บ๊อชฝ่าวิกฤตโคโรน่าไวรัส โชว์ผลประกอบการในแดนบวก พร้อมประกาศความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ตามเป้า และรุดหน้ากว่าแผนที่วางไว้ในปี 2563

ข่าวเทคโนโลยี Thursday February 11, 2021 12:26 —ThaiPR.net

บ๊อชฝ่าวิกฤตโคโรน่าไวรัส โชว์ผลประกอบการในแดนบวก พร้อมประกาศความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ตามเป้า และรุดหน้ากว่าแผนที่วางไว้ในปี 2563

สำหรับปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา กลุ่มบ๊อช แสดงผลประกอบการเป็นบวกได้ แม้จะประสบกับวิกฤตไวรัสโคโรน่าและการถดถอยของอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ในฐานะผู้ผลิตเทคโนโลยีและบริการรายใหญ่ บริษัทฯ ทำผลงานได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยตัวเลขผลประกอบการเบื้องต้น แสดงให้เห็นว่า กำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) คิดเป็นมูลค่า 1.9 พันล้านยูโร อัตรากำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษีจึงเท่ากับประมาณร้อยละ 2.5 และหลังจากปรับโครงสร้างค่าใช้จ่าย กำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษีจะเท่ากับประมาณ 3.3 พันล้านยูโร หรือมีอัตรากำไรร้อยละ 4.5

ยอดขายของกลุ่มบ๊อชโดยรวมเท่ากับ 71.6 พันล้านยูโร ลดลงร้อยละ 4.4 จากปีก่อนหน้าเมื่อหักผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว "แม้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค แต่บริษัทก็ยังทำผลประกอบการให้เป็นบวกได้ สิ่งสำคัญที่ต้องขอขอบคุณมากกว่าสิ่งใดคือ ความมุ่งมั่นแรงกล้าของพนักงานทุกคนของเรา" ดร.โวคมาร์ เดนเนอร์ ประธานกรรมการ Robert Bosch GmbH กล่าวในระหว่างนำเสนอผลประกอบการเบื้องต้นของธุรกิจ และเสริมว่าการแตกธุรกิจไปในกลุ่มธุรกิจต่างๆ และขยายฐานไปทั่วโลก ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นแนวทางที่ให้ผลคุ้มค่า

"การลงทุนในธุรกิจที่จะมีความสำคัญในอนาคต เช่น โซลูชั่นการขับเคลื่อนแบบยั่งยืน อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (IoT) และปัญญาประดิษฐ์ เหล่านี้เป็นการปูทางไปสู่ความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมของเรา" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บ๊อชนั้นเชื่อว่า AIoT ที่เป็นการประสานระหว่าง AI และ IoT จะเป็นธุรกิจที่สร้างโอกาสการเติบโตในตลาดมูลค่านับพันล้านได้ "เราต้องการเป็นผู้นำด้าน AIoT" ดร.เดนเนอร์กล่าว "จุดแข็งที่เรามีองค์ความรู้กว้างขวางหลายแขนง รวมทั้งความเชี่ยวชาญเชิงลึกด้านอิเล็กทรอนิกส์และซอฟต์แวร์ ทำให้เรามีแต้มต่อเหนือคู่แข่ง"

ปฏิบัติการที่ทันการณ์ ส่งผลให้กระแสเงินสดและสถานะทางการเงินคล่องตัวสูง
หลังจากที่ยอดขายของบ๊อชลดฮวบสืบเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์เมื่อช่วงไตรมาสที่สองของปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศและหลายอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ต่างก็ฟื้นตัวขึ้นมากในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 "เราพึงพอใจในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางที่พัฒนาขึ้นมาในช่วงปี 2563 แม้จะต้องประสบกับวิกฤต" ศ.สเตฟาน อเซนเคียชเบาเมอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและรองประธานกรรมการกล่าว "เราบริหารจัดการต้นทุนและใช้จ่ายการลงทุนให้สมดุลได้อย่างทันท่วงทีในขณะที่ยอดขายลดลง โดยไม่ได้ละเลยการเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจใหม่" ผลที่ตามมาคือ บ๊อชมีกระแสเงินสดเหลือเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5 พันล้านยูโร ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของบริษัท ยิ่งเพิ่มความมั่นใจในสถานะการเงินของบริษัทว่าจะมีความคล่องตัวเพียงพอในช่วงวิกฤต การที่บ๊อชมีอัตราค่าใช้จ่ายลงทุนประมาณร้อยละ 5 ทำให้ประหยัดเงินสดไปได้ประมาณหนึ่งพันล้านยูโรเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

เติบโตอย่างยั่งยืนโดยเน้นความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศและระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า
แม้จะประสบกับภาวะวิกฤต แต่บ๊อชก็ยังคงเน้นกลยุทธ์โดยให้ความสำคัญกับธุรกิจแห่งอนาคต และเน้นแนวปฏิบัติที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืน บริษัทประสบความสำเร็จไปอีกขั้นในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2563 แม้ในสถานการณ์โรคระบาด โดยบรรลุเป้าหมายในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนในสำนักงานครบทั้ง 400แห่งทั่วโลก "เรายึดมั่นคำสัญญา จากการคำนวณภายในองค์กร บ๊อชได้กลายเป็นองค์กรอุตสาหกรรมที่มีฐานกระจายอยู่ทั่วโลกแห่งแรก ที่สามารถบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2563 ซึ่งเร็วกว่าเป้าที่วางไว้ สามารถชดเชยคาร์บอนและประหยัดต้นทุนได้มากกว่าที่ตั้งเป้าไว้" ดร.เดนเนอร์กล่าวและอธิบายว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการสอบทานโดยผู้ตรวจสอบภายในอิสระ นอกจากนี้ เขายังย้ำถึงเป้าหมายต่อไปของบ๊อชที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ร้อยละ 15 ให้ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานภายในปี 2573

บ๊อชได้นำประสบการณ์ความสำเร็จในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน ไปแบ่งปันให้แก่บริษัทอื่น ผ่านทางสายงาน Bosch Climate Solutions ที่มีลูกค้าอย่าง Freudenberg, Hansgrohe และ Koehler Paper Group "บริการใหม่ของเราคือ การเป็นที่ปรึกษา เพื่อช่วยให้บริษัทอื่นอีกหลายแห่งมีความเป็นกลางทางคาร์บอนได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นช่องทางการเติบโตของธุรกิจเราทางหนึ่ง" ดร.เดนเนอร์กล่าว

ด้วยเหตุนี้ บ๊อชจึงเน้นพัฒนาโซลูชั่นเดิมหรือคิดค้นโซลูชั่นใหม่ๆ ให้รองรับอนาคตแห่งการขับเคลื่อน ดร.เดนเนอร์อธิบายว่า บริษัทได้ลงทุนไปแล้ว 5 พันล้านยูโรในด้านระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และในปีนี้จะลงทุนอีก 700 ล้านยูโรเพื่อพัฒนาโซลูชั่นการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งรวมถึงเซลล์เชื้อเพลิง มูลค่าการลงทุนนี้คิดเป็นร้อยละ 40 ของปีที่ผ่านมา ทั้งหมดนี้ก็เพื่อมุ่งพัฒนาการขับเคลื่อนที่ยั่งยืน

"ในอนาคตอันใกล้ การขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจะเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของบ๊อช เป้าหมายของเราคือ การเป็นผู้นำตลาดระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า สำหรับรถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่และเซลล์เชื้อเพลิง" ดร.เดนเนอร์กล่าว "เรามีพอร์ตผลิตภัณฑ์และบริการด้าน e-mobility มากกว่าบริษัทอื่น ตั้งแต่ e-bike ไปจนถึงรถบรรทุก" นอกจากนี้ เขายังอธิบายว่า การที่บ๊อชลงทุนในธุรกิจด้านนี้ล่วงหน้าไปก่อน ได้ให้ดอกผลกลับคืนมาแล้ว เพราะธุรกิจระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามีอัตราการเติบโตที่เร็วกว่าตลาดถึงสองเท่าและมีมูลค่าหลายพันล้านยูโร นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา บ๊อชดำเนินโครงการระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าไปแล้ว 90 โครงการ ซึ่งรวม 30 โครงการในปีที่ผ่านมาที่มีมูลค่าถึง 7.5 พันล้านยูโร ปัจจุบันยานยนต์กว่า 2.5 ล้านคันทั่วโลกมีส่วนประกอบของระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าของบ๊อช

การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง ทำให้การเปลี่ยนผ่านราบรื่น
ดร.เดนเนอร์ยังเปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของอุตสาหกรรมและมาตรฐาน Euro7 ทำให้อุตสาหกรรมประสบกับช่วงเปลี่ยนผ่านอันท้าทาย "ยุคแห่งระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ากำลังจะมาถึง และบ๊อชได้ดำเนินการเชิงรุกให้พร้อมรองรับมาหลายปีแล้ว" เขากล่าวและเสริมว่า "แต่การที่ต้องลงทุนล่วงหน้าจะต้องมีแหล่งเงินทุนมาจากธุรกิจระบบขับเคลื่อนของเรา" เพื่อรักษาทีมให้ไปพร้อมด้วยกันในช่วงเปลี่ยนผ่าน บ๊อชและบริษัทต่างๆ ในเครือจำเป็นต้องทำให้ช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่น "รถยนต์ไฟฟ้าจะมีความเป็นกลางทางคาร์บอนเมื่อใช้ระบบไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รถยนต์ที่ใช้ดีเซลและเบนซินเองก็ควรต้องใช้เชื้อเพลิงสังเคราะห์ เราไม่ควรทำให้มาตรฐาน Euro7 มาเป็นอุปสรรคต่อการช่วยลดโลกร้อน" แม้แต่ในปัจจุบัน เครื่องยนต์ดีเซลและเบนซินก็ไม่ได้ส่งผลต่อคุณภาพอากาศในเมืองอย่างมีนัยสำคัญ "การที่สภาพสังคมและเศรษฐกิจดีอยู่แล้ว ไม่ได้หมายความว่าควรจะละเลยเรื่องสภาพสิ่งแวดล้อม" ดร.เดนเนอร์เผย "เราต้องสร้างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ นิเวศวิทยา และสังคมไปพร้อมกัน" การช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์เปลี่ยนผ่านไปสู่การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สู่การขับเคลื่อนสีเขียว ขณะที่ยังคงรักษาการจ้างงานไว้ได้นั้น ควรเป็นเป้าหมายที่อุตสาหกรรมต้องไปให้ถึง

AIoT มีโอกาสเติบโตสูง ผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมต่อถึงกันชาญฉลาดมากขึ้น
การนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาผนึกกับอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (IoT) เป็นการปูทางไปสู่ตลาดที่มีมูลค่านับพันล้าน บริษัทจึงใช้ โซลูชั่น IoT สร้างสรรค์คุณค่าให้ลูกค้าได้เพิ่มขึ้น โดยลดต้นทุนด้านพลังงาน ขณะที่เพิ่มความสะดวกสบายและความปลอดภัยให้มากขึ้น การเชื่อมต่อถึงกันทำให้มีข้อมูลว่ามีการใช้ผลิตภัณฑ์ของบ๊อชไปในลักษณะใด บ๊อชอยากจะใช้ประโยชน์ด้านนี้ในการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้งาน ผ่านทางการอัปเดตซอฟต์แวร์ หรือใช้เป็นฐานต่อยอดไปสู่ฟังก์ชั่นหรือบริการใหม่ๆ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บ๊อชได้วางรากฐานด้านเทคนิคที่จำเป็นเอาไว้แล้ว มีทั้งชุดซอฟต์แวร์ IoT ที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ เซ็นเซอร์ เกตเวย์ และโครงสร้างระบบคลาวด์ที่ประมวลผลข้อมูล นอกจากนี้ ยังมีแพลตฟอร์ม AI ที่ช่วยยกระดับสมรรถนะ สามารถนำ AI ไปใช้กับระบบต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว "ขั้นตอนต่อไปคือ การเปลี่ยนความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคให้กลายเป็นธุรกิจ" ดร.เดนเนอร์กล่าว บ๊อชมีการจำหน่ายอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อถึงกันได้นับสิบล้านชิ้น ทั้งเครื่องมือไฟฟ้า เครื่องใช้ในบ้าน ระบบทำความร้อน จำนวนผู้ใช้ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เมื่อบริษัทต้องการต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านเอไอ จึงได้ตั้ง Bosch Center for Artificial Intelligence (BCAI) ขึ้นมาเมื่อต้นปี 2560 เป็นการมองการณ์ไกลที่ให้ผลในปัจจุบัน เพราะเพียงสามปีหลังการก่อตั้งก็คุ้มค่าการลงทุนที่คิดเป็นมูลค่าราว 300 ล้านยูโร ตอนนี้ BCAI มีผู้เชี่ยวชาญด้าน AI รวม 270 คนที่กำลังขะมักเขม้นทำงาน 180 โครงการในด้านระบบการขับเคลื่อน การผลิต ระบบบ้านอัจฉริยะ และด้านการเกษตร

สายงานใหม่ที่เชี่ยวชาญด้านโซลูชั่นที่เชื่อมต่อแบบข้ามโดเมน (Cross-Domain Computing Solutions) มีพนักงานประมาณ 17,000 คนช่วยขับเคลื่อนให้บ๊อชก้าวไปสู่การเป็นบริษัทแห่ง AIoT ชั้นนำได้ "สายงานใหม่ได้รวมพัฒนาการของทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เข้ามาใช้ในสถาปัตยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของยานยนต์" ดร.เดนเนอร์กล่าว "นี่จะเป็นประตูไปสู่ตลาดใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะในรถยนต์ที่ยกระดับไปอีกขั้น" เฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังของ 2563 บ๊อชได้รับคำสั่งซื้อระบบคอมพิวเตอร์ในรถยนต์มูลค่า 2.5 พันล้านยูโรแล้ว และมีดีลอื่นๆ อีกมูลค่านับพันล้านที่จะตามมาในปีนี้

บ๊อชกำลังพัฒนาการนำ AIoT ไปใช้ในธุรกิจต่างๆ ตัวอย่างหนึ่งคือ Aviotec ซึ่งเป็นระบบการตรวจจับอัคคีภัยผ่านวิดีโอโดยใช้ AI ตรวจจับควันและเปลวไฟแม้จะมีแสงจากอินฟราเรดเพียงแหล่งเดียวก็ตรวจจับได้ อีกตัวอย่างหนึ่งคือ แพลตฟอร์มแอปพลิเคชั่นสำหรับการตรวจดูชิ้นงานโดยใช้ AI ซึ่งช่วยตรวจจับได้แม้จะมีเพียงรอยขีดข่วนเล็กๆ บนพื้นผิว สำหรับการติดตามการออกกำลังกาย ก็มี เซ็นเซอร์ ที่ใช้ edge AI ช่วยลดความหน่วงและการกินพลังงาน โดยเทคโนโลยีอัจฉริยะนี้อยู่ที่ตัวเซ็นเซอร์เอง

การเติบโตของธุรกิจในปี 2563 จำแนกตามกลุ่มธุรกิจ
ยอดขายในกลุ่มธรกิจต่างๆ ลดลงอันเป็นผลเนื่องมาจากภาวะโรคระบาด มีเพียงกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคเท่านั้นที่ยอดขายมีอัตราการเติบโต ธุรกิจโซลูชั่นแห่งการขับเคลื่อน (Mobility Solutions) ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการหยุดชะงักของสายการผลิตรถยนต์ ทำยอดขายได้ 42.3 พันล้านยูโร อย่างไรก็ดี แม้จะมียอดขายลดลงจากปีก่อนร้อยละ 9.5 ธุรกิจก็ยังโตได้เร็วกว่าตลาดโดยรวมที่การผลิตรถยนต์หดตัวถึงร้อยละ 15 และเมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยอดขายจะลดลงไปร้อยละ 8.1 สำหรับกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เป็น 18.6 พันล้านยูโร เมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว จะมียอดขายเพิ่มร้อยละ 8.2 กลุ่มธุรกิจเครื่องใช้ในบ้านและเครื่องมือไฟฟ้านั้น ได้ประโยชน์จากการที่ผู้บริโภคทำกิจกรรมเกี่ยวกับการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมรอบบ้าน ส่วนกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีอุตสาหกรรม แม้จะมียอดขายพุ่งขึ้นมาตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่สาม แต่ก็ไม่สามารถหลุดพ้นภาวะการอ่อนตัวของตลาดที่ยาวนานต่อเนื่อง ทำให้มียอดขายรวม 5.1 พันล้านยูโร ลดลงร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และเมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว จะมียอดขายลดลงร้อยละ 15 สำหรับกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานและอาคาร ทำยอดขายได้ 5.4 พันล้านยูโร ซึ่งแม้ธุรกิจระบบทำความร้อนจะได้รับการสนับสนุนและดำเนินไปด้วยดี แต่การยกเลิกการจัดงานต่างๆ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีด้านการประชุมและสัมมนา ยอดขายจึงลดลงร้อยละ 3.4 หรือร้อยละ 2 หลังปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว

การเติบโตของธุรกิจในปี 2563 จำแนกตามภูมิภาค
บ๊อชตระหนักดีถึงผลกระทบจากยอดขายที่ลดลงอย่างมากในช่วงไตรมาสที่สองของปีในทุกภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นยอดขายในยุโรป ที่มีมูลค่ารวม 38 พันล้านยูโร หรือลดลงร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หรือร้อยละ 4.6 เมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยอดขายในอเมริกาเหนือก็ลดลงในอัตราร้อยละ 14 เป็น 10.8 พันล้านยูโร หรือคิดเป็นลดลงร้อยละ 12 เมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ทางด้านอเมริกาใต้ มียอดขายรวม 1.1 พันล้านยูโร ลดลงร้อยละ 21 เมื่อคิดเป็นตัวเงินแต่เมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยอดขายจะลดลงร้อยละ 2.5 เท่านั้น สำหรับเอเชียแปซิฟิกมียอดขายรวม 21.7 พันล้านยูโร ลดลงเพียงร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน และเมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยอดขายกลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ทั้งนี้ การฟื้นตัวเร็วของตลาดและการเติบโตของตลาดจีนมีส่วนช่วยอย่างมาก เป็นครั้งแรกที่ยอดขายในจีนมีมูลค่าสูงเกินกว่ายอดขายในเยอรมนี และนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของบ๊อช

จำนวนพนักงานในปี 2563 แสดงถึงการจ้างงานที่มั่นคง
กลุ่มบริษัทบ๊อชมีการจ้างงานประมาณ 394,500 คนทั่วโลก จากข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 แสดงให้เห็นว่า บ๊อชสามารถรักษาระดับการจ้างงานส่วนใหญ่เอาไว้ได้ โดยมีการเปลี่ยนแปลงในตลาดจีนและเยอรมนีเป็นส่วนใหญ่ บ๊อชมีพนักงานด้านวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพื่อรองรับการลงทุนเชิงกลยุทธ์หลักที่วางไว้

คาดการณ์ภาพรวมในปี 2564 วางเป้าฟื้นธุรกิจอย่างแข็งแกร่งหลังผ่านพ้นวิกฤต
บ๊อชคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในปี 2564 หลังจากที่หดตัวไปประมาณร้อยละ 4.5 ในปีที่แล้ว บ๊อชคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตได้เกือบร้อยละ 4 ในปีนี้ "วิกฤตยังไม่สิ้นสุด" ศ.อเซนเคียชเบาเมอร์กล่าว ด้วยเห็นว่าไม่เพียงแต่อัตราการติดเชื้อยังสูงอยู่ต่อเนื่อง แต่ยังมีข้อจำกัดทางสังคมและเศรษฐกิจอีกที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวม เขายังอธิบายเพิ่มเติมว่า ประเด็นทางการเมืองเรื่อง Brexit และการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ก็ยังดำเนินต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะมีการสร้างข้อจำกัดทางการค้าที่จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกอีกด้วย

"แม้ว่าจะมีอุปสรรคหรือปัจจัยท้าทายต่างๆ แต่เป้าหมายของบ๊อชก็ยังคงมุ่งสู่การเติบโตอย่างแข็งแกร่งให้มากกว่าตลาดในทุกกลุ่มธุรกิจ และในภูมิภาคต่างๆ ที่มีความสำคัญสำหรับเรา" ทั้งนี้ ไม่ว่าการแพร่ระบาดของโรคจะรุนแรงขึ้นหรือไม่ก็ตาม แต่บ๊อชก็ยังคงปรับตัวต่อเนื่องเพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างที่เปลี่ยนไป และจะทำให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายในสังคม "ความพยายามของเราในการลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ส่งผลให้สถานะทางการเงินของเราแข็งแกร่ง และสามารถขยายไปสู่ตลาดและธุรกิจใหม่ๆ ได้อย่างสมเหตุสมผล"

เกี่ยวกับกลุ่มบ๊อช
กลุ่มบริษัทบ๊อช ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเทคโนโลยีและบริการชั้นนำของโลก มีพนักงานทั่วโลกกว่า 394,500 คน (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563) จากตัวเลขเบื้องต้น ในปี 2563 บริษัทมียอดขายรวมทั้งสิ้นกว่า 71.6 พันล้านยูโร โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 กลุ่มธุรกิจสำคัญ ได้แก่ กลุ่มโซลูชั่นส์แห่งการขับเคลื่อน กลุ่มเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มเทคโนโลยีพลังงานและอาคาร ในฐานะผู้นำทางด้าน IoT (Internet of Things) บ๊อช นำเสนอนวัตกรรมแห่งโซลูชั่นส์ เพื่อบ้านอัจฉริยะ อุตสาหกรรม 4.0 และยานยนต์ที่สามารถเชื่อมต่อถึงกัน บ๊อชยืนหยัดในวิสัยทัศน์ที่ช่วยให้การขับเคลื่อนเป็นไปด้วยความยั่งยืน ปลอดภัย และมีความน่าตื่นตาตื่นใจ ด้วยความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ ซอฟต์แวร์ และการให้บริการ รวมถึงไอโอทีคลาวด์ของบ๊อชเอง เราจึงสามารถให้บริการโซลูชั่นส์ที่เชื่อมต่อแบบข้ามโดเมนได้เบ็ดเสร็จจากแหล่งเดียว เป้าหมายกลยุทธ์ของเราคือเอื้ออำนวยการใช้ชีวิตที่เชื่อมต่อด้วยผลิตภัณฑ์หรือโซลูชั่นซึ่งมีส่วนประกอบหรือได้รับการพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ บ๊อช พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นนวัตกรรมและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนทั่วทุกมุมโลกซึ่งนับได้ว่าเป็น "เทคโนโลยีเพื่อชีวิต" กลุ่มบ๊อช ประกอบด้วยบริษัท โรเบิร์ต บ๊อช จีเอ็มบีเอช และบริษัทในเครืออีกกว่า 440 บริษัท รวมถึงสำนักงานระดับภูมิภาคในประเทศต่างๆ อีกกว่า 60 ประเทศ หากรวมบริษัทคู่ค้าผู้จัดจำหน่ายและให้บริการต่างๆ ทั้งส่วนการผลิต งานวิศวกรรม และเครือข่ายด้านการขาย บ๊อชครอบคลุมอยู่เกือบทุกประเทศทั่วโลก เพราะพื้นฐานสำคัญสำหรับการขยายตัวในอนาคตของบริษัทขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งด้านนวัตกรรม บริษัทจึงมีพนักงานในส่วนการวิจัยและพัฒนากว่า 73,000 คน ในศูนย์วิจัยและพัฒนากว่า 126 แห่งทั่วโลก รวมทั้งวิศวกรซอฟต์แวร์อีกกว่า 30,000 คน

บริษัทก่อตั้งขึ้น ในปี พ.ศ. 2429 ณ เมืองชตุทท์การ์ท ประเทศเยอรมนี โดย มร.โรเบิร์ต บ๊อช (พ.ศ. 2404 - 2485) โดยเริ่มการเปิด "ศูนย์วิศวกรรมการออกแบบและควบคุมเชิงกลศาสตร์และวิศวกรรมไฟฟ้า" ด้วยโครงสร้างที่พิเศษของ โรเบิร์ต บ๊อช ทำให้บริษัทมีอิสระในการดำเนินงาน และสามารถวางแผนในระยะยาว ทำการลงทุนได้อย่างทันท่วงทีเพื่อเป็นหลักประกันในอนาคตของบริษัท โดยมีมูลนิธิ โรเบิร์ต บ๊อช เป็นผู้ถือหุ้นหลักร้อยละ 94 ของบริษัท โรเบิร์ต บ๊อช จีเอ็มบีเอช แต่ทว่าสิทธิในการลงคะแนนและอำนาจในการบริหารจัดการจะได้รับการดูแลโดย คณะผู้บริหารบ๊อช (Robert Bosch Industrietreuhand KG) ซึ่งเป็นผู้จัดการทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม และปัจจุบันหุ้นส่วนที่เหลือนั้นเป็นของเครือบริษัทบ๊อช และบริษัทโรเบิร์ต บ๊อช จีเอ็มบีเอช เยอรมนี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ