กรุงเทพฯ มีต้นทุนค่าตกแต่งออฟฟิศต่ำเป็นอันดับ 7 ของเอเชียแปซิฟิก

ข่าวอสังหา Friday December 4, 2020 17:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ มีต้นทุนค่าตกแต่งออฟฟิศต่ำเป็นอันดับ 7 ของเอเชียแปซิฟิก

รายงานที่มีชื่อว่า Asia Pacific Fit-Out Cost Guide 2020/2021 ที่จัดทำขึ้นโดยบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล เปิดเผยว่า โตเกียวเป็นเมืองที่มีค่าตกแต่งออฟฟิศสำนักงานแพงที่สุดในเอเชียแปซิฟิกโดยมีอัตราเฉลี่ยที่ประมาณ 58,800 บาทต่อตารางเมตร เทียบกับอัตราเฉลี่ยของทั้งภูมิภาคที่ประมาณ 30,530 บาทต่อตารางเมตร ส่วนกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีต้นทุนค่าตกแต่งออฟฟิศต่ำเป็นอันดับ 7 ของภูมิภาค โดยมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 21,750 ต่อตารางเมตร ถูกกว่าโตเกียว 170% และสูงกว่าเมืองที่มีค่าตกแต่งออฟฟิศถูกที่สุดในภูมิภาคเพียงไม่ถึง 14% คือเมืองอาห์เมดาบัดของอินเดียที่มีค่าตกแต่งเฉลี่ยประมาณ 18,820 บาทต่อตารางเมตร

รายงานฉบับดังกล่าว ศึกษาต้นทุนค่าออกแบบตกแต่งออฟฟิศในหัวเมืองใหญ่ 30 เมืองของ 13 ประเทศและ 2 เขตปกครองพิเศษในเอเชียแปซิฟิก

นายสตีเฟน เทเลอร์ กรรมการผู้จัดการหน่วยธุรกิจบริหารโครงการก่อสร้าง ออกแบบ และตกแต่ง เจแอลแอลประจำประเทศไทย กล่าวว่า "แม้จะมีการแข่งขันสูงด้านราคาในหมู่ผู้รับเหมาก่อสร้าง-ออกแบบตกแต่ง แต่พบว่า ค่าออกแบบตกแต่งออฟฟิศโดยเฉลี่ยในกรุงเทพฯ ไม่ได้ปรับลดลง โดยยังคงมีระดับค่อนข้างคงที่"

"อย่างไรก็ดี ค่าออกแบบตกแต่งที่กล่าวถึงนี้ ยังไม่รวมการคืนพื้นที่เช่าเดิมให้แก่เจ้าของอาคารในกรณีที่ย้ายสำนักงานไปยังอาคารใหม่ หรือลดขนาดพื้นที่เช่าลงจากเดิม ทั้งนี้ พบว่า การรื้อถอนให้พื้นที่เช่ากลับสู่สภาพเดิมก่อนส่งมอบพื้นที่คืนให้กับเจ้าของอาคาร มีต้นทุนปรับเพิ่มสูงขึ้น" นายเทเลอร์กล่าว

ขณะนี้ มีบริษัทหลายบริษัทที่ต่อสัญญาเช่ากับเจ้าของอาคารที่อยู่ในปัจจุบัน พร้อมๆ กับการลดขนาดสำนักงานลง และคืนพื้นที่เช่าบางส่วน ซึ่งในการคืนพื้นที่ ส่วนใหญ่มักมีสัญญาผูกพันให้ผู้เช่าต้องคืนพื้นที่ให้กับเจ้าของอาคารในสภาพเดิมก่อนย้ายเข้า ในขณะที่งานรื้อถอนส่วนใหญ่สามารถทำได้เฉพาะในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การรื้อถอนเพื่อคืนพื้นที่มีต้นทุนสูงขึ้น

นายเทเลอร์คาดว่า แนวโน้มเหล่านี้จะดำเนินต่อไปในปี 2564

คาดค่าตกแต่งออฟฟิศในเมืองหลักๆ ส่วนใหญ่ของเอเชียแปซิฟิกปรับตัวสูงขึ้นในปี 2564

รายงานจากเจแอลแอลระบุว่า เมื่อเทียบปีนี้กับปีที่ผ่านมา พบว่า ต้นทุนค่าออกแบบตกแต่งสำนักงานในเอเชียแปซิฟิกโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.7% ซึ่งมีปัจจัยหลักๆ มากจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ข้อจำกัดจากมาตรการรักษาความปลอดภัยในสุขภาพ การขาดแคลนวัสดุ และต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น

นายมาร์ติน ฮินจ์ กรรมการผู้จัดการหน่วยธุรกิจบริหารโครงการก่อสร้าง ออกแบบและตกแต่งของเจแอลแอลภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกอธิบายว่า "เมืองที่มีการพึ่งพาแรงงานต่างชาติค่อนข้างมาก กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากรัฐบาลของประเทศต่างๆ มีมาตรการคุมเข้ม ไม่เฉพาะเกี่ยวกับการควบคุมการนำเข้าแรงงาน แต่ยังรวมถึงการออกระเบียบปฏิบัติที่เข้มงวดมากขึ้นเกี่ยวกับการตรวจสอบทั่วไป การดูแลป้องกันด้านสุขภาพและความปลอดภัย และการอนุญาตให้มีดำเนินงานก่อสร้างใดๆ ต่อ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นมาตรการควบคุมและป้องกันที่จำเป็น แต่ขณะเดียวกัน ได้ส่งผลให้การดำเนินงานก่อสร้างได้ประสิทธิผลลดลงและต้องยืดเวลาออกไปซึ่งเป็นปัจจัยทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น"

โดยรวม แม้ต้นทุนการออกแบบตกแต่งจะปรับเพิ่มขึ้น แต่เจแอลแอลเชื่อว่า บริษัทหรือองค์กรต่างๆ จะยังคงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงออฟฟิศเพื่อช่วยให้พนักงานมีความปลอดภัยและทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น และแม้หลายๆ บริษัทอาจพิจารณาปรับลดขนาดสำนักงาน แต่สำนักงานจะยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับองค์กรต่อไปเนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กร การสร้างแรงจูงใจให้พนักงานที่มีความสามารถยังคงอยู่ หรือเข้ามาร่วมงานกับองค์กร

นายฮินจ์กล่าวว่า "วิถีการทำงานของผู้คนได้รับผลกระทบที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในขณะที่บริษัทต่างๆ กำลังทบทวนความจำเป็นเกี่ยวกับการใช้ออฟฟิศสำนักงานเพื่อหาช่องทางในการลดต้นทุนในสถานการณ์โรคระบาดที่ส่งผลกระทบการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ ในหลายๆ ประเทศ ภาคธุรกิจเริ่มให้พนักงานกลับเข้าทำงานในออฟฟิศ หลายบริษัทได้ปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่สำนักงานให้สามารถรองรับมาตรการเว้นระยะห่าง รวมถึงเน้นความสำคัญของการมีเทคโนโลยีที่ช่วยให้พนักงานสามารถทำงานร่วมกันได้โดยที่ไม่มีอุปสรรคจากมาตรการเว้นระยะหรือการทำงานต่างสถานที่กัน"

ค่าออกแบบตกแต่งออฟฟิศใหม่ในแต่เมืองแตกต่างกัน

ดังที่ระบุข้างต้น กรุงโตเกียวของญี่ปุ่นครองอันดับเมืองที่มีต้นทุนค่าออกแบบตกแต่งสำนักงานเฉลี่ยแพงที่สุดในเอเชียแปซิฟิกติดต่อกันเป็นปีที่สี่ ส่วนอีกหลายเมือง อาทิ บริสเบน สิงคโปร์ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และเกือบทุกเมืองของอินเดีย มีแนวโน้มที่ต้นทุนจะปรับเพิ่มสูงขึ้นในปีหน้า เนื่องจากมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแรงงาน การพึ่งพาวัสดุนำเข้า และงานที่ล่าช้า

ในขณะเดียวกัน นอกเหนือจากกรุงเทพฯ แล้ว มีบางเมือง อาทิ โอ๊คแลนด์ มะนิลา โซล และไทเป ที่ต้นทุนค่าออกแบบตกแต่งมีแนวโน้มทรงตัว หรือปรับลดลง เนื่องจากบริษัทบริการงานก่อสร้าง ออกแบบตกแต่งหรือผู้รับเหมาหลายรายยอมรับงานที่แม้จะได้กำไรน้อยลง

นายฮินจ์กล่าวว่า "ต้นทุนค่าออกแบบตกแต่งสำนักงานจะแตกต่างกันไปตามแต่ละเมือง แต่ค่าเฉลี่ยโดยรวมสำหรับทั้งภูมิภาคยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในปีหน้า และแม้กระนั้น บริษัทต่างๆ จะคงต้องยอมลงทุนเพิ่มสำหรับออฟฟิศสำนักงานในด้านต่างๆ อาทิ เทคโนโลยี สุขอนามัย และสุขภาวะที่ดี เพื่อตอบสนองความคาดหวังที่เพิ่มสูงขึ้นของพนักงานในภาวะที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับ new normal"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ