เมื่อหัวใจสั่นพลิ้ว ชีวิตไม่ชิลล์แน่นอน

ข่าวทั่วไป Wednesday March 3, 2021 10:59 —ThaiPR.net

เมื่อหัวใจสั่นพลิ้ว ชีวิตไม่ชิลล์แน่นอน

เมื่อหัวใจสั่นพลิ้ว ชีวิตไม่ชิลล์แน่นอน

ถ้าคุณมีอาการหัวใจสั่นพลิ้ว คุณจะไม่สนุกเหมือนได้เต้นพลิ้วไปตามเพลงหรอกนะ เพราะนี่อาจเป็นอาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุด! นั้นก็คือ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด AF (Atrial Fibrillation) หรือภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

โดยปกติแล้วกล้ามเนื้อหัวใจจะบีบตัวเป็นจังหวะพร้อมกัน เพื่อส่งเลือดไปยังหัวใจห้องล่างหรือส่งไปทั่วร่างกาย แต่เมื่อหัวใจเต้นพลิ้ว การบีบตัวที่เสียไปจะทำให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ไม่เพียงพอ เกิดอาการหน้ามืดเป็นลมหรือเจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย อีกทั้งยังมีเลือดบางส่วนค้างในห้องหัวใจ จนเกิดเป็นลิ่มเลือด ที่หากหลุดออกไปอุดตันอวัยวะสำคัญเช่น ปอด หรือหลอดเลือดสมองแล้วละก็ อาจส่งผลให้เสียชีวิตหรือพิการได้

สาเหตุของการเกิด AF ส่วนใหญ่มักจะเกิดกับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจากความเสื่อมของระบบไฟฟ้าหัวใจ แต่สำหรับผู้ที่อายุน้อยกว่านั้นอาจมาจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจที่มีมาแต่กำเนิด นอกจากนี้ยังสัมพันธ์กับโรคหัวใจชนิดอื่นๆ โดยผู้ที่เป็นโรคหัวใจชนิดอื่น เช่น โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ โรคลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ไทรอยด์ เบาหวาน โรคอ้วน ไตวายเรื้อรัง จะพบภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วได้สูงขึ้น

ผู้ที่เริ่มเป็น AF มักจะมีอาการใจสั่น หายใจไม่ทัน หน้ามืด เป็นลม อ่อนแรง เป็นๆ หายๆ ในช่วงสั้นๆ จึงทำให้ไม่คิดว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับตัวเองจึงไม่ได้ใส่ใจ ซึ่งหากทิ้งไว้ไม่รักษาอาการก็จะเป็นบ่อยขึ้น นานขึ้น และอาจอันตรายถึงชีวิตได้เลย

การป้องกันภาวะ AF ในปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้ที่พอทำได้คือการลดความเสี่ยงที่จะเป็น เช่น การควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หมั่นตรวจเช็คสุขภาพทั้งระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด และตรวจคัดกรองภาวะ AF เป็นระยะๆ ด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือหากไม่แน่ใจว่าอาการผิดปกติที่เป็นอยู่นั้นใช่ AF หรือไม่ ควรมาตรวจที่โรงพยาบาลเพื่อปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจ

การรักษา AF โดยทั่วไปทำได้ด้วยการทานยาเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดและควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจไม่ให้เร็วเกินไป ในรายที่รักษาด้วยการทานยาไม่ได้ผลหรือเกิดผลข้างเคียงจากการทานยาหรือไม่ต้องการทานยาไปตลอดชีวิต รักษาได้โดยการจี้ด้วยคลื่นวิทยุ ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้จำเป็นต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและในโรงพยาบาลที่มีความพร้อม เป็นการรักษาที่ทำให้ AF หายเป็นปกติได้


แท็ก โรคหัวใจ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ