กรมวิชาการเกษตร ซุ่มวิจัย 3 พืชพันธุ์ใหม่ ตอบโจทย์ครบความต้องการเกษตรกร

ข่าวทั่วไป Monday June 28, 2021 16:39 —ThaiPR.net

กรมวิชาการเกษตร ซุ่มวิจัย 3 พืชพันธุ์ใหม่ ตอบโจทย์ครบความต้องการเกษตรกร

เกษตรกรเตรียมเฮ กรมวิชาการเกษตร แง้มพืชพันธุ์ดีปี 65 มะนาว ส้มโอ และมันเทศ นำร่องเตรียมขอรับรองพันธุ์พืชใหม่ นักวิจัยปลื้ม 3 พืชตอบโจทย์วิจัยครบ ให้ผลผลิตสูง ทนทานโรค ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี มีเอกลักษณ์เฉพาะพันธุ์โดดเด่น คาดผ่านพิจารณาเป็นพันธุ์แนะนำของกรมฯ พร้อมขยายผลงานวิจัยสู่แปลงเกษตรกรปีหน้า

นายอนันต์ อักษรศรี รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะโฆษกกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรให้กำกับดูแลการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายของหน่วยงานในส่วนภูมิภาคที่รับผิดชอบ ซึ่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตรมีนโยบายหลักต้องการให้หน่วยงานในพื้นที่ส่วนภูมิภาคนำผลงานวิจัยในทุกด้านของกรมวิชาการเกษตรขยายผลไปสู่เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจากการลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้างานตามนโยบายดังกล่าวในเขตพื้นที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก ได้รับรายงานความก้าวหน้างานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์พืชจำนวน 3 พืชได้แก่ มะนาว ส้มโอ และมันเทศ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งคาดว่าจะเสนอพันธุ์พืชทั้ง 3 พันธุ์ให้เป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตรได้ในปี 2565

มะนาว สายต้น 1-02-07- 2 และสายต้น 1-07-01-4 ผ่านการปรับปรุงพันธุ์ โดย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร โดยนำมะนาวพันธุ์พิจิตร 1 ไปฉายรังสีแกมมา เพื่อให้มีเมล็ดน้อยลง เปลือกบางและยังคงทนทานต่อโรคแคงเกอร์เหมือนพันธุ์เดิม โดยได้คัดเลือกสายต้นมะนาวพันธุ์พิจิตร 1 ตามหลักเกณฑ์ที่ตั้งไว้คือ จำนวนเมล็ดน้อยกว่า 10 เมล็ดต่อผล เปลือกบาง ทนทานต่อโรคแคงเกอร์ ให้ผลผลิตและคุณภาพดี และปลูกเปรียบเทียบสายต้นมะนาวพิจิตร 1 ที่มีเมล็ดน้อยหรือไม่มีเมล็ด ที่ศูนย์วิจัยพัฒนาการเกษตรพิจิตร ปี 2562-2564 ปลูกทดสอบสายต้นมะนาวพิจิตร 1 ที่มีเมล็ดน้อยหรือไม่มีเมล็ด ณ ศูนย์วิจัยพัฒนาการเกษตรพิจิตร ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย แปลงเกษตรกรจังหวัดพิจิตร กำแพงเพชร และเพชรบุรี โดยการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ในครั้งนี้เพื่อให้ได้มะนาวพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะเด่นทนทานต่อโรคแคงเกอร์ เมล็ดน้อยหรือไม่มีเมล็ด เปลือกบาง การเจริญเติบโตดี และให้ผลผลิตสูง

ส้มโอสายต้นท่าชัย 32 ได้จากการคัดเลือกสายต้นส้มโอในแปลงส้มโอเพาะเมล็ดจากเมล็ดส้มโอพันธุ์ทองดีที่ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย โดยในปี 2543 - 2550 คัดเลือกสายต้นส้มโอที่ได้จาการเพาะเมล็ด 200 สายต้น ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย ปี 2551 -2555 เปรียบเทียบสายต้นส้มโอจากการเพาะเมล็ดที่ผ่านการคัดเลือก 10 สายต้น ร่วมกับพันธุ์ทองดีและพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย และปี 2557 -2564 ทดสอบสายต้นส้มโอจากการเพาะเมล็ดที่ผ่านการคัดเลือกเปรียบเทียบ 4 สายต้นร่วมกับพันธุ์ทองดี ในแหล่งปลูก 3 สถานที่ ได้แก่ ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย แปลงเกษตรกรจังหวัดพิจิตรและชัยภูมิ โดยการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ในครั้งนี้เพื่อให้ได้ส้มโอพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะเด่น คือ กุ้งมีสีน้ำผึ้งอมชมพู รสหวาน ฉ่ำน้ำน้อย มีกลิ่นหอมเฉาะตัว ผลค่อนข้างใหญ่กว่าพันธุ์ทองดี และสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในเขตภาคเหนือตอนล่างได้ดี

มันเทศสายต้น พจ.06-15 ได้จากการผสมเปิดของมันเทศพันธุ์ พจ.166-5 ที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร โดยใช้พันธุ์มันเทศเนื้อสีขาวสำหรับเป็นพันธุ์พ่อแม่พันธุ์ ทำการเปรียบเทียบพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร และทดสอบพันธุ์ภายศูนย์วิจัยฯ ของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี และศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ และปลูกทดสอบในแปลงเกษตรกร โดยมันเทศสายต้น พจ.06-15 ที่กำลังอยู่ระหว่างการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ดังกล่าวนี้ มีลักษณะเด่นคือให้ผลผลิตเฉลี่ย 3,313 กิโลกรัมต่อไร่ เนื้อสีขาว รูปทรงหัวแบบยาวรี ปริมาณแป้งร้อยละ 25.0 คิดเป็นผลผลิตแป้ง 828 กิโลกรัมต่อไร่ และสามารถใช้ได้ทั้งบริโภคสดและอุตสาหกรรมแป้ง

"งานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์พืชเป็นภารกิจหลักที่สำคัญของกรมวิชาการเกษตร เพื่อให้ได้พันธุ์พืชใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง ทนทานต่อโรค แมลง และสภาพแวดล้อม ช่วยลดต้นทุนการผลิตและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้น ซึ่งพันธุ์พืชทั้ง 3 พันธุ์ที่อยู่ระหว่างการวิจัย และทดสอบดังกล่าวคาดว่าจะได้รับการพิจารณาเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตรภายได้ภายในปี 2565 หลังจากนั้นจึงจะกระจายพันธุ์ไปสู่เกษตรกรในพื้นที่เพื่อนำปลูกเป็นทางเลือกสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นต่อไป" โฆษกกรมวิชาการเกษตร กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ