ฟิทช์ปรับแนวโน้มเครดิตของ DTAC เป็นมีเสถียรภาพ; ยกเลิกอันดับเครดิตสากล

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 2, 2020 09:18 —ThaiPR.net

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เป็นมีเสถียรภาพจากเป็นลบ นอกจากนี้ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ (Long-Term Local-Currency Issuer Default Rating) ของ DTAC ที่ 'BBB? อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ที่ 'AA(tha)? และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) ที่ 'F1+(tha)? ในขณะเดียวกันฟิทช์ประกาศยกเลิกอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ และสกุลเงินในประเทศ ของ DTAC

การปรับแนวโน้มเครดิตเป็นมีเสถียรภาพ สะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO Net Leverage) ของ DTAC ในปี 2563 และ 2564 จะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 2.3 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันของบริษัท ฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายสำหรับการชำระค่าคลื่นความถี่จะเพิ่มขึ้น และจะทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดสุทธิเป็นลบ ในปี 2563 และ 2564 ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทไม่สามารถปรับตัวลดลงได้ในช่วงดังกล่าว

การยกเลิกอันดับเครดิตดังกล่าวด้วยเหตุผลทางธุรกิจ

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

สถานะทางการตลาดที่ท้าทาย: ฟิทช์คาดว่า DTAC อาจจะเผชิญกับความท้าทายในการชิงคืนส่วนแบ่งทางการตลาดที่เสียไป ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 เนื่องจากผู้ประกอบการรายอื่นได้เพิ่มการลงทุนในเครือข่ายและคลื่นความถี่ เพื่อเพิ่มคุณภาพการให้บริการของเครือข่าย การลงทุนในเครือข่ายภายใต้คลื่นความถี่ 2.3 GHz ในช่วงปีที่ผ่านมาของ DTAC ได้ทำให้คุณภาพในการให้บริการของเครือข่าย DTAC ปรับตัวดีขึ้น และส่งผลให้ DTAC มีลูกค้าเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 อย่างไรก็ตามสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น เนื่องจากผู้ประกอบรายใหญ่สุดสองรายแรก ซึ่งได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS (อันดับเครดิตที่ BBB+/AA+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (True) ได้เพิ่มการลงทุนเครือข่ายภายใต้คลื่นความถี่ 2.6GHz และ ก่อสร้างเครือข่าย 5G

การเติบโตของรายได้ที่ชะงัก: ฟิทช์คาดว่ารายได้จากการให้บริการของ DTAC จะปรับตัวลดลงประมาณร้อยละ 2 ในปี 2563 เนื่องจากสถานะการณ์การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส แต่จะยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของประเทศไทย ที่ฟิทช์คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 7.8 ฟิทช์เชื่อว่าธุรกิจโทรคมนาคมจะได้รับผลกระทบในระดับจำกัด ในช่วงที่สภาวะทางเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากการสื่อสารและโทรคมนาคมเป็นสิ่งที่จำป็นในชีวิตประจำวันของประชาชน

ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 รายได้จากการให้บริการของ DTAC คงที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านี้ แต่ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2562 โดยรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 1.5-2 ของรายได้จากการให้บริการ ปรับตัวลดลงอย่างมากเนื่องจากการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งขาเข้าและขาออกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 นอกจากนี้ รายได้จากการให้บริการของ DTAC ยังได้รับผลกระทบจากการลดลงของจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่ เนื่องจากการปิดศูนย์บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ชั่วคราว ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 ภายใต้มาตรการป้องกันการระบาดของโคโรนาไวรัส

กำไรได้รับการสนับสนุนจากการลดค่าใช้จ่าย: ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ DTAC จะยังคงแข็งแกร่งในระดับ 2.4-2.6 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2563 และ 2564 (2562 อยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท) โดยได้รับการสนับสนุนจากมาตรการการลดค่าใช้จ่ายของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของ DTAC ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 37 (2562 อยู่ที่ร้อยละ 34) เนื่องจากสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการบริหารและค่าใช้จ่ายด้านการตลาด ลดลงมาอยู่ที่ ร้อยละ 16.8 ของรายได้จากการให้บริการ (ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 21) EBITDA ของ DTAC ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 เติบโตร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท

อัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำ: อัตราส่วน FFO Net Leverage ของ DTAC น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านคลื่นความถี่ที่อยู่ในระดับสูง แต่ยังคงสอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันที่ 1.8 ? 1.9 เท่าในปี 2563 และ 2564 (2562 อยู่ที่ 1.6 เท่า) ฟิทช์เชื่อว่าอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำจะช่วยให้บริษัทมีความคล่องตัวทางการเงิน ในการลงทุนเพิ่มเติมในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า DTAC น่าจะมีการลงทุนในเครือข่าย 5G อย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เพื่อรักษาความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัท DTAC คาดว่าจะลดค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (ไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านคลื่นความถี่) ในปี 2563 เป็น 8 พันล้าน ? 1 หมื่นล้านบาท จาก 1.3 หมื่นล้านบาท ในปี 2562 เนื่องจากการลงทุนก่อสร้างโครงข่ายภายใต้คลื่น 900 MHz มีการเลื่อนไปเป็นปี 2564 เนื่องจากปัญหาในเรื่องสัญญาณรบกวนกับคลื่นความถี่อื่น

การเปลี่ยนการพิจารณาเรื่องการเช่า: ฟิทช์มีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตาม Corporate Rating Criteria ในเดือนมีนาคม 2563 โดยภายใต้การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ดังกล่าว ฟิทช์จะพิจารณาค่าเช่าภายใต้สัญญาเช่าทางการเงินและสัญญาเช่าดำเนินงานของบริษัทในภาคธุรกิจอุตสาหรรมส่วนใหญ่ เป็นค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินงาน แทนที่จะปรับปรุงค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้เป็นหนี้สิน ซึ่งทำให้ Rating Headroom ของ DTAC เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าฟิทช์จะมีการปรับเกณฑ์ของอัตราส่วนหนี้สิน ให้เข้มงวดมากขึ้น โดยใช้อัตราส่วนหนี้สินแบบไม่ปรับปรุง

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดจากการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ อัตราส่วนหนี้สินที่ปรับปรุงและไม่ปรับปรุงของ DTAC มีความแตกต่างที่ประมาณ 1.2 เท่า ซึ่งสูงกว่าบริษัทอื่นๆ ในธุรกิจโทรคมนาคม โดยหนี้สินที่เกิดจากปรับปรุงค่าใช้จ่ายภายใต้สัญญาเช่าของ DTAC คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47 ของหนี้ที่ปรับปรุงแล้วทั้งหมดของบริษัทในปี 2562

ความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้นใหญ่: ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology) ฟิทช์จัดอันดับเครดิตของ DTAC โดยเริ่มจากการพิจารณาอันดับเครดิตของ DTAC โดยลำพัง (Standalone Rating) แล้วจึงพิจารณาถึงปัจจัยเสริมจากความสัมพันธ์ดังกล่าว (Bottom-Up Approach) โดยฟิทช์ได้ให้อันดับเครดิตเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิต Standalone ของ DTAC เพื่อสะท้อนถึงความเกี่ยวเนื่องในระดับปานกลางระหว่าง DTAC กับ Telenor โดย Telenor มีอำนาจควบคุมคณะกรรมการและผู้บริหารของ DTAC ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นของ Telenor หรือความสัมพันธ์กับ DTAC ฟิทช์จะทำการพิจารณาความสัมพันธ์และการสนับสนุนดังกล่าวจาก Telenor ใหม่อีกครั้ง

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG): DTAC มีคะแนนที่เกี่ยวข้องกับ ESG ด้านกลยุทธ์การบริหาร (Management Strategy) อยู่ที่ระดับ 4 เนื่องจากบริษัทขาดการลงทุนในคลื่นความถี่และลดการขยายเครือข่าย ซึ่งส่งผลให้บริษัทสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับคู่แข่ง ปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อสถานะทางเครดิต และมีผลต่ออันดับเครดิตเมื่อพิจารณาประกอบกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

DTAC มีอันดับเครดิตต่ำกว่า AIS ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุด เนื่องจาก AIS มีขนาดรายได้ที่ใหญ่กว่า มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงกว่าที่ร้อยละ 46 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 และมีอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่สูงกว่า AIS มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า โดยมีประมาณการณ์อัตราส่วน FFO Net Leverage อยู่ที่ 1-1.2 เท่า และมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งกว่า DTAC

อันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ DTAC ที่ระดับ 'bbb-? อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตที่ 'BBB-? แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพของ Globe Telecom, Inc. หรือ Globe ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหญ่อันดับที่ 2 ของประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องจากบริษัททั้งสองมีรายได้อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน Globe จะมีอัตตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า DTAC แต่สถานะทางธุรกิจของ Globe แข็งแกร่งกว่า DTAC เนื่องจาก Globe มีบริการโทรคมนาคมที่หลากหลายกว่า และการแข่งขันที่รุนแรงน้อยกว่าในตลาดโทรคมนาคมของประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งมีผู้ให้บริการรายใหญ่เพียงสองราย

เมื่อเทียบกับบริษัทที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตภายในประเทศ Standalone Credit Profile ของ DTAC ที่ 'aa-(tha)? อยู่สูงกว่าอันดับเครดิตของ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ซึ่งมีอันดับเครดิต 'A+(tha)? แนวโน้มเครดิตเป็นลบ ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย DTAC ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่มีเสถียรภาพมากกว่า ในขณะที่ SCC ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ และปิโตรเคมี ที่มีความผันผวน นอกจากนี้ DTAC ยังมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า SCC

เมื่อเทียบกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ThaiBev ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ระดับ 'AA(tha)? แนวโน้มเครดิตเป็นลบ DTAC มีสถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอกว่า ThaiBev ซึ่งเป็นผู้นำในตลาดสุราและเบียร์ในประเทศไทย เวียดนาม และเมียนมาร์ สถานะทางการเงินของ ThaiBev ยังได้รับการสนับสนุนจากความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่ยังคงทำให้บริษัทฯ มีกระแสเงินสดสุทธิเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น Standalone Credit Profile ของ DTAC ที่ 'aa-(tha)? อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศของ ThaiBev อยู่หนึ่งอันดับ

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ DTAC ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจาก Standalone Credit Profile ของ DTAC จากความสัมพันธ์ในระดับปานกลางกับบริษัทแม่ หรือ Telenor ซึ่งสอดคล้องกับบริษัทที่ฟิทช์มีการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศอื่นๆ

DTAC มีความสำคัญในด้านกลยุทธ์ต่อ Telenor เนื่องจากเป็นบริษัทลูกที่สำคัญที่ดำเนินธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย รายได้จาก DTAC คิดเป็นอันดับสองของกลุ่ม (ร้อยละ 20.2) และ EBITDA จาก DTAC คิดเป็นอันดับที่ 3 ของกลุ่ม (ร้อยละ 17.5) ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าธุรกิจในประเทศนอร์เวย์เล็กน้อย อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ด้านการดำเนินงานอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากทั้งคู่ดำเนินธุรกิจในประเทศที่แยกกัน

ความสัมพันธ์ในระดับปานกลางของ DTAC กับบริษัทแม่ มีลักษณะใกล้เคียงกันกับความสัมพันธ์ของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ 'A+(tha)? แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ กับบริษัทแม่ หรือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ 'AAA(tha)? แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ GPSC ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจาก Standalone Credit Profile โดย GPSC เป็นบริษัทหลักในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. โดยมี EBITDA คิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของกลุ่ม อย่างไรก็ตาม GPSC มีความสัมพันธ์ด้านการดำเนินงานกับบริษัทแม่อยู่ในระดับต่ำเช่นเดียวกับ DTAC

สมมุติฐานที่สำคัญ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • รายได้จากการให้บริการปรับตัวลดลงร้อยละ 2 ในปี 2563 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ในปี 2564 (ปี 2562: รายได้ลดลงร้อยละ 1.3)
  • EBITDA margin ที่ร้อยละ 34-36 ในปี 2563 และ 2564 (2562: ร้อยละ 34.3)
  • เงินลงทุนในการขยายโครงข่ายอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาทในปี 2563 และ 1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2564 (2562: 1.8 หมื่นล้านบาท)
  • จ่ายเงินปันผลร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยที่อาจส่งให้มีการปรับเพิ่มอันดับเครดิต

  • อัตรส่วน FFO Net Leverage ลดลงต่ำกว่า 1.3 เท่า อย่างต่อเนื่อง
  • ส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ปัจจัยที่อาจส่งผลให้มีการปรับลดอันดับเครดิต

  • สูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาด ซึ่งทำให้ FFO Net Leverage เพิ่มขึ้นสูงกว่า 2.3 เท่าอย่างต่อเนื่อง
  • การเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบที่มีผลกระทบในแงลบ
  • ความสัมพันธ์ระหว่าง DTAC และ Telenor ที่ลดลง

สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่บริหารจัดการได้: ฟิทช์มองว่าสภาพคล่องของ DTAC สามารถบริหารจัดการได้ในปี 2563 โดยสภาพคล่องของ DTAC ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดที่อยู่ในระดับสูงจำนวน 7.6 พันล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 และความสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 บริษัทมีการกู้ยืมเงินใหม่จำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท เพื่อชำระคืนเงินกู้ที่ถึงกำหนด จำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท และในเดือนกันยายน 2563 บริษัทได้ออกหุ้นกู้จำนวน 1 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้ชำระเงินกู้ที่ถึงกำหนดในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 และสนับสนุนการลงทุน

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG)
DTAC มีคะแนนที่เกี่ยวข้องกับ ESG ด้านกลยุทธ์การบริหาร (Management Strategy) อยู่ที่ระดับ 4 เนื่องจากบริษัทขาดการลงทุนในคลื่นความถี่และลดการขยายเครือข่าย ซึ่งส่งผลให้บริษัทสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับคู่แข่ง ปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อสถานะทางเครดิต และมีผลต่ออันดับเครดิตเมื่อพิจารณาประกอบกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล ของฟิทช์ หาได้ที่ www.fitchratings.com/esg


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ