“จุฬาฯ – ใบยา” เดินหน้าประกาศความสำเร็จ วัคซีนป้องกัน Covid-19 จากใบพืช

ข่าวทั่วไป Friday September 18, 2020 11:11 —ThaiPR.net

“จุฬาฯ – ใบยา” เดินหน้าประกาศความสำเร็จ วัคซีนป้องกัน Covid-19 จากใบพืช กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการที่ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อการแก้ปัญหาสังคม Chula The Impact ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “จุฬาฯ – ใบยาวัคซีน นวัตกรรมไทย ไขวิกฤติ Covid-19” นำเสนอความก้าวหน้าการผลิตวัคซีนป้องกัน Covid-19 จากใบพืช โดย “ใบยา ไฟโตฟาร์ม” บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ได้รับการบ่มเพาะจาก CU Innovation Hub เมื่อวันศุกร์ที่ 11 กันยายน 2563 ณ เรือนจุฬานฤมิต โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวเปิดงานและแสดงวิสัยทัศน์ด้านนโยบายนวัตกรรมขับเคลื่อนสังคมของจุฬาฯ และได้รับเกียรติจาก นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “บทบาทและการสนับสนุนศักยภาพการผลิตวัคซีนในประเทศไทย” ภายในงานเสวนามีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญร่วมเสวนาคับคั่ง ประกอบด้วย ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีจุฬาฯ ศ.นพ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ และ CEO & Co Founder บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ผู้ร่วมคิดค้นวัคซีนป้องกัน Covid-19 จากใบพืชตระกูลยาสูบ ดำเนินรายการโดย อ.ภก.ดร.วีระพงษ์ ประสงค์จีน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ผู้ร่วมคิดค้นวัคซีนป้องกัน Covid-19 จากใบพืช กล่าวถึงความคืบหน้าของวัคซีนป้องกัน Covid-19 จากใบพืชตระกูลยาสูบ สปีชีส์ “N. benthamiana” ผลงานจากบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด สตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ได้รับการบ่มเพาะจากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub : CUI) ที่กำลังพัฒนาวัคซีนต้นแบบทั้งสิ้น 6 ชนิด ว่าขณะนี้วัคซีนต้นแบบชนิดแรก “Baiya SARS-CoV-2 Vax 1” ได้นำไปฉีดในสัตว์ทดลองและดำเนินการเสร็จสิ้นในขั้นตอนของการทดลองในสัตว์ทดลองทั้ง 2 ชนิด ได้แก่ หนูขาวและลิง ซึ่งผลที่ได้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลองทั้ง 2 ชนิดได้ในปริมาณสูงจากการฉีดวัคซีนเพียง 2 ครั้ง โดยขั้นตอนต่อจากนี้ จะมีการทดสอบวัคซีนในหนูอีกครั้ง เพื่อทดสอบความเป็นพิษหรือผลข้างเคียงต่ออวัยวะต่างๆ โดยละเอียด จากการทดสอบดังกล่าวทำให้จะสามารถกำหนดปริมาณและขนาดของวัคซีนที่จะนำไปใช้ศึกษาในมนุษย์ต่อไปได้ ทั้งนี้จะมีการตรวจสอบภูมิคุ้มกันของลิงหลังจากได้รับวัคซีนไปแล้ว 6 เดือน เพื่อให้แน่ใจว่าลิงยังคงมีแอนติบอดีต่อเชื้อ Covid-19 อยู่หรือไม่ ซึ่งจะนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่าวัคซีนดังกล่าวนี้ สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ในระยะยาวได้เป็นผลสำเร็จ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าวว่า “ตอนนี้เราผ่านการทดสอบในหนูและในลิงแล้ว พบว่าผลการทดสอบสามารถที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันและได้ผลค่อนข้างดี เทียบกับวัคซีนที่ผลิตในต่างประเทศได้ ในขั้นตอนต่อไปก็ต้องมาดูว่าลิงที่เราฉีดวัคซีนให้ ภูมิคุ้มกันลดลงหรือไม่ และทำ Challenge คือการฉีดไวรัสแล้วดูว่าจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้หรือไม่ รวมถึงทดสอบในหนูแฮมสเตอร์ด้วย สุดท้ายจะทำการทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง โดยใช้สัตว์ทดลองจำนวนมาก แล้วดูว่าตัววัคซีนกระจายไปในส่วนไหนบ้างในร่างกาย มีลักษณะที่เป็นพิษเกิดขึ้นหรือไม่ ก่อนที่จะผลิตในระดับอุตสาหกรรม ภายใต้มาตรฐานที่ได้รับ GMP แล้วจึงทำการทดสอบในมนุษย์ต่อไป” “เราเดินหน้าพัฒนาวัคซีน เพราะรู้ว่าเป็นเรื่องที่รอไม่ได้และมีความจำเป็นมากในเวลานี้ และนี่คือสาเหตุ ที่เราดำเนินการโดยไม่ได้รองบประมาณช่วยเหลือ รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือผ่านสถาบันวัคซีนแห่งชาติ มีการประสานงานเรื่ององค์ความรู้ การทดสอบ และการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเรายินดีที่จะทำงานกับ ทุกภาคส่วนเพื่อจะทำให้คนไทยได้มีวัคซีนใช้” ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าวในที่สุด ด้าน ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีจุฬาฯ เปิดเผยว่า ทุกขั้นตอนของการพัฒนาวัคซีนนั้น ได้มีการวางแผนหารือร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ องค์การอาหารและยา (อย.) และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อให้ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามมาตรฐานที่สามารถใช้เพื่อการวิจัยในมนุษย์ ระยะที่ 1 สำหรับขั้นตอนต่อไปนั้นอยู่ในระหว่างการเจรจาจัดหาโรงงานผลิตวัคซีนที่ได้มาตรฐาน ซึ่งหากบรรลุข้อตกลงจะนำไปสู่การพัฒนาโรงงานผลิตวัคซีนจากใบพืชแห่งแรกของประเทศไทยและอาเซียน “ที่ศูนย์วิจัยไพรเมท อ.แก่งคอย จ.สระบุรี มีการเตรียมห้องแล็บที่เรียกว่า ABSL3 (Animal Bio-Safety Level 3) ซึ่งต้องใช้ความปลอดภัยสูงมาก โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และงบประมาณส่วนหนึ่งจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการทดลองและการทำ Challenge เพื่อให้ได้ข้อมูลว่าในลิงนั้นมีการตอบสนองได้ดีแค่ไหน ปลอดภัยหรือไม่ สำหรับองค์ความรู้ที่ได้รับจากการผลิตวัคซีนของต่างชาติ เราอาจจะนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาเร่งพัฒนาและทดสอบวัคซีนของเรา เราคงจะหวังพึ่งวัคซีนจากต่างชาติได้ยากมาก เพราะสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศหนักหนากว่าบ้านเรา เราหวังพึ่งพิงด้านองค์ความรู้ เพื่อมาช่วยเร่งการพัฒนาวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของวัคซีน mRNA ของ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม หรือวัคซีนจากใบยา ซึ่งถ้าเราทำได้เร็วขึ้น และมีโรงงานผลิตที่ได้รับมาตรฐาน ก็จะตอบโจทย์ในการป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับคนไทยได้เร็วที่สุดครับ” ศ.นพ.ดร.นรินทร์ กล่าวเพิ่มเติม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ