GIT ผ่านทดสอบ Hallmarking Convention โชว์ศักยภาพห้องปฏิบัติการตรวจสอบโลหะมีค่าระดับโลก

ข่าวทั่วไป Monday February 1, 2021 14:10 —ThaiPR.net

GIT ผ่านทดสอบ Hallmarking Convention โชว์ศักยภาพห้องปฏิบัติการตรวจสอบโลหะมีค่าระดับโลก

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ Hallmarking Convention และได้ผ่านการทดสอบความสามารถระหว่างห้องปฏิบัติการตรวจสอบโลหะมีค่าในกลุ่มสมาชิกทั่วโลก กว่า 60 แห่ง ตามขอบข่ายการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC17025 โชว์ศักยภาพห้องปฎิบัติการตรวจสอบโลหะมีค่าระดับโลก พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมอัญมณีและแครื่องประดับไทย

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบัน GIT เปิดเผยว่า หลังจากได้รับนโยบายจาก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้เตรียมความพร้อมเพื่อเร่งผลักดันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับภายหลังการคลี่คลายจากภาวะโควิด ดังนั้นเพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยให้สามารถส่งออกไปยังตลาดโลกได้มากยิ่งขึ้น จึงได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ (องค์การมหาชน) เร่งสร้างมาตรฐานอัญมณีและเครื่องประดับตอบโจทย์การค้าในปัจจุบัน

ดังนั้นในปี 2563 ที่ผ่านมา สถาบันจึงได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ Hallmarking Convention ซึ่งเป็นหน่วยงานมาตรฐานสากลและมีสมาชิกให้การยอมรับจากทั่วโลก โดยเข้าร่วมทดสอบความสามารถของห้องปฏิบัติการตรวจสอบโลหะมีค่าจากทั่วโลกมากกว่า 60 แห่ง ตามขอบข่ายที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC17025 จำนวน 3 เทคนิค ด้วยกัน ได้แก่

  • การวิเคราะห์ค่าความบริสุทธิ์ของโลหะทองคำ ด้วยเทคนิค XRF (In-house method: WI-IST-08 based on ASTM E1508-12a)
  • การวิเคราะห์ค่าความบริสุทธิ์ของโลหะเงิน ด้วยเทคนิค Auto-titration (In-house method: WI-IST-03 based on ISO11427:2014 (E))
  • การวิเคราะห์ค่าความบริสุทธิ์ของทองคำ ด้วยเทคนิค Fire Assay (In-house method: WI-IST-03 based on ISO11426:2014)
  • สำหรับวิธีการทดสอบความสามารถของห้องปฏิบัติการของทาง Hallmarking คือการส่งตัวอย่างโลหะมีค่าที่ไม่บอกค่าความบริสุทธิ์มาให้ห้องปฏิบัติการที่เป็นสมาชิก เพื่อทดสอบตามขอบข่ายที่กำหนด และให้ส่งผลที่วิเคราะห์กลับไปเพื่อเปรียบเทียบกับค่าที่ถูกต้อง รวมถึงการเทียบผลกับห้องปฏิบัติการตรวจสอบในขอบข่ายเดียวกัน โดยผลทดสอบของสถาบันพบว่าผ่านเกณฑ์ได้ทั้งหมด มีความถูกต้องและแม่นยำตามที่ Hallmarking Convention กำหนดเป็นมาตรฐานในทุกขอบข่ายของการทดสอบ  ซึ่งถือว่าเป็นการยืนยันความสามารถของห้องปฏิบัติการตรวจสอบโลหะมีค่าของสถาบันที่สามารถเทียบชั้นกับมาตรฐานกับ Assay Office อื่นๆ ในระดับโลก เช่น สวิสเซอร์แลนด์ อังกฤษ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และ จีน เป็นต้น

    ผู้อำนวยการ GIT ยังกล่าวเสริมอีกว่า ในสถานการณ์ขณะนี้ สิ่งที่ GIT จะช่วยผู้ประกอบการได้ สถาบันจำเป็นต้องเร่งสร้างความมั่นใจให้ทั้งผู้ซื้อ - ผู้ขายอัญมณีและเครื่องประดับ ด้วยการสร้างมาตรฐานการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับและโลหะมีค่า (GIT STANDARD) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเข้าร่วมทดสอบครั้งนี้ก็ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของห้องปฏิบัติการตรวจสอบของไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลกเช่นกัน

     หากผู้บริโภคสนใจหรือมีความต้องการในการเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันแนะนำให้เลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับที่ผ่านการตรวจสอบและได้ใบรับรองคุณภาพจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ หรือเลือกซื้อสินค้าในร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ในโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ ผ่านใบรับรอง GIT หรือที่รู้จักในชื่อโครงการ Buy With Confidence (BWC) หรือสามารถสอบถามเบื้องต้นผ่านแอพลิเคชั่น "CARAT" ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นให้คำปรึกษาออนไลน์และเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย


    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ