"พุทธิพงษ์" เปิดงานสัมมนาสร้างการรับรู้เท่าทันข่าวปลอมพื้นที่ภาคใต้

ข่าวทั่วไป Monday November 2, 2020 16:01 —ThaiPR.net

รมว.ดีอีเอส เปิดงานสัมมนา "สร้างการรับรู้ เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม ครั้งที่ 3" จ.พังงา ตอกย้ำการทำงานเชิงรุกแก้ไขปัญหาข่าวปลอม ดึงทุกภาคส่วนบูรณาการการทำงานร่วมกัน เผยผลการดำเนินงานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม มีจำนวนข้อความข่าวที่ต้องคัดกรองกว่า 25 ล้านข้อความ พบที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 6,826 เรื่อง เกินครึ่งเป็นข่าวปลอมในหมวดสุขภาพ

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ได้เป็นประธานเปิดงานสัมมนา "สร้างการรับรู้ เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม ครั้งที่ 3" จ.พังงา ซึ่งจัดขึ้นภายใต้โครงการศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงดิจิทัลฯ และคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้าร่วมรับฟัง

สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมสัมมนา ครอบคลุมทั้ง ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคใต้ บุคลากรด้านสาธารณสุข ภาคสังคม สื่อมวลชน และภาคประชาชน อาทิ ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน จ.พังงา เพื่อให้เกิดความเข้าใจในกระบวนการตรวจสอบข่าวปลอมได้ด้วยตนเอง วิธีเช็คแหล่งที่มา วิธีสังเกตหัวข้อพาดหัวข่าว และได้ทราบถึงการแจ้งเบาะแสให้กับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม

สำหรับผลการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ตั้งแต่วันจัดตั้งศูนย์ฯ ถึงช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา (1 พ.ย.62-28 ต.ค.63) จากการรวบรวมข้อมูลทั้งจากที่มีผู้แจ้งเบาะแสเข้ามา และระบบติดตามการสนทนาทางโซเชียล (Social listening) พบว่า มีจำนวนข้อความข่าวที่ต้องคัดกรองทั้งหมด 25,835,350 ข้อความ ข้อความข่าวที่เข้าเกณฑ์ดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 19,466 ข้อความ โดยมีจำนวนเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 6,826 เรื่อง ในจำนวนนี้ 56% เป็นข่าวในหมวดสุขภาพ ตามมาด้วยหมวดนโยบายรัฐ 2,620 เรื่อง (38%), หมวดเศรษฐกิจ 251 เรื่อง (4%) และหมวดภัยพิบัติ 143 เรื่อง (2%)

ทั้งนี้ กระทรวงฯ มุ่งมั่นที่จะเดินหน้าการทำงานเชิงรุก เพื่อเร่งทำการแก้ไขปัญหาข่าวปลอม ผ่านกลไกการทำงานทั้งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทำให้เกิดแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม และให้ข้อมูลที่ถูกต้องเข้าถึงประชาชนในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

"ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เป็นหนึ่งในนโยบายหลัก 12 ด้านของรัฐบาล โดยมุ่งเน้นการจัดการข้อมูลที่เป็นเท็จทางสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะข่าวปลอมที่สร้างความตื่นตระหนกและความเสียหายกับประชาชนและสาธารณชนในวงกว้าง บูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วน ในการตรวจสอบและเผยแพร่ข่าวที่ถูกต้องแก่ประชาชน ยึดหลักการสำคัญในการทำงานคือ ความเที่ยงธรรมและความปราศจากอคติในการคัดเลือกข่าว ให้ความเป็นธรรมแก่ฝ่ายที่ถูกพาดพิงและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเท่าเทียมกัน สามารถอธิบายกระบวนการการพิสูจน์ การตรวจสอบ แหล่งที่มาของบทความและข้อเท็จจริงต่างๆ ได้" นายพุทธิพงษ์กล่าว

นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กล่าวว่า การจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ฯ ในภาคใต้ครั้งนี้ จะเป็นอีกกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนการตรวจสอบเฝ้าระวังการเผยแพร่ข้อมูลเนื้อหา และข่าวสารที่เผยแพร่อยู่ในอินเทอร์เน็ต โดยช่วยสร้างการรับรู้ไปยังกลุ่มวัยรุ่นนักศึกษา วัยทำงาน ผู้สูงอายุ หน่วยงานต่างจังหวัดและประชาชนทั่วไป ตลอดจนหน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้องทำให้การบูรณาการการทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเป็นหน่วยเฉพาะกิจ ในการดำเนินงานเชิงรุกป้องกันข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและปัญหาข่าวปลอมอันจะทำให้ภาครัฐสามารถชี้แจงทำความเข้าใจ และเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องให้กับประชาชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพก่อให้เกิดความมั่นคงและความไว้วางใจในการใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและสารสนเทศ


แท็ก ภาคใต้  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ