“ครูกัลยา” ลงพื้นที่วิทยาลัยเกษตรฯ ร้อยเอ็ด เปิดอบรมโครงการบริหารจัดการน้ำ ดึงนักเรียน 5 วิทยาลัยฯ นำร่อง 87 คน ติวเข้ม สร้าง “ชลกร”

ข่าวทั่วไป Monday August 31, 2020 09:14 —ThaiPR.net

“ครูกัลยา” ลงพื้นที่วิทยาลัยเกษตรฯ ร้อยเอ็ด เปิดอบรมโครงการบริหารจัดการน้ำ ดึงนักเรียน 5 วิทยาลัยฯ นำร่อง 87 คน ติวเข้ม  สร้าง “ชลกร” กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--กระทรวงศึกษาธิการ “คุณหญิงกัลยา” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ”ภูมิสรรค์” ที่ปรึกษารัฐมนตรี พร้อมคณะลงพื้นที่วิทยาลัยเกษตรร้อยเอ็ด เปิดอบรมโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ดึงนักเรียน 5 วิทยาลัยฯ นำร่อง จำนวน 87 คน ติวเข้ม สร้าง “ชลกร” ถ่ายทอดหลักสูตรบริหารจัดการน้ำ พร้อมขยายผลสู่ชุมชน เร่งแก้ปัญหาภัยแล้ง แก้จน ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบาย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) ลงพื้นที่เปิดโครงการอบรมการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชุน ตามแนวพระราชดำริ ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด ระหว่างวันที่ 26-27 สิงหาคม 2563 โดยมีผู้เข้าอบรมจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั้ง 5 แห่ง ได้แก่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี จำนวนรวมทั้งสิ้น 87 คน สำหรับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั้ง 5 แห่งนี้ ได้รับงบประมาณสนับสนุนในการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดิน และบุคลากรได้รับความรู้ตามโครงการอบรมการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งจะช่วยให้สถานศึกษาสามารถบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง ในขณะเดียวกัน ครู นักเรียนนักศึกษา หน่วยงานภาครัฐและชุมชน จะเป็นผู้มีความรู้ เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการน้ำ สามารถนำความรู้ไปขยายผลในสถานศึกษา รวมทั้งขยายผลสู่ชุมชนได้ เพื่อช่วยให้ชุมชนมีน้ำเพียงพอต่อการทำการเกษตรตลอดทั้งปี และยังสามารถป้องกันปัญหาน้ำท่วมในช่วงหน้าฝนได้อีกด้วย ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า น้ำเป็นหนึ่งในทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญมาก เปรียบเสมือหัวใจหลักในด้านการเกษตรและเป็นหัวใจหลักสำหรับทุกชีวิตบนโลก การบริหารจัดการน้ำให้มีความเหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในภาคการเกษตรยิ่งมีความจำเป็นอย่างมาก ถ้าหากขาดน้ำ การทำการเกษตรและงานฟาร์มต่าง ๆ ย่อมเสียหายและไม่ได้ผลเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้นนักเรียนที่เข้ารับการอบรม โดยเฉพาะนักเรียนที่เป็นชลกรจะเป็นกำลังสำคัญในการบริหารจัดการน้ำในชุมชนในอนาคตต่อไป โดยชุมชนต้องมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้อย่างยั่งยืน สำหรับโครงการดังกล่าว จะดำเนินการจัดธนาคารน้ำใต้ดิน ซึ่งประกอบด้วย 8 กิจกรรม ได้แก่ 1. ขุดบ่อธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ขนาด 1X1X1 เมตร จำนวน 1,500 บ่อ 2. ขุดบ่อธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ขนาด 2X2X2 เมตร จำนวน 100 บ่อ 3. ขุดบ่อธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดด้วยการเจาะ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 60 เซนติเมตร ลึก 3 เมตร จำนวน 300 บ่อ 4. ขุดบ่อระบบเปิด (บ่อใหม่) จำนวน 2 บ่อ 5. แก้ไขบ่อน้ำเก่าให้เป็นบ่อธนาคารน้ำใต้ดิน จำนวน 7 บ่อ 6. ขุดลอกบ่อน้ำเก่า จำนวน 14 บ่อ 7. ขุดบ่อมหัศจรรย์ทูอินวัน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร ลึก 12 เมตร จำนวน 13 บ่อ และ 8. ห้องปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ พร้อมกันนี้ ดร.คุณหญิงกัลยา ได้เยี่ยมชมโรงเรียนขี้เหล็กเขียวไพรวัลย์วิทยา จังหวัดร้อยเอ็ดซึ่งเป็นโรงเรียนที่ได้นำแนวทางพระราชดำริหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาบูรณาการในการจัดการเรียนการสอน แต่ยังขาดแคลนในเรื่องของระบบน้ำในการทำการเพาะปลูก และทำเกษตรแบบครบวงจร จึงได้รับความรู้จากโครงการบริหารจัดการน้ำ การจัดทำบ่อเติมน้ำใต้ดินระบบปิด และชลกรจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด นำหลักสูตรชลกรมาขยายผลสู่ชุมชนและสถานศึกษา เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ให้มีน้ำใช้ในการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ