นโยบายด้านครอบครัวใด ที่ครอบครัวไทยอยากได้จากรัฐบาลทักษิณ 2

ข่าวทั่วไป Thursday March 3, 2005 16:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--สถาบันครอบครัวรักลูก
โครงการครอบครัวเข้มแข็ง สถาบันครอบครัวรักลูก ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเขตกรุงเทพฯและต่างจังหวัด พบว่าครอบครัวไทยต้องการพื้นที่สาธารณะและกิจกรรมสร้างสรรค์ค์สำหรับเด็กและเยาวชนมากที่สุด รวมถึงต้องการให้รัฐดูแลสื่ออย่างเข้มงวด อยากได้ โรงเรียนพ่อแม่ และการเรียนรู้ต่อเนื่องเพื่อปรับตัวให้ทันสภาพสังคม คุณสุภาวดี ชี้รัฐบาลจะทำเรื่อง “ครอบครัว” สำเร็จต้องเห็นโอกาสในความต้องการของครอบครัวไทย
นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันครอบครัวรักลูก เปิดเผยว่า เราได้ทำการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชน จำนวน 2,093 คน ในกรุงเทพฯ และพื้นที่ 8 จังหวัดนำร่องของโครงการ “สร้างเสริมศักยภาพการเรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็ง”(โครงการครอบครัวเข้มแข็ง) ซึ่งได้แก่ จ.พะเยา ลำปาง น่าน กาฬสินธุ์ สุรินทร์ สุราษฎร์ ตรัง พัทลุง-สงขลา ต่อเรื่อง “ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเรื่องครอบครัวต่อรัฐบาล” ที่ทางสถาบันฯจัดทำ
ปรากฏผลการสำรวจพบว่า ประชาชนทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดต้องการให้รัฐจัดพื้นที่สาธารณะและกิจกรรมสร้างสรรค์ค์สำหรับเด็กและเยาวชน อย่างเพียงพอถึง 69 % ของผู้ออกความคิดเห็นทั้งหมด, ต้องการให้รัฐบาลมีมาตรการควบคุมสื่ออย่างเข้มงวด 66% ประชาชนต้องการให้รัฐจัดการเรียนรู้ให้ครอบครัวใหม่ทุกครอบครัวเรื่องการพัฒนาครอบครัวก่อนการมีลูก 58% และ 53% ต้องการให้รัฐลดหย่อนภาษี แก่บุตรหลานที่ดูแลผู้สูงอายุ ทั้งนี้มีจำนวนครอบครัวไทยถึง 52 % ของความคิดเห็นทั้งหมดที่ต้องการให้รัฐจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาครอบครัวตนเองอย่างต่อเนื่อง
เรื่องของวัยรุ่นนั้น ประชาชนเห็นว่าควรให้มีการสอนเรื่องบทบาททางเพศ และครอบครัวศึกษาแก่เยาวชน 49 % และนโยบายให้หญิงคลอดลูกลาหยุดได้ 1 ปี และพ่อหยุดงานช่วยดูแลได้ระยะหนึ่ง เช่นในต่างประเทศนั้นมี 45 % ที่เห็นด้วย 42% มีความต้องการให้ครอบครัวตนมีการเรียนรู้และเข้าใจสภาพและการเปลี่ยนแปลงของแต่ละช่วงวัย ส่วนเรื่องการให้ข้าราชการย้ายครอบครัวไปอยู่ด้วยในจังหวัดเดียวกัน คิดเป็น 34 % ของความคิดเห็นทั้งหมด ความต้องการมาตรการส่งเสริมอื่นเช่นให้ลดค่าเดินทางเป็นครอบครัว มีแค่ 28 % และต้องการให้สถานประกอบการมีที่เลี้ยงเด็กมีเพียง 21 %
นางสุภาวดี ชี้ว่าผลการสำรวจความคิดเห็นทั้งคนในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดออกมาในทิศทางที่คล้ายกันมาก สะท้อนให้เห็นว่าหัวอกพ่อแม่ไทยไม่ว่าอยู่ที่ไหนต่างมีปัญหาเช่นเดียวกันคือในสังคมไทยไม่มี”ที่”และ”ทาง”ดีๆให้เด็กเดินอย่างเพียงพอ จึงเกิดปัญหาสังคมต่างๆอย่างมากมาย พ่อแม่ต้องการให้ภาครัฐมาเอาใจใส่สิ่งเหล่านี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการจัดการเรื่องสื่อที่เข้าไปถึงห้องนอน และอยู่กับ “ลูกหลาน”มากกว่าที่พ่อแม่ได้อยู่ด้วย และเป็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่งว่า พ่อแม่ไทยต้องการการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในเรื่องครอบครัว ตั้งแต่อยากให้โรงเรียนสอนเยาวชนเข้าใจเรื่องบทบาทชายหญิงและครอบครัวศึกษา ครอบครัวใหม่ต้องการความรู้ก่อนที่จะมีลูก พ่อแม่ต้องการความรู้และพัฒนาครอบครัวตนเองไปในกระแสโลกาภิวัตน์อย่างรู้เท่าทันในแต่ละช่วงวัยของชีวิต ซึ่งที่ผ่านมาหลายสิบปีโดยเฉพาะตั้งแต่ประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ครอบครัวไทยที่เกาะเกี่ยวแน่นแฟ้นเป็นปึกแผ่น ถูกทิศทางการพัฒนาประเทศที่เอา “เงิน” และ “ตัวเลข” เป็นตัวตั้ง ทำให้ครอบครัวเล็กลง แตกสานซ่านเซ็น ต่างคนต่างอยู่ แม้อยู่บ้านเดียวกันก็เป็นการอยู่แบบที่คนใต้บอกว่าพ่อแม่ลูกเดี๋ยวนี้ “กินคนหน นอนคนแห่ง แล่งไม่พูด(ถามไม่ตอบ)”
พ่อแม่และครอบครัวไทย สะท้อนความต้องการเรียนรู้ออกมาหลายเรื่องมาก เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาล ซึ่งประกาศไว้ว่าช่วง 4 ปีข้างหน้าจะเป็น 4 ปีที่รัฐบาลจะ “สร้าง” ประเทศไทยต้องรับฟังอย่างตั้งใจ และเห็นโอกาสที่จะนำความเรียกร้องต้องการในใจของคนเป็นล้านๆครอบครัวนี้นำไปทำเป็นนโยบายอย่างจริงจัง สมกับเป็นนโยบายหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญคือนโยบายเรื่องครอบครัว ประเทศไทยจะ “ดี”ได้ คนไทยต้อง “ดี” เยาวชนจะเติบโตเป็นคน “ดี”ได้ครอบครัวเป็นฐานที่มั่นคงที่สุด พลังความรักลูก + พลังรักครอบครัว คูณด้วยการเรียนรู้ จะนำไปสู่ศักยภาพการจัดการ แก้ปัญหาและพัฒนาตนเองของครอบครัวไทยทบเท่าพันทวีไม่รู้จบ”นางสุภาวดีกล่าวในที่สุด
ทางสถาบันรักลูกได้ร่วมกับนักวิชาการ และผู้ที่ทำงานด้านครอบครัวระดมสมองกัน เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาล เพื่อให้ทราบถึงปัญหาและความต้องการของครอบครัวไทยที่แท้จริง และรอบด้านมากขึ้น โดยจะมอบให้ตัวแทนรัฐบาล ในวันที่ 11 มีนาคม ที่จะถึงนี้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ประชาสัมพันธ์ โครงการครอบครัวเข้มแข็ง สถาบันครอบครัวรักลูก
โสภิดา ธนสุนทรกูร (แบม)
โทรศัพท์ 0 2913 7555 ต่อ 4640 โทรสาร 0 2831 8499--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ