"สสจ.นครพนม" สั่งเฝ้าระวังเข้ม.! พบผู้ป่วย "โรคมือเท้าปาก" พื้นที่ อ.ศรีสงคราม

ข่าวทั่วไป Wednesday November 4, 2020 11:44 —ThaiPR.net

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม โดยทีม SAT นครพนม เปิดเผยว่า ตามที่มีข้อมูลเปิดเผยทาง Social media ระบุว่า นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีสงคราม สั่งปิดศูนย์เด็กเล็กแห่งหนึ่ง หลังพบเด็กป่วยโรคมือเท้าปาก จำนวน 3 ราย เพื่อป้องกันการระบาดของโรคในพื้นที่อำเภอศรีสงคราม จากการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวทางโทรศัพท์กับเจ้าหน้าที่ระบาดวิทยา โรงพยาบาลศรีสงคราม ทราบว่าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กดังกล่าวมีนักเรียน ทั้งหมด 117 คน จำนวน 8 ห้องเรียน มีครู จำนวน 10 คน พบผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก จำนวน 3 ราย ซึ่งผลการสอบสวนโรคเบื้องต้น พบผู้ป่วยมือเท้าปาก จำนวน 3 ราย โดยรายแรกเข้ารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลศรีสงคราม เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 จากการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ พบผู้ป่วยมือเท้าปาก เพิ่มจำนวน 2 ราย ซึ่งก่อนป่วยได้มีกิจกรรมร่วมกันและให้เด็กนอนกลางวันรวมกัน

"สิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว คือ มีการประชุมทีมผู้บริหารและครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ ร่วมกับโรงพยาบาลศรีสงคราม โดยพิจารณาสั่งปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ ระหว่างวันที่ 2 - 9 พฤศจิกายน 2563 ทำความสะอาดศูนย์เด็ก เครื่องเล่น อุปกรณ์ต่างๆ ทั้งภายในภายนอกอาคาร เพื่อกำจัดเชื้อฯ เยี่ยมบ้านผู้ป่วย ให้ความรู้ผู้ปกครองในการดูแลเด็ก การทำความสะอาดสิ่งของและของเล่นเด็ก งดให้ผู้ป่วยเล่นหรือสัมผัสกับบุคคลอื่นจนกว่าจะหายเป็นปกติสำหรับมาตรการที่จะดำเนินการต่อไป จะดำเนินการเฝ้าระวังโรคผู้ป่วยรายใหม่ ค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในชุมชน ประชาสัมพันธ์สื่อสารความเสี่ยงให้ประชาชนทราบ ให้ความรู้เรื่องโรค วิธีการติดต่อของโรค และการป้องกันโรค ซึ่งผลการประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มเติม"

อนึ่ง โรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Enteroviruses ที่พบเฉพาะในมนุษย์ ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ มักพบการติดเชื้อในกลุ่มทารกและเด็กเล็ก ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการป่วย หรืออาจพบอาการเพียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อย เป็นต้น จะปรากฏอาการดังกล่าว 3-5 วัน แล้วหายได้เอง แต่บางรายจะมีอาการรุนแรง ขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัสที่มีการติดเชื้อ

อาการและอาการแสดง มีอาการไข้สูงอาจเกิน 39 องศาเซลเซียส 2 วัน แล้วจะมีไข้ต่ำๆ ประมาณ 37.5 - 38.5 องศาเซลเซียส อีก 3-5 วัน บางครั้งอาจบ่นเจ็บในปากกลืนน้ำลายไม่ได้ ไม่กินอาหาร พบตุ่มแผลในปาก ส่วนใหญ่พบที่เพดานอ่อนลิ้น กระพุ้งแก้ม อาจมี 1 แผล หรือ 2-3 แผล เป็นสาเหตุให้เด็กไม่ดูดนม ไม่กินอาหารเพราะเจ็บ อาจมีน้ำลายไหล พบตุ่มพองสีขาวขุ่นบนฐานรอบสีแดง บริเวณด้านข้างของนิ้วมือ นิ้วเท้า บางครั้งพบที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ส้นเท้า ส่วนมากมีจำนวน 5-6 ตุ่ม เวลากดจะเจ็บ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยแตกเป็นแผล จะหายไปได้เองในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ในเด็กเล็กๆ บางครั้งจะพบมีผื่นนูนสีแดงเล็กที่ก้น ส้นเท้า ส่วนใหญ่จะไม่เป็นตุ่มพอง หายไปได้ภายใน 1-3 วัน ยังไม่เคยมีรายงานการเสียชีวิต

การรักษา รักษาตามอาการ ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องรับไว้รักษาเป็นผู้ป่วยใน เช่น ให้ยาลดไข้ แก้ปวด ทายาที่ลดอาการปวดในรายที่มีแผลที่ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม แต่ในกรณีผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง ต้องรับไว้รักษาเป็นผู้ป่วยใน เช่น รับประทานอาหารหรือนมไม่ได้ มีอาการสมองอักเสบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ภาวะปอดบวมน้ำ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้ออ่อนแรงคล้ายโปลิโอ จำเป็นต้องให้การรักษาแบบ intensive care และดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญ

มาตรการป้องกัน ลดการสัมผัส คนสู่คน เท่าที่จะทำได้ โดยไม่ควรนำเด็กเล็กไปในที่ชุมชนสาธารณที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมากๆ เช่น สนามเด็กเล่นและห้างสรรพสินค้า ตลาด สระว่ายน้ำ ควรอยู่ในที่ที่มีการระบายถ่ายเทอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยและระมัดระวังการไอจามรดกันให้ใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังเตรียมอาหาร และรับประทานอาหารและภายหลังการขับถ่าย ใช้ช้อนกลางและหลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำหรือหลอดดูดน้ำร่วมกันการควบคุมผู้ป่วย ผู้สัมผัส และสิ่งแวดล้อม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ