มูลนิธิซิตี้ ร่วม ยูเอ็นดีพี เดินหน้า 6 เดือนเร่งฟื้นฟูวิสาหกิจชายแดนใต้ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ตั้งเป้าหนุนเยาวชน ผู้มีรายได้น้อย ผู้ว่างงาน

ข่าวทั่วไป Wednesday January 20, 2021 14:52 —ThaiPR.net

มูลนิธิซิตี้ ร่วม ยูเอ็นดีพี เดินหน้า 6 เดือนเร่งฟื้นฟูวิสาหกิจชายแดนใต้ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19  ตั้งเป้าหนุนเยาวชน ผู้มีรายได้น้อย ผู้ว่างงาน

มูลนิธิซิตี้ (Citi Foundation) ร่วมมือโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เปิดตัวโครงการพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนและนักบ่มเพาะวิสาหกิจเพื่อสังคมระดับท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย แก่กลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายใต้หลักการสำคัญว่าด้วย "การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" โดยโครงการดังกล่าวจะดำเนินการประเมินศักยภาพและความต้องการของชุมชน ผ่านกิจกรรมเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน นักบ่มเพาะวิสาหกิจเพื่อสังคมและกลุ่มชุมชนอื่น ๆ ในท้องถิ่น พร้อมการให้คำปรึกษาด้านการวางแผนธุรกิจและการสนับสนุนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ชุมชนในระดับท้องถิ่นสามารถริเริ่มหรือพัฒนาวิสาหกิจชุมชนของตนเองให้มีศักยภาพที่ดีขึ้นและยั่งยืน อันเป็นส่วนหนึ่งช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ตลอดจนยังเป็นการเสริมสร้างโอกาสให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งครัวเรือนที่มีรายได้น้อย เยาวชน ตลอดจนผู้ว่างงานทั้งชายและหญิง ทั้งนี้โครงการดังกล่าวกำหนดดำเนินในระยะเวลา 6 เดือน

มร. ทีบอร์ พานดิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย และตัวแทนมูลนิธิซิตี้ กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลกในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเปราะบาง ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิซิตี้ได้เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าวจึงได้ริเริ่มกองทุน "การบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19" (COVID-19 Relief) เพื่อหนุนเสริมกลุ่มชุมชนที่ได้รับผลกระทบและช่วยเหลือให้กลุ่มชุมชนเหล่านี้ได้สามารถฟื้นฟูผ่านกลไกและรูปแบบของท้องถิ่น พร้อมทั้งเสริมสร้างและกระจายผลประโยชน์ที่ได้จากการพัฒนาอย่างเท่าเทียม โดยโครงการนี้เป็นความพยายามร่วมกันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกในชุมชน ผู้นำภาคประชาสังคมและสถาบันวิชาการเพื่อเพิ่มโอกาสในการพัฒนาอาชีพและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งมูลนิธิซิตี้มีเป้าหมายในการทำงานที่ส่งเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนทั่วโลกให้ดีขึ้นด้วยการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินอย่างทั่วถึง ควบคู่ไปกับการสร้างอาชีพสำหรับเยาวชน เพื่อสร้างสภาพเศรษฐกิจของชุมชนที่ดีขึ้น นอกจากการให้ความช่วยเหลือแล้ว มูลนิธิซิตี้ยังได้ใช้ความเชี่ยวชาญในฐานะสถาบันการเงินชั้นนำและความพร้อมของพนักงานที่สนับสนุนให้พันธกิจของบริษัทประสบความสำเร็จ ผ่านการขับเคลื่อนแนวคิดความเป็นผู้นำและนวัตกรรมอีกด้วย

มร. เรโนด์ เมเยอร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า รายละเอียดการดำเนินงานของ "โครงการพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนและนักบ่มเพาะวิสาหกิจเพื่อสังคมระดับท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย" ได้ประยุกต์หลักนวัตกรรมทางสังคมและแนวทางผู้ประกอบการเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อนเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในระดับฐานรากอย่างเร่งด่วนที่สุด โดยจะเริ่มจากประเมินศักยภาพและความต้องการของชุมชน ผ่านกิจกรรมเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน นักบ่มเพาะวิสาหกิจเพื่อสังคมและกลุ่มชุมชน การให้คำปรึกษาด้านการวางแผนธุรกิจ การสนับสนุนอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ชุมชนในระดับท้องถิ่นสามารถริเริ่มหรือพัฒนาวิสาหกิจชุมชนของตนเองให้มีศักยภาพที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ทั้งนี้โครงการฯ จะมีการตรวจสอบการประเมินผลลัพธ์ตามตัวชี้วัด ตลอดระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 6 เดือน โดยตัวชี้วัดดังกล่าวถูกกำหนดร่วมกันระหว่าง UNDP และผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินผลกระทบทางสังคมและศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนาด้านการพัฒนาธุรกิจในภาคใต้ โดยจะวัดผลลัพท์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการของวิสาหกิจชุมชนภายใต้โครงการฯ จะส่งผลกระทบเชิงบวกและเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกในชุมชนอย่างกว้างขวาง

ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมูลนิธิซิตี้ได้ที่ www.citifoundation.com


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ