สังเกตตัวเองสักนิด... ว่ามีอาการไทรอยด์เป็นพิษหรือเปล่า

ข่าวทั่วไป Tuesday September 15, 2020 16:58 —ThaiPR.net

สังเกตตัวเองสักนิด... ว่ามีอาการไทรอยด์เป็นพิษหรือเปล่า กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--โรงพยาบาลรามคำแหง “ไทรอยด์” เป็นต่อมไร้ท่อชนิดหนึ่งในร่างกายทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ควบคุมอุณหภูมิร่างกาย เผาผลาญสารอาหาร กระตุ้นการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดรวมทั้งควบคุมการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ทั่วร่างกาย ต่อมไทรอยด์จึงมีความสำคัญไม่แพ้อวัยวะอื่นๆ เลยนะครับ สาเหตุที่ทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติเป็นไปได้หลายสาเหตุ แต่หลักๆ จะมาจากพันธุกรรม คือคนในครอบครัวเคยมีประวัติการรักษาเกี่ยวกับอาการไทรอยด์ผิดปกติ และอาจเกิดจากร่างกายสร้างภูมิต้านบางอย่างไปกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติไป ดังนั้นเมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ จึงส่งผลให้ทุกระบบแปรปรวน ทั้งร่างกาย จิตใจ และสมอง โดยเฉพาะต่อประสาทการทำงานอัตโนมัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ โดยแบ่งความผิดปกติออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มอาการไทรอยด์ที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน แบ่งออกเป็นต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนมากเกินไป ทำให้เกิดโรคไทรอยด์เป็นพิษ และต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนน้อยเกินไปทำให้เกิดโรคไทรอยด์ต่ำกลุ่มที่มีภาวะต่อมไทรอยด์โตหรือมีก้อนตรงบริเวณต่อมไทรอยด์ มีอาการคอโต คอพอก *ถ้าระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูงมากเกินไปหรือไทรอยด์เป็นพิษ จะทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก หิวบ่อยกินจุแต่น้ำหนักลด นอนไม่หลับ บางคนถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้นวันละ 2-3 ครั้ง ในผู้หญิงประจำเดือนอาจมาน้อยลง ส่วนผู้ชายจะมีอาการกล้ามเนื้อขาและแขนส่วนต้นอ่อนแรง ตัวเหลือง ตาเหลือง ผู้ที่ต่อมไทรอยด์เป็นพิษรุนแรงอาจมีอาการของภาวะหัวใจล้มเหลวได้ *แต่ถ้าฮอร์โมนไทรอยด์น้อยเกินไป อาการก็จะตรงข้าม เช่น เฉื่อยชา ขี้เกียจ ง่วง ซึมเศร้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริวง่าย ในผู้หญิง และในรายที่อาการรุนแรงมากอาจพบน้ำอยู่ในช่องปอด ช่องหัวใจ *กรณีที่เป็นก้อนเนื้อหรือคอโต คอพอก จะเกิดความผิดปกติที่เห็นได้ชัดจากภายนอกอยู่แล้ว บางคนอาจเจ็บบริเวณก้อน เวลานอนหายใจลำบาก กลืนลำบาก ส่วนการรักษาต่อมไทรอยด์ผิดปกติ ในผู้ที่มีภาวะต่อมไทรอยด์โต ควรติดตามอาการด้วยการอัลตร้าซาวด์ไทรอยด์ ร่วมกับการตรวจก้อนมะเร็งไทรอยด์ หากไทรอยด์เป็นพิษ สามารถรักษาได้ด้วยการให้ยายับยั้งการสร้างฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ กลืนน้ำแร่รังสี หรือการผ่าตัด หากต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนน้อย แพทย์จะให้ฮอร์โมนไทรอยด์ชดเชยที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นได้ เมื่อชดเชยฮอร์โมนได้เพียงพอร่างกายจะกลับสู่ภาวะปกติ แต่ที่สำคัญคือจะต้องชดเชยฮอร์โมนให้อยู่ในระดับปกติไปตลอดชีวิต โรคที่เกี่ยวกับการทำงานของต่อมไทรอยด์ สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เราจึงจำเป็นต้องหัดสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเรา ว่ามีอาการที่คล้ายกับไทรอยด์เป็นพิษ ไทรอยด์บกพร่องหรือไม่ หากเริ่มมีอาการผิดปกติหรือไม่มั่นใจก็ควรมาพบแพทย์จะดีที่สุด ซึ่งปัจจุบันการตรวจหาความผิดปกติของโรคกลุ่มไทรอยด์ทำได้ง่าย เพียงแค่ตรวจเลือด รอเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็รู้ผลแล้ว นอกจากนี้การตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ ก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยคัดกรองว่าเรามีอาการเกี่ยวกับก้อนเนื้อในต่อมไทรอยด์, มะเร็งไทรอยด์, คอพอกหรือไม่…
แท็ก มิร่า  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ