แปลงใหญ่ไผ่ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา รางวัลชนะเลิศ ระดับเขต ปี 2563

ข่าวทั่วไป Tuesday September 1, 2020 11:57 —ThaiPR.net

แปลงใหญ่ไผ่ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา รางวัลชนะเลิศ ระดับเขต ปี 2563 กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--กรมส่งเสริมการเกษตร นายดำรงฤทธิ์ หลอดคำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยองเปิดเผยว่า การประกวดแปลงใหญ่ประจำปี 2563 ของพื้นที่ 9 จังหวัดภาคตะวันออก คณะกรรมการได้พิจารณาให้แปลงใหญ่ไผ่ อำเภอท่าตะเกียบ ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับเขต สำหรับแปลงใหญ่ไผ่อำเภอท่าตะเกียบนั้นอยู่ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ซึ่งประสบปัญหาช้างป่าทำลายพืชผลทางการเกษตร ซึ่งมีช้างป่าอาศัยและหากินจำนวนมาก แปลงเพาะปลูกพืชของเกษตรกร จึงมักถูกช้างป่าลงมากินและทำลายเสียหายอย่างต่อเนื่องเป็นวงกว้าง เกษตรกรในพื้นที่จึงปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่ช้างชอบกินมาเป็นพืชอื่นๆ ทดแทน ไผ่ตงจึงเป็นพืชทางเลือกชนิดหนึ่งที่เกษตรกรเลือกนำมาปลูก เนื่องจากไผ่ในป่าธรรมชาติมีปริมาณมากที่ช้างสามารถหากินได้ ไผ่ตงที่เกษตรกรนำมาปลูกจึงไม่เป็นเป้าหมายในการลงมาหากินของช้าง ได้รับผลกระทบบางส่วน ก็มีการขายลำไผ่ ไปเพื่อเป็นการผลิตเฟอร์นิเจอร์ และเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อนำไปจำหน่ายได้ ขณะเดียวกันในการดูแลบำรุงรักษาก็ไม่ซับซ้อนจึงมีเกษตรกรในพื้นที่จำนวนมากหันมาปลูกไผ่ตง และเพื่อการเข้าถึงมาตราการในการส่งเสริมและสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ เกษตรกรจึงรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ไผ่อำเภอท่าตะเกียบขึ้น เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561 โดยมีนายประสิทธิ์ รูปต่ำ เป็นประธาน ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 40 ราย มีพื้นที่ปลูก 352 ไร่ เป็นการเพาะปลูกในรูปแบบรวมกลุ่มร่วมกันผลิตเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พร้อมพัฒนาคุณภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด บริหารจัดการแปลงอย่างมีส่วนร่วมและรวมกันขาย มีการพัฒนาแบบเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่การผลิตตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” จนสามารถสร้างอำนาจต่อรองด้านราคาของผลผลิตกับพ่อค้าคนกลางได้ สามารถสร้างรายได้เกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน นายประสิทธิ์ รูปต่ำ เป็นเกษตรกรที่นำไผ่ตงสายพันธุ์ “ศรีปราจีน” มาปลูกในพื้นที่อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นคนแรก โดยเริ่มต้นปลูกจำนวน 200 กอ เมื่อไผ่เริ่มแทงหน่อจึงตัดหน่อไปขายในชุมชน พร้อมผลิตกิ่งพันธุ์ขายและแจกจ่ายให้แก่เพื่อนบ้านที่สนใจนำไปปลูก ซึ่งการปลูกนั้นในพื้นที่ 1 ไร่ เกษตรกรจะสามารถปลูกไผ่ตงได้ประมาณ 48 - 52 ต้น ผลผลิตที่ออกมาสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี เป็นผลทำให้เกษตรกรหลายรายในพื้นที่หันมาปลูกไผ่ตงมากขึ้น และเกิดการรวมตัวกันจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกไผ่อำเภอท่าตะเกียบ” ขึ้นในปี 2561 เพื่อให้สามารถเข้าถึงการให้การช่วยเหลือจากส่วนงานภาครัฐ ทั้งด้านวิชาการเทคโนโลยีและการตลาด และได้เข้าร่วม “โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่” โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นเจ้าภาพหลัก และได้ผ่านการรับรองเป็นแปลงส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จังหวัดฉะเชิงเทรา (Single Command) และนายประสิทธิ์ รูปต่ำ เป็นผู้จัดการและประธานแปลงใหญ่ไผ่อำเภอท่าตะเกียบในเวลาต่อมา ซึ่งการดำเนินการตามแนวทาง “การตลาดนำการผลิต” นั้นทางกลุ่มได้มีการทำ MOU กันระหว่างแปลงใหญ่ไผ่กับตลาดไท ได้ส่งผลผลิตออกไปจำหน่ายยังตลาดผักร่วมใจ (GAP) ตลาดไท จังหวัดปทุมธานี ตลาดศรีเมือง จังหวัดราชบุรี ตลาดปฐมมงคล จังหวัดนครปฐม หากมีจำนวนมาก จะส่งไปที่ตลาดสี่มุมเมือง จังหวัดปทุมธานี และตลาดในจังหวัดสระบุรี พร้อมทั้งห้างสรรพสินค้าโดยทางกลุ่มจะส่งผลผลิตไปจำหน่ายกับบริษัทสยามแม็คโครด้วย และส่งสินค้าไปยังศูนย์กระจายสินค้าพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อให้ทางศูนย์ฯ กระจายต่อไปยังห้างแม็คโครสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมส่งตรงให้กับห้างแม็คโคร สาขาฉะเชิงเทรา และนครนายก อีกด้วย นอกจากนี้ทางกลุ่มยังมีการแปรรูปผลผลิตเป็นหน่อไม้ต้ม เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าซึ่งเป็นที่ต้องการของลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายใต้แบรนด์สินค้าแปลงใหญ่ ซึ่งผลผลิตของสมาชิกทางกลุ่มจะรับซื้อทั้งหมดเพื่อนำไปกระจายในตลาดดังกล่าว โดยเกษตรกรจะส่งผลผลิตหน่อไผ่ตง ณ ที่ทำการกลุ่มแปลงใหญ่ไผ่อำเภอท่าตะเกียบ “การประกวดแปลงใหญ่ ก็มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถการดำเนินงานโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ที่เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน เป็นการคัดเลือกแปลงใหญ่ที่มีผลงานดีเด่นให้เป็นตัวอย่างในการขยายผลการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ในพื้นที่อื่น ๆ รวมถึงเผยแพร่เกียรติคุณ และผลงานของแปลงใหญ่ดีเด่นสู่สาธารณะ โดยการประกวดจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับจังหวัด ระดับเขต และระดับประเทศ ทั้งนี้แปลงใหญ่ที่เข้าร่วมประกวด ต้องเป็นแปลงที่เข้าร่วมโครงการในปี 2561 หรือที่เรียกว่า แปลงใหญ่ปีที่ 3 ต้องมีผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการตรวจสอบย้อนหลังได้อย่างน้อย 2 ปี ภายใต้หลักเกณฑ์การพิจารณาด้านแผนและปัจจัยการนำเข้า การดำเนินการและผลตามกิจกรรม ผลลัพธ์ การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ รวมถึงความยั่งยืน “นายดำรงฤทธิ์ หลอดคำ กล่าว ซึ่งการประกวดนี้ นับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในขบวนการผลิตของเกษตรกร เกษตรกรเกิดการรวมกลุ่มมีการปรับโครงสร้างการผลิตที่ทันต่อสถานการณ์อย่างเป็นการปัจจุบัน สามารถลดต้นทุนการผลิตได้อย่างเป็นรูปธรรมด้วยสามารถเข้าถึงวิทยาการ เทคโนโลยีที่หน่วยงานภาครัฐส่งเสริมและสนับสนุน ทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ได้มากขึ้น ได้มาตรฐานตรงกับความต้องการของตลาด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ