เกษตรฯ 'ไทย-เยอรมนี' ร่วมมือด้านการเกษตร สร้างโอกาสในการเรียนรู้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ระบบการผลิต แปรรูป กระจายสินค้า การตลาด จนถึงผู้บริโภค

ข่าวทั่วไป Thursday August 27, 2020 12:59 —ThaiPR.net

เกษตรฯ 'ไทย-เยอรมนี' ร่วมมือด้านการเกษตร สร้างโอกาสในการเรียนรู้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ระบบการผลิต แปรรูป กระจายสินค้า การตลาด จนถึงผู้บริโภค กรุงเทพฯ--27 ส.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกร์ เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามปฏิญญาร่วมแสดงเจตจำนง (Joint Declaration of Intent : JDI) ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงอาหารและเกษตรสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า การจัดงานในครั้ง เป็นผลสืบเนื่องจากการประชุม Global Forum for Food and Agriculture หรือ GFFA ครั้งที่ 12 ณ กรุงเบอร์ลิน และได้มีการหารือระดับสูงระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กับผู้บริหารของกระทรวงอาหารและเกษตรฯ เยอรมนี ทำให้ได้รายละเอียดโครงการความร่วมมือระยะเวลา 3 ปี ระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงาน GFA Consulting Group ซึ่งเป็นเอกสารที่เรียกว่า Implementation Agreement โครงการดังกล่าวจึงถือเป็นกลไกที่จะทำให้ความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายเกิดประโยชน์กับเกษตรกรในพื้นที่แปลงใหญ่และเกษตรกรรายย่อย ทำให้สามารถเรียนรู้การบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทานอาหาร และสามารถนำเอาระบบบริการส่งเสริมการเกษตรไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตรของไทยแล้ว ยังเป็นการพัฒนาบุคลากรของกระทรวงเกษตรฯ ด้านการต่างประเทศอีกทางหนึ่งด้วย "การร่วมมือกันในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอาหารและเกษตรสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จะเริ่มดำเนินความร่วมมือแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม และขอชื่นชมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและเยอรมนีที่ทำงานกันอย่างหนัก ที่ร่วมกันประชุมหารือ และสำรวจพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการความร่วมมือด้านการเกษตรในระยะแรก โดยเฉพาะในพื้นที่แปลงใหญ่ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งในด้านการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน การลดต้นทุนการผลิต และการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรไทย ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงาน GFA พร้อมที่จะเริ่มดำเนินโครงการความร่วมมือภายในเดือนกันยายนนี้ และหวังว่าไทยและเยอรมนี จะใช้กรอบนี้ในการขยายความร่วมมือด้านการเกษตรในสาขาอื่น ๆ ที่สนใจร่วมกันในอนาคตต่อไป” นายเฉลิมชัย กล่าว สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากการทำความร่วมมือในครั้งนี้ คือ 1) เกิดประโยชน์ต่อการสนับสนุนโครงการความร่วมมือทวิภาคีเพื่อส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพในประเทศไทย สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตร โดย JDI จะเป็นกรอบในการดำเนินความร่วมมือในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่อาจมีความร่วมมือขึ้นในอนาคต โดยทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ 2) ประโยชน์ของการจัดทำความร่วมมือภายใต้ความตกลง IA – กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมส่งเสริมการเกษตร กับ GFA Consulting Group GmbH สามารถพัฒนาบุคลากรด้านการต่างประเทศในลักษณะ On the Job Training (OJT) ในประเทศไทยเอง เป็นการสร้างโอกาสให้แก่คนรุ่นใหม่ที่สนใจทำการเกษตร นอกจากนี้ การทำความร่วมมือดังกล่าว จะก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐสามารถร่วมกันคิดวิเคราะห์ ให้ข้อเสนอ รวมถึงสามารถสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างหน่วยงาน เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบบริการส่งเสริมการเกษตร ระบบการเงิน ระบบการสนับสนุนความช่วยเหลือ ตลอดจนการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาพื้นที่เกษตรกรจากพื้นที่แปลงใหญ่ นอกจากนี้ เกษตรกรรายย่อย ยังสามารถเรียนรู้การบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ระบบการผลิต แปรรูป กระจายสินค้า การตลาด จนถึงผู้บริโภค โดยมีการนำเอาระบบบริการส่งเสริมการเกษตรเข้ามาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกษตรกรรายย่อยสามารถนำเอา (Apply) ระบบการผลิตที่ทันสมัยและการทำธุรกิจที่ดี (modern production and business practices) มาใช้ในการทำการเกษตรได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ