ยังได้ส่งเสริมให้ราษฎรที่เข้าร่วมโครงการเหล่านี้ปลูกต้นฟ้าทะลายโจร ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรไทยที่กำลังเป็นที่ต้องการในการป้องกันโรคโควิด-19 อีกด้วย นับเป็นอีกหนึ่งของโครงการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และส่งเสริมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการต่อยอดอาชีพใหม่ที่สามารถพึ่งพาตนเอง ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นอย่างดี สำหรับโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ บ้านบ่อหวีนั้น ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ ด้วยการศึกษาและพัฒนาพื้นที่หมู่บ้านในบริเวณใกล้เคียงของโครงการฯ ด้วยการนำผลสำเร็จในการดำเนินงานของศูนย์ฯ ไปขยายผลพร้อมทั้งนำราษฎรในพื้นที่เข้ามาทำงานภายในโครงการฯ เพื่อให้ได้เรียนรู้แนวทางในการประกอบอาชีพที่เหมาะสมของพื้นที่ไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเอง และระหว่างการปฏิบัติงานก็มีรายได้จากการจ้างงานของโครงการฯ อีกด้วย ขณะเดียวกันก็เป็นสถานที่เรียนรู้ของประชาชนในพื้นที่และประชาชนทั่วไป โดยการสร้างกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติในฟาร์มให้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรที่อยู่ในพื้นที่โครงการฯ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และจิตวิทยา ตลอดถึงสนับสนุนอาชีพ สร้างแรงงานและสร้างรายได้ให้กับราษฎรอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเป็นแหล่งผลิตอาหาร และขยายผลสู่การค้า ที่ไม่เน้นผลกำไร เพียงแต่ให้มีกินมีใช้อย่างเพียงพอของราษฎรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงเป็นสำคัญ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ