วศ. ชวนทุกคน "บอกลาส้นเท้าแตก" พร้อมวิธีดูแลสุขภาพเท้าด้วยตนเอง

ข่าวทั่วไป Friday March 12, 2021 17:35 —ThaiPR.net

"เท้า" เป็นอวัยวะสำคัญที่ควรดูแลอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากบริเวณส้นเท้าประกอบด้วยเส้นเลือด เส้นประสาท ผิวหนังชั้นหนังแท้ และผิวหนังชั้นหนังกำพร้า ซึ่งชั้นหนังกำพร้าเป็นส่วนที่เกิดปัญหาส้นเท้าแตก หากปล่อยให้แตกมากขึ้น จะทำให้เป็นรอยแผลลึก เจ็บปวด และก่อให้เกิดการติดเชื้อ ส้นเท้าแตกเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาทิ การเดินหรือยืนเป็นเวลานาน การเดินด้วยเท้าเปล่า การใส่รองเท้าพื้นบางหรือเปิดส้น การมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป

กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ใส่ใจสุขภาพเท้าของทุกคน จึงอยากแนะนำวิธีการดูแลสุขภาพเท้าเพื่อป้องกันส้นเท้าแตก และการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเท้าที่มีคุณภาพ และปลอดภัยได้มาตรฐาน เช่น ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงเท้าที่มีส่วนผสมของสารเคมีหรือสารสกัดจากธรรมชาติ หรือมีคุณสมบัติขจัดเซลล์ผิวที่ตายและแห้งแตกและการบำรุงเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทน เป็นต้น

โดยมีขั้นตอนง่ายๆ ที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง ดังนี้ น้ำตาลทราย 4 ช้อนโต๊ะ วาสลีนหรือปิโตรเลียมเจลลี่ ? ช้อนโต๊ะ น้ำมันมะพร้าว ? ช้อนโต๊ะ และน้ำมะนาว 1 ลูก โดยคนส่วนผสมให้เข้ากัน หากเหลวเกินไปให้เติมน้ำตาลทรายจนข้นเหนียว นำไปพอกบริเวณส้นเท้านานประมาณ 30 นาที ขัดผิวและล้างออกด้วยน้ำ จะช่วยขจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ คุณสมบัติของส่วนประกอบแต่ละชนิด เช่น น้ำตาลทราย ช่วยขจัดเซลล์ผิวที่แห้งและตายออกไปทำให้ผิวเรียบเนียนขึ้น กรดไกลโคลิกช่วยให้ผิวกระจ่างใสและมีสุขภาพดี วาสลีนหรือปิโตรเลียมเจลลี่ ช่วยเคลือบผิวหนังให้มีความชุ่มชื้น น้ำมันมะพร้าว มีสารต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มความชุ่มชื้นกับผิวป้องกันผิวแห้งกร้าน มะนาวมีสารต้านอนุมูลอิสระ มีวิตามินซี กรดซิตริก ฟลาโวนอยด์ กรดซิตริก ช่วยกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว รักษาสิวฝ้าและต่อต้านการเกิดริ้วรอย เป็นต้น

ทั้งนี้ วศ. ขอแนะนำการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์บำรุงเท้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของ "ผลิตภัณฑ์ทาบำรุงผิว" เลขที่ มอก. 478 - 2555 ที่กำหนดปริมาณตะกั่วไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สารหนูไม่เกิน 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ปรอทไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แบเรียมที่ละลายได้ในรูปของแบเรียมคลอไรด์ ไม่เกิน 0.05% (m/m) และต้องไม่พบจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค เช่น ซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) สตาพิโลค็อกคัส ออเรียส (Stephylococcus aureus) แคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans) ผ่านการทดสอบ ความระคายเคืองต่อผิวหนัง ความเป็นกรด-ด่าง เสถียรภาพ นอกจากนี้ ยังมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) เลขที่ 552/2553 ผลิตภัณฑ์บำรุงเท้า โดยมีการทดสอบคุณลักษณะ ตลอดจนสารปนเปื้อนและจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพและมีความปลอดภัย

กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) มีความเชี่ยวชาญในการทดสอบหาปริมาณตะกั่ว สารหนู และปรอท ในผลิตภัณฑ์ทาบำรุงผิว ตาม มอก. 478 - 2555 พร้อมให้บริการโดยผู้ที่สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2201 7000 ในวันและเวลาราชการ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ