“อาชีวะ” มอบนโยบายแนวทางการดำเนินงานโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Friday September 18, 2020 09:28 —ThaiPR.net

“อาชีวะ” มอบนโยบายแนวทางการดำเนินงานโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--สอศ. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมเสวนาการดำเนินงานโครงการชีววิถี เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สอศ. กับ กฟผ.ในวันที่ 17 กันยายน 2563 ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี นายสุเทพ แก่งสันเทียะ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ทำความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการดำเนินโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ การทำการเกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ให้กับนักเรียน นักศึกษา ครู และบุคลากรในสถานศึกษา ชุมชน หน่วยงานโดยรอบสถานศึกษา และตามแนวสายส่งของ กฟผ. มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบัน มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยวิถีการดำเนินชีวิตแบบพออยู่พอกิน พึ่งพาตนเองได้ด้วยการทำการเกษตรแบบธรรมชาติ ลด ละ เลิก การใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง โดยได้มอบนโยบายให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีและวิทยาลัยประมง ทั่วประเทศดำเนินการ ต่อมาได้ขยายผลไปยังวิทยาลัยการอาชีพและวิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ ปัจจุบันมีวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จำนวน 92 แห่ง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง 4 เรื่อง ได้แก่ การเพาะปลูก การปศุสัตว์ การเลี้ยงสัตว์น้ำ และการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพแทนการใช้สารเคมี ทำให้สามารถลดต้นทุนจากการใช้สารเคมี สามารถดำรงชีวิตร่วมกับธรรมชาติ เพื่อที่จะได้รับผลผลิตที่ปลอดภัยจากสารพิษ ปลอดภัยต่อผู้บริโภค เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีและเกิดความยั่งยืนกับสังคม โดยมีศูนย์ประสานงานภาค 4 แห่ง สามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในแต่ละภูมิภาค คือ ศูนย์ภาคเหนือ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพะเยาศูนย์ภาคกลาง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรีศูนย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม และศูนย์ภาคใต้ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา รวมทั้งจัดให้มีประเมินผลการดำเนินงานดีเด่น ทั้งในระดับภาค และระดับชาติ เป็นประจำทุกปี โดยกำหนดกิจกรรมที่ใช้ในการประเมิน 8 ประเภทได้แก่ ประเภทที่ 1 การดำเนินงานภายในวิทยาลัยดีเด่น ประเภทที่ 2 ครู บุคลากรทางการศึกษา นำไปใช้และขยายผลดีเด่น ประเภทที่ 3 นักเรียน นักศึกษาปัจจุบันนำไปใช้และขยายผลดีเด่น ประเภทที่ 4 ราษฎรที่ได้รับความรู้จากวิทยาลัย และใช้ได้ผลดีเด่น ประเภทที่ 5 ชุมชนที่ได้รับความรู้จากวิทยาลัย และใช้ได้ผลดีเด่น ประเภทที่ 6 โรงเรียนที่ได้รับความรู้จากวิทยาลัย และใช้ได้ผลดีเด่น ประเภทที่ 7 การคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ในโครงการชีววิถีฯ ดีเด่น และประเภทที่ 8 งานวิจัยและนวัตกรรมในโครงการชีววิถีฯ ดีเด่น ซึ่งมีผู้บริหาร และผู้รับผิดชอบโครงการ ของสถานศึกษา ที่เข้าร่วมโครงการกว่า 300 คน เข้าร่วมประชุมและรับมอบนโยบายแนวทางการดำเนินงาน รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่าต่อไป ในการดำเนินโครงการในปี 2564 ซึ่งนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาในวิทยาลัยเกษตรและวิทยาลัยประมง สังกัด สอศ. เพื่อการมีงานทำ พัฒนาสถานศึกษาให้เป็นผู้นำด้านการเกษตรและประมง เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรให้กับเยาวชน เกษตรกรและชุมชน ยกระดับและพัฒนาการเรียนการสอนไปสู่ Digital Farming โดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเกษตรให้มากขึ้น การบริหารจัดการน้ำ ดิน ปุ๋ยและป่าไม้ การใช้เทคโนโลยี เพื่อศึกษาพฤติกรรมของสัตว์ การสร้างการเรียนรู้แบบใหม่เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ วางแผน ในการทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางการเกษตรและประมง สร้างนวัตกรรมตามความต้องการของพื้นที่ชุมชน ภูมิภาคหรือประเทศ รวมทั้งการเป็นผู้ประกอบการ จึงจำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย สถานประกอบการและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ดังนั้น การทำงานในทุกมิติก็สามารถบูรณาการการทำงานร่วมกันได้โดยมีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวปิดท้ายว่า โครงการชีววิถีฯ ที่ กฟผ. ร่วมมือกับ สอศ. มาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 17 ปี จึงไม่ใช่เป็นเพียงโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เท่านั้น แต่เป็นความร่วมมือร่วมใจที่ลงลึกถึง ครู นักเรียน บุคลากรทางการศึกษา กับ ผู้ประสานงานโครงการของหน่วยงานต่าง ๆ ของ กฟผ. ระยะเวลาที่ผ่านมาถือได้ว่า ทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมมือกันในการจัดการอาชีวศึกษา ที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และจะร่วมมือกันดำเนินโครงการชีววิถีฯให้บรรลุเป้าหมาย เพื่อประโยชน์สูงสุด ของทั้ง 2 หน่วยงาน ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ