คณะกรรมการบอร์ดบริหาร เยี่ยมชม ติดตามการดำเนินงาน วว. ณ จังหวัดเพชรบุรี โครงการพัฒนาเครื่องล้างทำความสะอาดละมุด & เตาชีวมวลเพื่อเคี่ยวน้ำตาลโตนด

ข่าวทั่วไป Thursday September 17, 2020 09:37 —ThaiPR.net

คณะกรรมการบอร์ดบริหาร เยี่ยมชม ติดตามการดำเนินงาน วว. ณ จังหวัดเพชรบุรี โครงการพัฒนาเครื่องล้างทำความสะอาดละมุด & เตาชีวมวลเพื่อเคี่ยวน้ำตาลโตนด กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โชว์ความสำเร็จการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตอบโจทย์ แก้ปัญหา พัฒนาศักยภาพเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผ่านโครงการพัฒนาเครื่องล้างทำความสะอาดละมุด มีประสิทธิภาพในการล้างละมุดได้ครั้งละ 50 กิโลกรัม และโครงการพัฒนาเตาชีวมวลเพื่อเคี่ยวน้ำตาลโตนด สามารถลดปริมาณเชื้อเพลิงได้มากกว่าร้อยละ 50 ของการใช้เชื้อเพลิงเดิม รศ.ดร.จักษ์ พันธุ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายสำราญ รอดเพชร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ดร.พสุ โลหารชุน ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) พร้อมคณะกรรมการบริหาร วว. เยี่ยมชมและติดตามการดำเนินงานของ วว. ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี โอกาสนี้ คณะผู้บริหารและบุคลากร วว. ร่วมให้การต้อนรับ พร้อมนำชมความสำเร็จการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ซึ่งเข้าไปช่วยตอบโจทย์และเพิ่มศักยภาพให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 ณ จังหวัดเพชรบุรี ดังนี้ โครงการการพัฒนาเครื่องล้างทำความสะอาดละมุด ( ณ สวนลุงน้อย เกษตรกรดีเด่น ปี 2555) โดยเกษตรกรประสบปัญหาความล่าช้าในกระบวนการผลิตละมุดเพื่อการค้า โดยเฉพาะในขั้นตอนการล้างทำความสะอาดละมุด ซึ่งจำเป็นต้องใช้วิธีการแบบภูมิปัญญาชาวบ้านโดยการนำละมุดบรรจุลงในถุงตาข่าย จากนั้นนำไปแช่ในถังน้ำ และใช้เครื่องจักรต้นแบบที่ทางเกษตรกร (นายสุริยะ ชูวงศ์หรือลุงน้อย) ประดิษฐ์ขึ้นเอง โดยการออกแบบให้มีกลไกช่วยดึงตาข่ายขึ้น-ลง สลับซ้าย-ขวา ในการทำความสะอาดละมุด แต่เครื่องจักรต้นแบบนี้ยังมีข้อจำกัดอีกหลายประการ เช่น มีความไม่ปลอดภัยขณะใช้งาน เนื่องจะระบบมอเตอร์และชุดส่งกำลังติดตั้งบนพื้นปูน อาจเกิดอันตรายกับผู้ที่เดินผ่านไปมาได้ และเครื่องล้างละมุดต้นแบบเดิมสามารถล้างละมุดได้ในปริมาณน้อย ประมาณ 20 กิโลกรัมต่อครั้ง มีระบบการทำงานค่อนข้างซับซ้อน ต้องใช้พื้นที่กว้างสำหรับติดตั้งเครื่องจักร และไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ดังนั้น วว. จึงได้พัฒนาเครื่องล้างทำความสะอาดละมุด ที่มีประสิทธิภาพในการล้างละมุดได้ครั้งละ 50 กิโลกรัม โดยผลผลิตไม่เกิดการแตกช้ำเสียหาย มีระบบการทำงานไม่ซับซ้อน ใช้พื้นน้อยในการติดตั้งเครื่องจักรและสามารถเคลื่อนย้ายได้ หลักการทำงานของเครื่องล้างทำความสะอาดละมุด มีดังนี้ โดยการเติมน้ำลงในถังประมาณ 3/4ของถังน้ำ จากนั้นนำละมุดบรรจุใส่ในตาข่าย ประมาณ 50 กิโลกรัมต่อครั้ง แล้วผูกเชือกบริเวณหัวและท้ายตาข่าย แล้วนำมาแช่ในถังน้ำ โดยนำปลายเชือกที่ผูกหัวและท้ายตาข่ายทั้ง 2 ด้าน แขวนเข้ากับตะขอ จากนั้นเปิดสวิทช์ เริ่มการทำงาน โครงการการพัฒนาเตาชีวมวลเพื่อเคี่ยวน้ำตาลโตนด โดย กลุ่มอนุรักษ์ตาลโตนดเพชรบุรี เดิมกิจกรรมหลักของกลุ่มคือเคี่ยวน้ำตาลโตนด ปัจจุบันกลุ่มได้เพิ่มกิจกรรมมากขึ้นด้วยการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร ได้แก่ กล้วย สับปะรด เผือก โดยการนำมากวนและทอด ซึ่งใช้ความร้อนจากแก๊สหุงต้ม ไม้ฟืนและถ่านในปริมาณมาก เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว วว. ได้พัฒนาเตาชีวมวลที่มีขนาดเหมาะสมกับกิจกรรมของกลุ่ม เพื่อให้ใช้ชีวมวลเหลือทิ้งทางการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิง เช่น ก้านตาลโตนด โดย วว. ได้พัฒนาเตาชีวมวล ที่มีขนาดสูง 60 เซนติเมตร กว้าง 70 เซนติเมตร และยาว 140 เซนติเมตร พื้นที่ใช้งาน 2 พื้นที่ เส้นผ่าศูนย์กลางพื้นที่ละ 60 เซนติเมตร มีพื้นที่ใช้งาน 2 พื้นที่ สามารถทำกิจกรรม 2 อย่างในเวลาเดียวกัน ใช้ก้านตาลโตนดเป็นเชื้อเพลิง 20 กิโลกรัม สามารถทำความร้อนเพื่อกวนกล้วยและสับปะรดในเวลาเดียวกัน โดยใช้ปริมาณเนื้อกล้วยและเนื้อสับปะรดอย่างละ 20 กิโลกรัม ใช้เวลาในการกวนจนแล้วเสร็จ 3 ชั่วโมง ทั้งนี้การใช้เตาชีวมวลของ วว. สามารถลดปริมาณเชื้อเพลิงได้มากกว่าร้อยละ 50 ของเชื้อเพลิงเดิม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ