สทนช.แจงปล่อยปลาลงโขงฟื้นระบบนิเวศน์ ยึดหลักวิชาการ โต้ดึงมวลชนหนุนสร้างเขื่อน

ข่าวทั่วไป Tuesday December 15, 2020 10:19 —ThaiPR.net

สทนช.แจงปล่อยปลาลงโขงฟื้นระบบนิเวศน์ ยึดหลักวิชาการ โต้ดึงมวลชนหนุนสร้างเขื่อน

สทนช.แจงปล่อยปลาฟื้นระบบนิเวศน์น้ำโขงตามหลักวิชาการ ไม่มีเอี่ยวหนุนสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง ยันยึดเป้าหมายป้องผลประโยชน์ประเทศทุกเวทีเจรจา

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ชี้แจงกรณีเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสานตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดกิจกรรม"กำหนดเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำและพันธุ์พืชน้ำในแม่น้ำโขง" เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.63 ที่ผ่านมา ณ พื้นที่วังปลาบ้านปากมั่ง ต.หาดคำภีร์ อ.ปากชม จ.เลย ทั้งในประเด็นเรื่องการปล่อยปลาในฤดูหนาว ปลาจะไม่โต หรือหามวลชนเพื่อสนับสนุนการสร้างเขื่อนปากชมนั้น สทนช.ขอขี้แจงว่า กิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นตามข้อเสนอโครงการนำร่องของชุมชนในพื้นที่ 8 จังหวัดริมน้ำโขง สอดคล้องกับผลการศึกษากระทบและติดตามตรวจสอบผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ในลำน้ำโขงที่รัฐบาลมีความห่วงใยและพยายามที่จะป้องกันผลกระทบอย่างรอบด้านทั้งแผนระดับพื้นที่ควบคู่กับการผลักดันในเชิงนโยบายและระดับนานาชาติ ซึ่งกิจกรรมนึ้ถือเป็นหนึ่งในแผนระดับพื้นที่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงที่เป็นปัญหาเร่งด่วน คือ การอนุรักษ์พันธุ์ปลาและพันธุ์พืชในแม่น้ำโขง โดยเน้นสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ 8 จังหวัดริมน้ำโขง ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และฟื้นฟูระบบนิเวศในแม่น้ำโขงให้ยั่งยืน โดยเครือข่ายภาคประชาสังคมเป็นผู้วางแผน ขับเคลื่อนหลัก และหน่วยงานรัฐเป็นเพียงผู้หน่วยสนับสนุนทางวิชาการ และงบประมาณ อาทิ การกำหนดพื้นที่ชนิดพันธุ์สัตว์น้ำ พื้นที่ปล่อยสัตว์ต้องเป็นป่าบุ่งป่าทาม หรือแหล่งน้ำธรรมชาติ ไม่กีดขวางทางเรือสัญจร เป็นต้น รวมถึงการอนุบาลสัตว์น้ำก่อนปล่อยสู่ระบบนิเวศแม่น้ำโขง โดยเริ่มจัดเวทีประชาชนเพื่อกำหนดพื้นที่และกติกาการอนุรักษ์ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ส.ค.2563 ตามความพร้อมของแต่ละจังหวัด และเริ่มจัดกิจกรรมเพื่อประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย.63 ที่ อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ เป็นจังหวัดแรก ต่อด้วย จ.อำนาจเจริญ อุบลราชธานี เชียงราย เลย นครพนม หนองคาย และมุกดาหาร จังหวัดสุดท้ายในวันที่ 17 ธ.ค.นี้

"การจัดกิจกรรมดังกล่าวไม่มีวาระแอบแฝง หรือสร้างมวลชนเพื่อสนับสนุนการสร้างเขื่อนแต่อย่างใด ขอยืนยันว่า สทนช.มีความพยายามและความจริงใจที่จะนำเสนอข้อคิดเห็น ข้อห่วงกังวลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสายประธาน ไปยังประเทศเจ้าของโครงการและบริษัทผู้ก่อสร้าง ซึ่งอย่างน้อยที่สุดหากมีการสร้างเขื่อนเกิดขึ้นจะต้องมีมาตรการรองรับที่ขัดเจนทั้งกับประชาชนในพื้นที่ ระบบนิเวศน์น้ำโขง และผลกระทบข้ามพรมแดน" ดร.สมเกียรติ กล่าว

ดร.สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับการขับเคลื่อนการป้องกันผลกระทบในแม่น้ำโขงในระดับนโยบายและระดับนานาชาตินั้น สทนช.ได้หยิบยกประเด็นข้อกังวลถึงผลกระทบต่างๆ ทั้งจากภาคราขการ และภาคประชาชน เสนอในเวทีการเจรจา 4 ประเทศลุ่มน้ำโขงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเวทีประชุมคณะมนตรีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงครั้งล่าสุด ไทยได้ผลักดันให้เกิดกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประเทศให้เกิดผลชัดเจนเป็นรูปธรรมโดยเร็วด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะข้อกังวลกรณีโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม สปป.ลาว สทนช.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ในโอกาสลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งสำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยโมง-ลำพะเนียงและต้นน้ำพอง เมื่อวันที่ 8 - 9 ธ.ค.63 ที่ผ่านมาแล้ว สทนช.ยังได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูสภาพจริงของจุดก่อสร้างเขื่อนสานะคาม ซึ่งเป็นบริเวณโค้งน้ำสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนจากบนสกายวอร์ค อ.เชียงคาน จ.เลย ตามที่ฝ่ายไทยมีข้อห่วงกังวลเรื่องของพรมแดน และร้องขอให้ สปป.ลาว ให้ข้อมูลผลกระทบที่ข้ามพรมแดนและปัญหาเขตแดนที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยผ่านสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCs) ซึ่งหากยังไม่มีขัอมูลที่ชัดเจนได้ฝ่ายไทยก็ไม่สามารถดำเนินการจัดเวทีชี้แจงต่อผู้ส่วนได้ส่วนเสียภายในประเทศได้ตามระเบียบปฏิบัติคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เรื่อง การแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลงโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม สปป.ลาว (PNPCA) ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ