นอนกรนเบอร์ไหน? อันตรายถึงชีวิต

ข่าวทั่วไป Monday March 15, 2021 13:52 —ThaiPR.net

นอนกรนเบอร์ไหน? อันตรายถึงชีวิต

นอนกรนเบอร์ไหน? อันตรายถึงชีวิต

ใครเป็นคนที่ "นอนกรน" หรือบ้านใครมีคนที่นอนกรนเป็นประจำอยู่โปรดฟังทางนี้ การนอนกรนนั้นมีสองแบบด้วยกัน คือนอนกรนเสียงดังทั่วไป กับนอนกรนแล้วเสี่ยงเป็นอันตรายกลุ่มนอนกรนเสียงดังก็ไม่ได้มีผลร้ายแรงอะไรมาก นอกจากมลพิษทางเสียงของคู่นอน ส่วนคนที่นอนกรนแบบอันตรายนั้น ส่งผลไปยังสุขภาพทำให้นอนหลับไม่เต็มอิ่มแล้ว การนอนกรนบางประเภทอาจส่งผลร้ายที่ทำให้เราหยุดหายใจขณะนอนหลับได้ด้วย แปลง่ายๆ ก็คือเสี่ยงเป็นไหลตายได้เลยนั่นเอง

นอกจากนี้แล้วยังส่งผลให้สมาธิสั้น ความจำไม่ดี การเผาผลาญอาหารแย่ลง ทำให้เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับสมองและหลอดเลือดหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมอง และยังทำให้ฮอร์โมนเพศชายลดลง ส่งผลให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้อีกด้วย

ซึ่งในเบื้องต้นเราสามารถสังเกตได้ด้วยตัวเอง โดยอาจเป็นการบันทึกเสียงไว้ขณะนอนหลับหรือให้คนใกล้ชิดสังเกตและเล่าให้ฟังว่าขณะนอนหลับเรามีอาการเหล่านี้หรือไม่?

* กรนเสียงดังมากจนรบกวนผู้อื่น

* กรนสลับกับหยุดหายใจเป็นช่วงๆ

* กรนแล้วสะดุ้งเฮือกเพื่อหาอากาศหายใจ โดยไม่รู้สึกตัว

* อาการร่วมอื่นๆ อย่างเช่น ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ไม่สดชื่นในตอนเช้า เวียนหัว ง่วงมากผิดปกติในตอนกลางวัน

หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัยและหาแนวทางในการรักษาที่เหมาะ เพราะนอกจากอาการกรนแล้วยังอาจพบว่ามีภาวะหยุดหายใจเกิดขึ้นร่วมด้วย

สาเหตุหลักๆ ของคนนอนกรนส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้ที่มีน้ำหนักตัวเยอะเป็นอันดับแรกๆ รองลงมาก็เกิดขึ้นกับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้บริเวณโพรงจมูก จมูกเบี้ยวหรือคด รูปหน้าหรือคางผิดปกติ ต่อมทอนซิลโต ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่เป็นประจำ หรือหญิงวัยหมดประจำเดือน ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะนอนกรนและหยุดหายใจขณะนอนหลับได้ด้วยทั้งสิ้น

ปัจจุบันการตรวจวินิจฉัยการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับสามารถทำได้ด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการการนอน (SleepTest) ซึ่งข้อมูลต่างๆ ที่ถูกบันทึกไว้ขณะนอนหลับจะทำให้แพทย์ทราบประเภทการนอนกรนและความรุนแรงของโรคของผู้ป่วยได้ว่าอยู่ในภาวะนอนกรนธรรมดาที่ไม่มีการหยุดหายใจร่วมด้วย หรือกรนอันตราย ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับร่วมด้วย เพื่อการรักษาที่ให้ผลดีกับผู้ป่วยมากที่สุด

การรักษาโรคนอนกรนมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุผิดปกติที่ตรวจพบและความรุนแรง ตั้งแต่การรักษาทางยา เช่น การรักษาภาวะภูมิแพ้ การปรับพฤติกรรม เช่น ปรับท่านอน ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก ไม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ ไปจนถึงการรักษาด้วยเครื่องมือพิเศษ เช่น การใช้พลังงานจากคลื่นวิทยุกระชับเนื้อเยื่ออ่อนภายในช่องปากและคอที่หย่อนตัว หรือการผ่าตัดรักษา และเครื่อง CPAP ที่ช่วยแก้ปัญหาให้คนที่นอนกรนให้สามารถกลับมานอนหลับได้ตามปกติ และหลับสนิทกว่าทุกคืนที่ผ่านมา

ทำความเข้าใจโรคนอนกรนคลิก https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/63

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ