สทนช.เร่งแผนฟื้นฟูแหล่งน้ำขนาดเล็ก แก้ปมน้ำนอกเขตชลประทานขาดแคลน

ข่าวทั่วไป Wednesday December 9, 2020 14:09 —ThaiPR.net

สทนช.เร่งแผนฟื้นฟูแหล่งน้ำขนาดเล็ก แก้ปมน้ำนอกเขตชลประทานขาดแคลน

สทนช.งัดแผนฟื้นแหล่งน้ำขนาดเล็กกว่า 1.4 แสนแห่งทั่วประเทศ เพิ่มความมั่นคงน้ำอุปโภคบริโภค และเกษตรในชุมชนได้เต็มศักยภาพ เติมเต็มแหล่งน้ำชลประทานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เตรียมเสนอกรอบแนวทางการพัฒนาเข้า กนช.28 ธ.ค.นี้

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยในโอกาสลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งสำหรับพื้นที่ห้วยโม้ง-ลำพะเนียง และต้นน้ำพอง จ.เลย ว่า นอกจากศึกษาศักยภาพแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่สามารถดึงน้ำจากลุ่มน้ำเลย และก่อสร้างแหล่งน้ำในบางพื้นที่ตามแผนหลักแล้ว สทนช. ยังพิจารณาถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำในระดับตำบล ผ่านการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก เช่น โครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำห้วยพะเนียงที่ลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นกรณีศึกษาตัวอย่างให้กับแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยโมง-ลำพะเนียงและต้นน้ำพอง ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากการรับฟังความเห็นในพื้นที่ มีการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่สำคัญ ที่ สทนช. อยู่ในระหว่างการขับเคลื่อนดำเนินการฟื้นฟูและพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากเป็นแหล่งน้ำที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติและอ่างเก็บน้ำ ซึ่งมีความจุน้อยกว่า 2 ล้าน ลบ.ม. กระจายอยู่จำนวนถึง 142,234 แห่ง รับผิดชอบโดย 10 หน่วยงาน อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นต้น ซึ่งตามแผนการกระจายอำนาจลงสู่ระดับท้องถิ่นต่อไปจะเป็นภารกิจหลักที่หน่วยงานท้องถิ่นจะเป็นเจ้าภาพหลักรับผิดชอบ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล รวมถึงเทศบาล มักประสบปัญหาในการเสนอแผนงานโครงการที่ท้องถิ่นยังขาดองค์ความรู้ข้อมูล รวมทั้งข้อจำกัดด้านศักยภาพและงบประมาณการบำรุงรักษา ที่ขาดความเชื่อมโยงกันระหว่างท้องถิ่นและหน่วยงานส่วนกลาง

ดังนั้น สทนช. จะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการจัดทำแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับท้องถิ่น ให้หน่วยงานท้องถิ่นสามารถเสนอโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กภายในพื้นที่ของตนเอง โดยประยุกต์ใช้ดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยมีตัวชี้วัด 8 มิติ เป็นเงื่อนไขในการลำดับความสำคัญความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาโครงการ ประกอบด้วย ด้านต้นทุนทรัพยากรน้ำ การจัดการน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค ความมั่นคงของน้ำเพื่อการพัฒนา ความสมดุลของน้ำต้นทุนและการใช้น้ำ การจัดการคุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อมน้ำ การจัดการภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำ และการจัดการและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี โดยหน่วยงานท้องถิ่นจะต้องจัดแผนทำปฏิบัติการในระยะ 5 ปี ผ่านทางคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ซึ่งหน่วยงานราชการจะสนับสนุนท้องถิ่นในการดำเนินการภารกิจถ่ายโอน ได้แก่ การจัดทำแผน ศึกษา สำรวจ ออกแบบ ควบคุมงานก่อสร้าง บำรุงรักษา ผ่านกลไกลของคณะอนุกรรมทรัพยากรน้ำจังหวัด ก่อนเสนอต่อไปยังคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบดำเนินการ 28 ธ.ค.นี้ ซึ่งจะช่วยเร่งให้เกิดการขับเคลื่อนฟื้นฟูแหล่งน้ำขนาดเล็กทั่วประเทศ ตอบสนองความต้องการใช้น้ำทั้งด้านอุปโภคบริโภคและด้านการเกษตรของคนในชุมชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งที่มีอยู่เดิมให้กลับมาอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน มีงบประมาณในการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสร้างใหม่ที่มีความแข็งแรงมั่นคงไม่ประสบปัญหาเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากมีประโยชน์โดยตรงกับชุมชนที่ห่างไกลแหล่งน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน

"โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำห้วยพะเนียง ต.นาด้วง อ.นาด้วง จ.เลย เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดเล็กที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณปี 2562 เดิมมีสภาพตื้นเขินและมีตะกอนสะสมเป็นจำนวนมาก อาคารระบายน้ำเดิมเกิดการชำรุดและไม่มีบานระบาย ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ ส่งผลให้เกิดปัญหาท่วมแล้งในพื้นที่ ซึ่งเทศบาลตำบลนาด้วงได้ร้องขอสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 3 จ.อุดรธานี ดำเนินการขุดลอกลำห้วยและก่อสร้างอาคารระบายน้ำ รวมทั้งก่อสร้างคลองส่งน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร เพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้กับราษฎรในพื้นที่ ปัจจุบันโครงการแล็วเสร็จ และได้ถ่ายโอนให้กับเทศบาลตำบลนาด้วงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 63 สามารถเก็บกักน้ำได้ 50,000 ลบ.ม. ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร 1,400 ไร่ การอุปโภค-บริโภค 200 ครัวเรือน ในพื้นที่ 1 ตำบล และยังใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด อีกทั้งยังมีการใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับทำการเกษตร 300 ไร่ ด้วย "ดร.สมเกียรติ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ