"พลเอก ประวิตร" เคาะแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง 2563/64 มั่นใจประชาชนไม่ขาดน้ำกินน้ำใช้ เตรียมชงมาตรการรับมือแล้งเข้าครม.

ข่าวทั่วไป Thursday October 22, 2020 15:56 —ThaiPR.net

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 3/2563 โดยมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองประธานอนุกรรมการฯ ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมประชุมติดตามสถานการณ์น้ำปัจจุบัน แผนการจัดสรรน้ำในฤดูแล้ง ปี 2563/64 และมาตรการรับรองสถานการณ์ขาดแคลนน้ำก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ถือเป็นช่วงปลายฤดูฝนที่ประเทศยังได้รับอิทธิพลจากพายุและร่องความกดอากาศต่ำ ซึ่งส่งผลให้หลายพื้นที่ยังประสบปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบัน จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน และบริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งยังได้สั่งการให้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พร้อมมาตรการรับมือน้ำหลากในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงเดือนพฤศจิกายน ? ธันวาคมอย่างใกล้ชิดด้วย ขณะเดียวกัน ก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2563/64 (1 พ.ย. 63 - 30 เม.ย. 64) ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ ได้แก่ 1.เพื่ออุปโภค-บริโภค 2.รักษาระบบนิเวศ 3.เพื่อการเกษตรกรรม และ 4.เพื่อการอุตสาหกรรม โดยจากการประเมินปริมาณน้ำต้นทุน (ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563) พบว่า จะมีปริมาณน้ำใช้การทั้งประเทศ จำนวน 41,879 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) สามารถนำมาจัดสรรน้ำในฤดูแล้ง ปี 2563/64 ทั้งประเทศ รวม 22,847 ล้านลบ.ม. ที่เหลือเป็นปริมาณน้ำสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม 2564 จำนวน 19,032 ล้าน ลบ.ม.

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบ 9 มาตรการหลักรับรองสถานการณ์ขาดแคลนน้ำก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง โดยเน้นจัดการน้ำให้สมดุลระหว่างน้ำต้นทุน และความต้องการใช้น้ำ พร้อมทั้งให้มีการติดตามประเมินผลและสร้างการรับรู้ให้ทุกภาคส่วนต่อเนื่อง โดยมีหน่วยงานเจ้าภาพหลักรับผิดชอบชัดเจน ได้แก่ 1.เร่งเก็บกักน้ำไว้ในแหล่งน้ำต่าง ๆ ก่อนสิ้นสุดฤดูฝน 2.จัดหาแหล่งสำรองน้ำดิบในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ พร้อมวางแผนวางท่อน้ำประปาจากการประปาส่วนภูมิภาคสาขาข้างเคียง และแผนรับน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำโดยตรง 3.ปฏิบัติการเติมน้ำให้กับแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 4. กำหนดปริมาณน้ำจัดสรรในฤดูแล้งที่ชัดเจน มีการติดตามกำกับให้เป็นไปตามแผน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบการขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภค พร้อมจัดทำทะเบียนผู้ใช้น้ำ 5.เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก สายรอง 6.วางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งที่ชัดเจน รวมถึงมาตรการควบคุมการสูบน้ำ การแย่งน้ำ กรณีไม่อาจสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรได้ให้มีการกำหนดมาตรการเยียวยาผลกระทบที่รวดเร็วและชัดเจน 7.ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมใช้ระบบ 3R เพื่อให้เกิดการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า 8.ติดตามประเมินผลการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ และ 9.สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำและแผนการจัดสรรน้ำอย่างต่อเนื่อง ให้ทุกภาคส่วนเกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัด

"ปริมาณน้ำต้นทุนในภาพรวมปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมามีปริมาณมากกว่าเล็กน้อย ดังนั้น จึงต้องใช้น้ำอย่างประหยัดและให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด ซึ่งใช้น้ำต้นทุนจากเขื่อน 4 แห่ง คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนฯ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ พบว่า มีปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ดังนั้น จึงสามารถจัดสรรน้ำได้เฉพาะการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ และเกษตรต่อเนื่อง (ไม้ผลไม้ยืนต้น) เท่านั้น ส่วนการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำอื่น ๆ นั้น ให้คณะกรรมการจัดการน้ำชลประทาน (JMC) ในพื้นที่วางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน รวมถึงได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามมาตการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในแล้งนี้ต้องไม่มีปัญหา" รองนายกฯ กล่าว

ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมยังรับทราบคาดการณ์พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคฤดูแล้ง ปี 2563/64 ทั้งในเขตการให้บริการของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ซึ่งมีพื้นที่สาขาที่มีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค จำนวน 41 สาขาในพื้นที่ 28 จังหวัด และพื้นที่การให้บริการของประปาท้องถิ่นที่อาจจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมีจำนวน 50 จังหวัด 334 อำเภอ 966 ตำบล ขณะที่ด้านการเกษตร มีพื้นที่เฝ้าระวังขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง จำนวน 45 จังหวัด 176 อำเภอ 489 ตำบล แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำมากกว่า 5 ล้าน ลบ.ม. ต่อตำบล และพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำปานกลาง ตั้งแต่ 1 ? 5 ล้าน ลบ.ม. ต่อตำบล รวมถึงพื้นที่เสี่ยงต่อการรุกล้ำของเค็มที่อาจส่งผลกระทบกับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร จำนวน 4 แห่ง คือ แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีสูบน้ำสำแล (กปน.) แม่น้ำท่าจีน บริเวณสถานีปากคลองจินดา แม่น้ำแม่กลอง บริเวณสถานีปากคลองดำเนินสะดวก และแม่น้ำบางปะกง บริเวณสถานีบ้านสร้าง

"เพื่อให้การขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาช่วงฤดูแล้งต่อเนื่องถึงต้นฤดูฝนหน้าได้ตามแผน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปปฏิบัติในเชิงป้องกันเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์แล้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์สถานการณ์ให้ภาคส่วนเกี่ยวข้องและประชาชนได้รับทราบล่วงหน้า สทนช. จะเสนอแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2563/64 และ 9 มาตรการหลักป้องกันและแก้ไขปัญหาฤดูแล้งที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมครั้งนี้ นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเร็ว ๆ นี้" ดร.สมเกียรติ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ