ปรับแผนจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยาหลังฝนยังแผ่ว แม้ "โคะงุมะ" ช่วยเติมน้ำเข้าเขื่อนรวมกว่า 1,400 ล้าน ลบ.ม.

ข่าวทั่วไป Monday June 21, 2021 13:13 —ThaiPR.net

ปรับแผนจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยาหลังฝนยังแผ่ว แม้

"บิ๊กป้อม"จี้ทุกหน่วยงานเร่งเก็บน้ำให้เต็มที่ หลัง กอนช.ชี้ลุ่มน้ำเจ้าพระยาน้ำต้นทุนยังไม่พ้นวิกฤต แม้ใจชื้นแนวโน้มฝนตกเพิ่มขึ้นช่วงสัปดาห์นี้ ย้ำแผนจัดการน้ำทั้งระบบน้ำฝน และพื้นที่เขตชลประทานป้องพืชเศรษฐกิจปากท้องประชาชน โดยปรับเพิ่มการระบายน้ำไม่เกินร้อยละ 10 ของแผน

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศในปัจจุบัน (ณ 21 มิ.ย.64) ว่า ช่วงสัปดาห์นี้พบสัญญาณการกลับมาของฝนที่จะตกลงมาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีปริมาณฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่จะมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก จากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้นที่จะตกต่อเนื่องไปถึงวันที่ 23 มิ.ย.นี้ ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณบวกที่จะส่งผลดีกับระดับน้ำทั้งในแม่น้ำสายหลักที่มีน้ำน้อยได้ในบางพื้นที่ และในแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่สามารถเก็บกักน้ำจากอิทธิพลของพายุ "โคะงุมะ" ตั้งแต่วันที่ 9 - 20 มิ.ย. 64 ได้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นรวม 1,393 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) ซึ่งสูงสุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 567 ล้าน ลบ.ม. ภาคเหนือ 355 ล้าน ลบ.ม. และภาคตะวันตก 269 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ ส่งผลให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่น่าไว้วางใจ กอนช. จะมีการติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความแปรปรวนสูง อาจจะส่งผลกระทบต่อน้ำต้นทุนเพื่อใช้ในการเพาะปลูกของเกษตรกร รวมถึงการพิจารณาแสนอแผนงานโครงการป้องกันผลกระทบในบางพื้นที่ที่อาจประสบปัญหาขาดแคลนน้ำจากฝนตกน้อยยาวต่อเนื่องจนถึงเดือน ก.ค. และแหล่งน้ำต่างๆ ที่มีปริมาณน้ำน้อย โดยเฉพาะแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของความจุ จำนวน 8 แห่ง อาทิ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นต้น รวมถึงโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กที่ยังไม่เข้าถึงแหล่งน้ำชลประทานไว้เก็บกักน้ำหลากและป้องกันผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. ที่คาดว่าจะมีฝนตกชุกหนาแน่นด้วย

"แม้ว่าการจัดสรรน้ำฤดูฝนปี 2564 เพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ โดยส่วนใหญ่ยังเป็นไปตามแผน ยกเว้นการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกของเกษตรกร ได้แก่ ข้าวนาปรังทั้งประเทศ พบว่า มีการเพาะปลูกแล้ว 5.56 ล้านไร่ จากแผน 1.9 ล้านไร่ โดยเก็บเกี่ยวแล้ว 5.09 ล้านไร่ รวมถึงข้าวนาปี ปี 2564 มีการเพาะปลูกแล้ว 7.52 ล้านไร่ หรือ 45% จากแผนการเพาะปลูกทั้งประเทศรวม 16.65 ล้านไร่ โดยอยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาถึง 7.97 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 4.5 ล้านไร่ คิดเป็น 56.46 ของแผนฯ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้การจัดสรรน้ำในฤดูฝนปี 2564 เกินแผนในภาพรวมกว่า 30% โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลางที่มีปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งน้ำอยู่อย่างจำกัดตั้งแต่ปลายฤดูแล้งต่อเนื่องถึงต้นฤดูฝน ประกอบกับปริมาณฝนที่ตกลงมาจริงน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ และไม่ครอบคลุมพื้นที่ จึงเป็นปัญหาอุปสรรคในการทำเกษตรน้ำฝน ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุน 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่เพียงพอกับสัดส่วนการเพาะปลูกตั้งแต่ต้นฤดูในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และมีการจัดสรรน้ำเกินแผนไปแล้วถึง 50% โดยล่าสุด เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ได้มีการปรับเพิ่มแผนการระบายน้ำในช่วงวันที่ 21 - 27 มิ.ย. 64 จากอัตราวันละ 14 ล้าน ลบ.ม. เป็นอัตราวันละ 16 ล้าน ลบ.ม." ดร.สมเกียรติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม กอนช. ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานบริหารจัดการณ์น้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยปรับเพิ่มการระบายน้ำไม่เกินร้อยละ 10 ของแผน เพื่อควบคุมไม่ให้มีการจัดสรรน้ำเกินแผนเมื่อสิ้นสุดฤดูส่งน้ำ และขอความร่วมมือผู้ใช้น้ำทุกกิจกรรมบริเวณต้นน้ำ - กลางน้ำ อย่าดักเก็บกักน้ำเกินความต้องการใช้น้ำ อันจะส่งผลกระทบให้ผู้ใช้น้ำบริเวณปลายน้ำเกิดภาวะขาดแคลนน้ำ พร้อมทั้งติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสภาพอากาศมีความแปรปรวนสูงขึ้น เพื่อปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ และเร่งเก็บกักน้ำในทุกรูปแบบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามข้อสั่งการของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เพื่อช่วยกันวางแผนจัดสรรน้ำฤดูฝนนี้อย่างเคร่งครัดไม่ให้ผลผลิตของเกษตรกรได้รับผลกระทบ รวมถึงกิจกรรมการใช้น้ำส่วนอื่นๆ ด้วย และยังต้องสำรองน้ำไว้ในฤดูแล้งหน้าด้วย ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนในการจัดรอบเวร การประหยัดน้ำ รวมถึงมาตรการอื่นๆ ที่ต้องเข้ามาบูรณาการร่วมกันไม่เพียงแต่การจัดการน้ำเพียงอย่างเดียว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ