กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า อพวช. 3 ก.ย. นี้ ทรงเปิดนิทรรศการสายน้ำและชีวิต : มหานทีและวิถีชนแห่งเอเชีย-แปซิฟิก

ข่าวทั่วไป Tuesday September 1, 2020 11:05 —ThaiPR.net

กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า อพวช. 3 ก.ย. นี้ ทรงเปิดนิทรรศการสายน้ำและชีวิต : มหานทีและวิถีชนแห่งเอเชีย-แปซิฟิก กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เดินทางมาตรวจเยี่ยมและร่วมประชุมการเตรียมความพร้อมสำหรับพิธีเปิดนิทรรศการสายน้ำและชีวิต : มหานทีและวิถีชนแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เทคโนธานี ต.คลองห้า จ.ปทุมธานี จากนั้น ดร.เอนก ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 3 ก.ย.นี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดนิทรรศการสายน้ำและชีวิต : มหานทีและวิถีชนแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ณ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า อพวช. เวลา 14.30 น. โดยได้สั่งการให้ อพวช. เตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อให้การรับเสด็จฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ปลอดภัยสูงสุด และสมพระเกียรติมากที่สุด ด้าน ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.อพวช. กล่าวว่า “นิทรรศการสายน้ำและชีวิต : มหานทีและวิถีชนแห่งเอเชีย-แปซิฟิก จะถ่ายทอดเรื่องราวความหลากหลายทางธรรมชาติและความสัมพันธ์ของมนุษย์กับ แม่น้ำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเพราะแม่น้ำคือสายธารที่กำเนิดจาก ยอดเขา และไหลเรื่อยลงมาสู่หุบเขาและที่ราบ ความงดงามของแม่น้ำแต่ละสายเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างแม่น้ำกับแผ่นดิน จากแหล่งกำเนิดถึงปากแม่น้ำ จากฝั่งน้ำสู่ฝั่งน้ำ โดยเรื่องราวเหล่านี้จะถูกถ่ายทอดผ่านภาพถ่ายและตัวอย่างของสิ่งมีชีวิต วัตถุวัฒนธรรม และสิ่งจำลองที่เกี่ยวข้อง โดยเราได้คัดสรรแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตและผู้คนในลุ่มแม่น้ำ 9 สายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วยแม่น้ำคงคา แม่น้ำแยงซีเกียง แม่น้ำพรหมบุตร แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำโขง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเมอร์เรย์-ดาร์ลิง แม่น้ำเซปิค และแม่น้ำฟลาย ซึ่งแม่น้ำทั้ง 9 สายนี้มีผู้คนหนาแน่นที่รับประโยชน์จากพื้นที่ลุ่มน้ำ และเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ในเวลาเดียวกัน แม่น้ำเหล่านี้กำลังถูกคุกคามจากผู้คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่” ต่อมา ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก มอบนโยบายในการดำเนินงานให้กับผู้บริหาร อพวช. ว่า ได้ให้ อพวช. ทำการค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลจัดทำประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ของประเทศไทย และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เยาวชนเกิดฉันทะ โดยเฉพาะการนำนิสิต นักศึกษามาเรียนรู้และร่วมกิจกรรมที่ อพวช. เพื่อให้เยาวชนได้ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ โดยตนจะหางบประมาณมาสนับสนุน รวมถึงจัดหลักสูตรอบรมที่จะสามารถทำให้คนมีความรอบรู้เชิงวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะกับผู้บริหารของหน่วยงานต่างๆ และการส่งเสริมให้ชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการศึกษาข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่นหรือที่เรียกว่า วิทยาศาสตร์พลเมือง (Citizen Science ) นั่นเอง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ