กสิกรไทยหนุนผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย เดินหน้าฝ่าวิกฤติโควิด-19

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 29, 2021 11:35 —ThaiPR.net

กสิกรไทยหนุนผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย เดินหน้าฝ่าวิกฤติโควิด-19

"ขัตติยา" คาดว่า 2 เดือน ไทยสูญรายได้ท่องเที่ยวแล้ว 5.5 หมื่นล้าน ชี้ฟื้นตัว 3 เฟส ไทยเที่ยวไทย ระดับภูมิภาค และระดับโลก คาดจะกลับมามีรายได้ 2.7 ล้านล้านบาทใกล้ระดับก่อนโควิด-19 ในปี 2567 แนะผู้ประกอบการแก้โจทย์ระยะใกล้-ไกล พัฒนาสู่ท่องเที่ยวที่ยั่งยืน พร้อมสร้างธุรกิจ "ฮีโร่" ในหลายอุตสาหกรรม ควบคู่กับการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวให้แข็งแกร่ง

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา (2551-2563) เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าภูมิภาคอาเซียน โดยรายได้จากธุรกิจการท่องเที่ยวเป็น "ฮีโร่" ที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจประเทศไทยมาโดยตลอด ในปี 2562 ธุรกิจท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับประเทศ 3 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 18% ของจีดีพีประเทศ ในจำนวนนี้เป็นรายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 12% ของจีดีพี และรายได้จากนักท่องเที่ยวไทย 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6% ของจีดีพี

วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ธันวาคม 2562 เป็นต้นมา ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวทั่วโลกทรุดตัวต่ำสุดในรอบ 33 ปี ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวทั้งระบบตั้งแต่ โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ร้านขายของฝาก ธุรกิจรถเช่า ที่อยู่ในจังหวัดท่องเที่ยว โดยในปี 2563 รายได้ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยหายไปจากระบบเป็นมูลค่ากว่า 2.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 13% ของจีดีพี และเมื่อโควิด-19 ระลอกใหม่มา ทำให้การฟื้นตัวของธุรกิจช้ากว่าเดิม โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยสูญเสียรายได้ไปแล้วคิดเป็นมูลค่ากว่า 5.5 หมื่นล้านบาท

ธุรกิจการท่องเที่ยวของไทย ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 มากกว่าธุรกิจอื่น จึงฟื้นตัวช้ากว่าธุรกิจอื่น คาดว่าอาจจะต้องใช้เวลากว่า 3 ปี หรือประมาณปี 2567 ในการจะฟื้นตัวกลับมามีรายได้ที่ประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับที่เคยทำได้ในปี 2562 ที่ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นระดับก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย นโยบายการให้ออกมาเที่ยวนอกประเทศของแต่ละประเทศ และความคืบหน้าของการฉีดวัคซีน

ภาพการฟื้นฟูของภาคการท่องเที่ยวจะแบ่งเป็น 3 เฟส เฟสที่ 1) ตลาดไทยเที่ยวไทย จะเป็นตลาดหลัก ในช่วงปี 2564-2565 ช่วยให้สถานการณ์ปรับตัวดีขึ้นกว่าปี 2563 เฟสที่ 2) การเดินทางในระดับภูมิภาค ที่ใช้เวลาเดินทางสั้น 3-5 ชั่วโมง โดยจะเป็นการเดินทางเพื่อธุรกิจป็นหลัก เฟสที่ 3) การเดินทางในระดับโลก จะมาเป็นลำดับสุดท้าย ซึ่งจะเป็นนักท่องเที่ยวจริง ๆ ส่วนการเดินทางเพื่อธุรกิจในกลุ่มนี้ อาจจะลดลงเยอะมากเนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีการติดต่อกันแบบ Virtual ได้ ซึ่งลดค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทาง

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะเป็นตัวช่วยให้การท่องเที่ยวฟื้น คือ วัคซีนพาสปอร์ท (Vaccine Passport) แต่อาจจะต้องใช้เวลา ขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนของคนทั่วโลก การยอมรับในประสิทธิผลของวัคซีน และกระบวนการของประเทศไทยในรองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยว

จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ภาคการท่องเที่ยว ที่เคยเป็น "ฮีโร่" ของเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญศึกหนัก "โจทย์ระยะใกล้" คือ จะทำอย่างไรให้ธุรกิจยังรอด การจ้างงานยังพอไปได้ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถประเมินตนเองได้ด้วยแนวทางเบื้องต้น ดังนี้ "รายได้" ควรลดลงไม่เกิน 70% และมีแหล่งรายได้ที่หลากหลาย สร้างรายได้จากช่องทางอื่นได้ "รายจ่าย" บริหารค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับรายได้ โดยมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนน้อยกว่า 65% ของรายได้ "สภาพคล่อง" มีเงินทุนหมุนเวียนขั้นต่ำ 6 เดือน และ "คืนทุนแล้ว" โดยเป็นกิจการที่ดำเนินธุรกิจมาจนคืนทุน หรือมีภาระดอกเบี้ยจ่ายต่ำ ทั้งนี้ หากประเมินแล้วธุรกิจเป็นไปตามแนวทางนี้ก็มีโอกาสที่จะรอด และในระหว่างที่รอนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศฟื้นตัว คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวของไทยในการพากิจการผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้ คือ "เจาะตลาดไทยเที่ยวไทย" ด้วยการสร้างประสบการณ์ที่สอดรับกับพฤติกรรมคนไทย สร้างรายได้ทางอื่นด้วยวิธีที่แตกต่าง และบริหารจัดการต้นทุน โดยไม่แข่งขันด้านราคา

นอกจากนี้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทยยังมี "โจทย์ระยะไกล" คือ สร้างธุรกิจการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (Sustainable Tourism) แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างและทรัพยากรต่าง ๆ ที่กระทบขีดความสามารถทางการแข่งขัน กระจายรายได้สู่ชุมชน ธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมไม่ถูกทำลาย นับเป็นโจทย์ที่ต้องปรับตัวทั้งในนโยบายระดับประเทศ และภาคธุรกิจต้องร่วมมือกัน ในการสร้างความสมดุล ระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ที่สำคัญคือ ต้องดำเนินธุรกิจการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (Sustainable Tourism) ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ

  • การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ (New Travel Culture) ปรับตัวจากการแข่งขันด้านราคา (Red Ocean) และเน้นนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ยกระดับไปสู่การท่องเที่ยวคุณภาพ (Blue Ocean) เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) การท่องเที่ยวด้านการแพทย์ (Medical Tourism) เพื่อเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวให้สูงขึ้น และพัฒนาสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คือการอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (Green Ocean) และตอบโจทย์สังคม (White Ocean)
  • การสร้างความร่วมมือ (Collaboration) โดยภาครัฐ เอกชน และชุมชนในการจัดการธุรกิจท่องเที่ยว สร้างความเข้าใจให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ ใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นสร้างเอกลักษณ์การท่องเที่ยวเฉพาะพื้นที่ และให้ความสำคัญในการดูแลและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ
  • การใช้เทคโนโลยีและข้อมูล (Digitalization) มาเป็นเครื่องมือเพื่อการท่องเที่ยวเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มและนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ในการวางแผนธุรกิจ การทำตลาดที่ทันสถานการณ์ แชร์ข้อมูลแก่ผู้เกี่ยวข้อง อำนวยความสะดวกในการวางแผนการเดินทาง สร้างสังคมออนไลน์ เปิดประสบการณ์ใหม่ในการวางแผนเดินทางท่องเที่ยวและการทำธุรกิจ
  • ด้วยรูปแบบธุรกิจการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนข้างต้นจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะนำภาคธุรกิจการท่องเที่ยวไทยไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ให้นักท่องเที่ยวอยู่พักนานขึ้น มีการใช้จ่ายเพื่อท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น กระจายรายได้ท่องเที่ยวสู่เมืองรอง เพิ่มความสะดวกสบายและส่งมอบคุณค่าให้นักท่องเที่ยวได้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การกลับมาเที่ยวซ้ำอีก

    นางสาวขัตติยา กล่าวตอนท้ายว่า ประเทศไทยที่ผ่านมามีภาคการท่องเที่ยวเป็น "ฮีโร่" ที่เข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจไว้ แต่ต่อจากนี้ไปเศรษฐกิจของประเทศอาจจะไม่สามารถพึ่งพารายได้จากอุตสาหกรรมเดียวอีกต่อไป แต่จะต้องมี "ฮีโร่" หลาย ๆ ธุรกิจมาเป็นทีม นั่นคือการส่งเสริมธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นที่มีศักยภาพ เช่น ธุรกิจด้านสุขภาพ อาหารสุขภาพ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ฯลฯ ควบคู่ไปกับการพัฒนาการท่องเที่ยวในระยะยาวให้แข็งแกร่งขึ้น


    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ