เกษตรฯ ชงปลดล็อคขั้นตอนขึ้นทะเบียน 17 ชีวภัณฑ์

ข่าวทั่วไป Monday May 10, 2021 08:40 —ThaiPR.net

เกษตรฯ ชงปลดล็อคขั้นตอนขึ้นทะเบียน 17 ชีวภัณฑ์

กรมวิชาการเกษตร  เล็งออกประกาศเอื้อขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์  17 ชนิดได้สิทธิ์ไม่ต้องส่งข้อมูลพิษวิทยา  ลดทั้งเวลาและขั้นตอนขึ้นทะเบียนคล่องตัว  เผยหลักการผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงเกษตรฯ แล้ว  เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน  ก่อนเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย

นายพิเชษฐ์  วิริยะพาหะ  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  จากสถานการณ์ปัจจุบันที่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงนำสารเคมีมาใช้เพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืชจำนวนมาก  ก่อให้เกิดสารตกค้างในพืช  และเป็นอันตรายต่อเกษตรกรผู้ใช้  ผู้บริโภค  และสิ่งแวดล้อม  ซึ่งนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวและมอบเป็นนโยบายหลักเร่งด่วนให้กรมวิชาการเกษตรเร่งดำเนินการให้เกษตรกรลด ละ เลิก การใช้สารเคมีโดยปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรที่ปลอดภัย  และเกษตรอินทรีย์  ซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย

การใช้สารชีวภัณฑ์ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรเป็นแนวทางสำคัญที่ตอบสนองต่อนโยบายดังกล่าวเพราะสามารถนำมาใช้ทดแทนสารเคมีเพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้   ดังนั้นเพื่อสนับสนุนให้มีการนำสารชีวภัณฑ์มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและกว้างขวางมากขึ้น  กรมวิชาการเกษตร  จึงได้เสนอกระทรวงเกษตรฯ เพื่อออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง "การขึ้นทะเบียนการออกใบสำคัญและการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ (ฉบับที่ 2)" โดยประกาศฉบับดังกล่าวจะปรับลดขั้นตอนและระยะเวลาการขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์  ผลิตภัณฑ์จากพืช และสารฟีโรโมน  เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรได้นำสารชีวภัณฑ์มาใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืชทดแทนการใช้สารเคมีให้มากขึ้น

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า  สารชีวภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์จากพืช และสารฟีโรโมน ที่มีข้อมูลทางวิชาการว่ามีความปลอดภัยต่อมนุษย์ พืช สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ตามรายชื่อที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องส่งข้อมูลพิษวิทยามาประกอบการขึ้นทะเบียนมีจำนวนทั้งสิ้น 17 ชนิด  โดยเป็นชีวภัณฑ์ที่อยู่ในประกาศเดิม 5 ชนิดและเพิ่มในร่างประกาศใหม่อีก 12 ชนิด ดังนี้

  • บาซิลลัส ซับทิลิส (Bacillus subtilis) ควบคุมโรคพืชที่เกิดจากแบคทีเรีย เช่น โรคเหี่ยวที่เกิดจากแบคทีเรีย โรคแคงเคอร์, โรคใบจุด, โรคเน่าเละ, โรคแอนแทรคโนส, โรคใบจุด, โรคไหม้ข้าว, โรครากเน่าโคนเน่า, โรครากปมที่เกิดจากไส้เดือนฝอยรากปม และส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช
  • บาซิลลัส อะไมโลลิคเฟเชียน (Bacillus amyloliquefaciens) ควบคุมโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา Fusarium, Pythium, Rhizoctonia, Phytophthora, Verticillium, Botrytis cinerea, and Alternaria, โรคราแป้ง, โรคแอนแทรคโนส, โรคราน้ำค้าง, โรคไหม้ข้าว และส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช
  • บาซิลลัส ไลเคนิฟอร์มิส (Bacillus licheniformis) ควบคุมโรคเน่าสีน้ำตาลในพีท ควบคุมโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา Botrytis cinerea (gray mold), ควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคทางใบของชาน้ำมัน และส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช
  • บิซิลลัส พูมิลัส (Bacillus pumilus) ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช อุตสาหกรรมการผลิตทางการเกษตร, อุตสาหกรรมการหมักอาหาร, การบำบัดน้ำเสีย
  • บิวเวอร์เรีย บัสเซียน่า (Beauveria bassiana) เป็นจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคกับแมลงศัตรูพืชโดยครอบคลุมเข้าทำลายแมลงหลายชนิด ซึ่งเป็นแมลงจำพวกตระกูลเพลี้ย เช่น เพลี้ยกระโดด เพลี้ยจักจั่นเพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยอ่อนส้ม เพลี้ยไก่แจ้ รวมถึง บั่ว ที่ทำลายช่อและยอดกล้วยไม้ (ค่อนข้างดื้อยาฆ่าแมลง)หนอนทุกชนิด และแมลงที่เป็นศัตรูพืชเช่น มอดเจาะผลกาแฟ ไรแดง ไรขาว แมลงหวี่ขาว ด้วง แมลงวัน และยุง
  • เมทาไรเซียม แอนิโซเพลีย (Metarhizium anisopliae) ชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชจำพวกปากกัดและปากดูด เช่น ไรแดงแอฟริกัน เพลี้ยจักจั่นสีเขียว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ หนอนด้วง และหนอนของผีเสื้อศัตรูพืชหลายชนิด ตลอดจนแมลงปากกัดบางจำพวก เช่น ด้วงกออ้อย ด้วงหมัดผัก ตั๊กแตน หนอนด้วงเจาะลำต้น ด้วงแรด แมลงดำหนาม หนอนหัวดำในมะพร้าว มอดเจาะผลกาแฟ ฯลฯ สามารถใช้ผสมน้ำฉีดพ่นพืชผัก ไม้ผลและไม้ดอก ไม้ประดับทุกชนิด และทุกระยะการเจริญเติบโต
  • ไตรโคเดอร์มา แอสเพอเรลลัม (Trichoderma asperellum) ควบคุมโรคพืชที่ทำให้เกิดโรครากเน่า โคนเน่า เหี่ยว และเน่าแห้ง ที่เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรี่ยม พิเที่ยม ไรซอคโทเนีย  ไฟทอปทอร่า
  • ไตรโคเดอร์มา ฮาร์เซียนั่ม (Trichoderma harzianum)ควบคุมโรคพืชที่ทำให้เกิดโรครากเน่า โคนเน่า เหี่ยว และเน่าแห้ง ที่เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรี่ยม พิเที่ยม ไรซอคโทเนีย  ไฟทอปทอร่า สเคลอโรเที่ยม  มาโครโฟมิน่า และ โบไทรทิส  และโรคทางใบเช่น ใบจุดที่เกิดจากเชื้อรา โบไทรทิส  และโรคราน้ำค้าง
  • ไตรโคเดอร์มา แกมซิไอ (Trichoderma gamsii)ควบคุมโรคพืชที่ทำให้เกิดโรครากเน่า โคนเน่า เหี่ยว และเน่าแห้ง ที่เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรี่ยม พิเที่ยม ไรซอคโทเนีย ไฟทอปทอร่า และ สเคลอโรเที่ยม
  • ไตรโคเดอร์มา วิริดี้ (Trichoderma viride)ควบคุมโรคพืชที่ทำให้เกิดโรครากเน่า โคนเน่า เหี่ยว และเน่าแห้ง ที่เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรี่ยม พิเที่ยม ไรซอคโทเนีย  ไฟทอปทอร่า  สเคลอโรเที่ยม  มาโครโฟมิน่า  และ โบไทรทิส  และโรคทางใบเช่น ใบจุดที่เกิดจากเชื้อรา โบไทรทิส  และ อัลเทอร์นาเรีย โรคราน้ำค้าง และราแป้ง
  • ไตรโคเดอร์มา ไวเรน (Trichoderma virens)ควบคุมโรคพืชที่ทำให้เกิดโรครากเน่า โคนเน่า เหี่ยว และเน่าแห้ง ที่เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรี่ยม พิเที่ยม ไรซอคโทเนีย  และโรคทางใบที่เกิดจากเชื้อราอัลเทอร์นาเรีย
  • ไตรโคเดอร์มา อะโทรวิริดี้ (Trichoderma atroviride)ควบคุมโรคพืชที่ทำให้เกิดโรครากเน่า โคนเน่า เหี่ยว และเน่าแห้ง ที่เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรี่ยม และไรซอคโทเนีย
  • บาซิลลัส ทูริงจิเอนซิส หรือ เชื้อบีที สายพันธุ์ ไอซาไว จุลินทรีย์ควบคุมแมลงศัตรูพืช ได้แก่ กลุ่มหนอนผีเสื้อ เช่น หนอนใยผัก หนอนกระทู้หอม หนอนหนอนกระทู้ผัก หนอนเจาะเสมอฝ้าย หนอนคืบกระหล่ำ หนอนคืบละหุง หนอนร่านกินใบปาล์ม หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด
  • บาซิลลัส ทูริงจิเอนซิส จุลินทรีย์ควบคุมแมลงศัตรูพืช ได้แก่ กลุ่มหนอนผีเสื้อ เช่น หนอนใยผัก หนอนกระทู้หอม หนอนหนอนกระทู้ผัก หนอนเจาะเสมอฝ้าย หนอนคืบกระหล่ำ หนอนคืบละหุง หนอนร่านกินใบปาล์ม หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด
  • ไวรัส เอ็นพีวี (NPV) จุลินทรีย์ชนิดไวรัสใช้สำหรับควบคุมแมลงได้ หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก หนอนเจาะเสมอฝ้าย
  • ไส้เดือนฝอยศัตรูแมลง ไส้เดือนฝอยชนิดกำจัดแมลงได้แก่ ด้วงหมัดผัก ด้วงมันงวงมันเทศ หนอนกินเปลือกลองกอง หนอนผีเสื้อกินก้อนเห็ด หนอนกระทู้หอม
  • โปรโตซัว ชนิด Sarcocystis singaporensisโปรโตซัว ใช้กำจัดหนู
  • "ขณะนี้ร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฉบับดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว   ซึ่งขั้นตอนในลำดับต่อไปกรมวิชาการเกษตรจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย   และส่งให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณา  หากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเห็นชอบ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จะลงนามในประกาศเพื่อลงราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป  ซึ่งการปลดล็อคขั้นตอนและระยะเวลาการขึ้นทะเบียนในครั้งนี้จะส่งผลให้การขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์เป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น  และจะทำให้เกษตรกรได้ใช้สารชีวภัณฑ์เพื่อนำไปใช้กำจัดศัตรูพืชทดแทนสารเคมีเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก" อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าว 


    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ