สมาคมคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ (สคว.)ผนึกพลังทำงานหนุน สควท. ยกระดับวิศวกรรมศาสตร์สู่ระดับโลก

ข่าวทั่วไป Tuesday May 18, 2021 16:42 —ThaiPR.net

สมาคมคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ (สคว.)ผนึกพลังทำงานหนุน สควท. ยกระดับวิศวกรรมศาสตร์สู่ระดับโลก

สมาคมคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ (สคว.) นำโดย รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมคนแรก ได้นำคณะกรรมการสมาคมฯ ผนึกความร่วมมือกับ สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย(สควท.) เพื่อทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อบัณฑิตวิศวกร การศึกษาและประเทศไทย เน้นย้ำบทบาท สคว.เป็นองค์กรนิติบุคคลที่ดำเนินงานกิจกรรมตามแนวนโยบายของสควท.วางแผนไว้และกำกับดูแล โดยมุ่งยกระดับและพัฒนาศักยภาพของวิศวกรรมศาสตร์และนักศึกษาไทยสู่ระดับสากล สามารถโอนหน่วยกิตและทำงานได้ทั่วโลก

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ (สคว.) กล่าวว่า สมาคมคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์(สคว.) ก่อตั้งในปี 2563 เป็นองค์กรที่ไม่มุ่งหวังผลกำไรเพื่อประโยชน์ด้านวิชาการ การศึกษาและสังคมส่วนรวม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของสภาคณบดีวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย(สควท.) โดยเชื่อมประสานระหว่างสถานศึกษากับรัฐบาล ที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนบุคลากรและนโยบายให้เป็นจริงและประสบความสำเร็จ ให้ข้อเสนอแนะการพัฒนาความก้าวหน้าและขีดความสามารถของคณะวิศวกรรมศาสตร์ในประเทศไทยให้สูงขึ้น ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ทั่วประเทศในด้านวิชาการและการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม ผลิตบุคลากรบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ ช่วยปลดล๊อคการพัฒนากำลังคนเพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมใหม่ New S-Curve ที่ต้องการทักษะความสามารถที่หลากหลาย สร้างการเปลี่ยนแปลงทางวิศวกรรมศาสตร์ในอนาคต ตลอดจนถึงพัฒนากิจกรรมและความร่วมมือของนิสิตนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ทั่วประเทศ พัฒนาประโยชน์ของสมาชิกและความก้าวหน้าของสมาคมรวมทั้งความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ

ดังนั้นเพื่อให้การทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพระหว่างสมาคมคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์(สคว.)และสภาคณบดีวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย(สควท.) จึงได้จัดตั้งสมาคมฯ เป็นนิติบุคคลทำให้เกิดประสิทธิภาพความคล่องตัวทั้งด้านงบประมาณ กฎหมาย และการทำงาน ทั้งนี้โดย สคว.จะดำเนินการเหมือนเป็นคณะกรรมการการจัดการของสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (สควท.) ส่วน สควท. จะทำหน้าที่กำกับดูแลและวางนโยบาย มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การพัฒนาการศึกษาด้านวิศวกรรมของประเทศ โดยสมาคมฯจะดำเนินงานตามนโยบายที่ สควท. กำหนดหรือมอบหมายให้บรรลุความก้าวหน้าและความสำเร็จ

อีกบทบาทสำคัญของ สคว.คือ สนับสนุนพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์และสภานิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ ทั้งในด้านการทำกิจกรรมแล้วเพื่อส่วนรวม การสนับสนุนงบประมาณอย่างคล่องตัวขึ้น เสริมสร้างให้สภานิสิตนักศึกษา ซึ่งก่อตั้งมากว่า 30 ปี ดำเนินงานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการและข่าวสาร ขับเคลื่อนและพัฒนาความก้าวหน้าของสภานิสิตนักศึกษาได้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างบัณฑิตในอนาคตให้มีคุณภาพ ได้รับความยอมรับจากระดับสากล สร้างสรรค์โลกให้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ กรรมการฝ่ายวิจัยและวิชาการ สมาคมคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ (สคว) โดย ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล กล่าวถึง บทบาทของสมาคมคณบดีฯ ต่อการผลักดันให้เกิดกระบวนการพัฒนาวิศวกรรมศาสตร์ของไทยสู่ระดับสากล ที่ผ่านมาการกำกับทางวิชาการ กับ การกำกับทางวิชาชีพวิศวกรรมศาสตร์มีการทับซ้อนกันอยู่ ซึ่งเป็นระบบที่เกิดมานานและใช้กันอยู่ในประเทศไทย และต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาดของวิศวกรปัจจุบันและอนาคตเปลี่ยนไปมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งเทคโนโลยีและปัจจัยแวดล้อมก็พัฒนาเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา หรือยุโรป จะมีการแยกการกำกับทางวิชาการออกจากการกำกับทางวิชาชีพ โดยผลักดันให้สามารถทำงานร่วมกันได้ ในสหรัฐอเมริกามีระบบ ABET (Accreditation Board for Engineering and Technology) ในการรับรองหลักสูตรสากล ABET สำหรับนานาประเทศ หรือ TABEE สำหรับประเทศไทย ซึ่งต่างก็เป็นเป้าหมายของสคว. และสควท.เช่นเดียวกัน ในปัจจุบันหากมีนักศึกษาต่างประเทศเข้ามาศึกษาในประเทศไทย จบการศึกษาแล้วไม่สามารถโอนหน่วยกิตไปยังประเทศบ้านเกิดได้ เนื่องจากติดข้อจำกัดในด้านของมาตรฐานและเกณฑ์ที่ทั่วโลกกำหนดไว้ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมกันของหลักสูตร ทั้งวิศวกรที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรจากประเทศไทย และวิศวกรที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรในประเทศอื่นๆ จะต้องมีความเท่าเทียมกันทั้งในเรื่องของทักษะและความสามารถ

ในด้านการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ (Engineering Education) นั้น รศ.ดร. ธีร เจียศิริพงษ์กุล กรรมการ สมาคมคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากสภาวะการแพร่ระบาดโควิด-19 มหาวิทยาลัยต่างๆได้พัฒนาแพลตฟอร์มกลางและเครื่องมือสำหรับการเรียนการสอนระบบออนไลน์แบบผสมผสาน หรือ Hybrid ปัจจุบันนักศึกษาเริ่มปรับตัวได้แล้วกับการเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน เมื่อมุ่งมองไปในอนาคตเราอาจจะต้องมีการวิเคราะห์และวางแผนทบทวนพัฒนาการศึกษาของวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งลักษณะหลักสูตรมีทั้งวิชาการ การทดลองในแล็บและฝึกปฏิบัติ ในอนาคตการเรียนแบบในห้อง 2 - 3 ชม. อาจไม่เหมาะกับผู้เรียนเจนเนอเรชั่นนี้แล้วก็เป็นได้ นอกจากนี้ วิชาปฏิบัติการบางส่วนยังมีปัญหา เช่น นักศึกษาไม่สามารถมาร่วมเวิร์คชอปด้วยตัวเองได้ และการฝึกงานของนักศึกษาที่ถูกยกเลิก เพราะโรงงานปิดหลายแห่งในภาวะโควิด รวมถึงการป้องกันการทุจริตการสอบโดยรับจ้างมาสอบแทนกัน เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ